เหล้าเบียร์ 5 แสนล้านสะเทือน สิงห์-ช้างอ่วม กฎหมายใหม่ห้ามโฆษณา

เหล้า เบียร์

ร่าง พ.ร.บ.ใหม่ควบคุมเหล้า-เบียร์ เข้มสุดโต่ง กระทบธุรกิจระนาว ตั้งแต่ผู้ผลิตยันช่องทางขาย ผับ-บาร์ งานนี้ “สิงห์-ช้าง” โดนเต็ม ๆ ห้าม “น้ำดื่ม-โซดา” ที่ใช้ยี่ห้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โฆษณา วงการกีฬาระทึก เจอข้อห้ามไม่ให้แบรนด์น้ำเมาสปอนเซอร์นักกีฬา-ทีมกีฬา งงทั้งบางจำกัดเวลาขายไม่พอ แอบเพิ่มอำนาจรัฐมนตรีกำหนด “เวลาห้ามดื่ม” ด้วย หากฝ่าฝืนโทษหนักทั้งคนดื่ม-ผับ-บาร์

จากนี้ไปตลาดเครื่องดื่มเหล้าเบียร์ที่ว่ากันว่ามีมูลค่าตลาดรวมมากกว่า 450,000-490,000 ล้านบาท ตลาดน้ำดื่มที่มีมูลค่าตลาดรวมราว ๆ 30,000 ล้านบาท รวมถึงโซดาที่มีมูลค่าตลาดรวมประมาณ 15,000 ล้านบาท อาจจะต้องมีการปรับตัวครั้งใหญ่ โดยเฉพาะในเรื่องของการโฆษณาประชาสัมพันธ์ รวมถึงกิจกรรมทางการตลาดต่าง ๆ ที่จะมีข้อจำกัดและข้อห้ามมากขึ้น เข้มงวดมากขึ้น ซึ่งเป็นผลกระทบมาจากกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฉบับใหม่ที่เริ่มนับหนึ่ง และเข้าสู่กระบวนการพิจารณาแล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 3 มีนาคมที่ผ่านมา มีมติรับร่าง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …จำนวน 3 ฉบับ ที่ประกอบด้วย ร่างของนายเจริญ เจริญชัย กับประชาชน, ร่างของนายธีรภัทร์ คหะวงศ์ กับประชาชน และร่างของนายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร กับคณะ มาพิจารณาก่อนรับหลักการ

และมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข (กรมควบคุมโรค) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบการบังคับใช้ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 รับประเด็นข้อเสนอแก้ไขตามร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 3 ฉบับไปพิจารณาแก้ไขปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….ที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ และให้เร่งดำเนินการโดยเร็ว เพื่อผลักดันร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรต่อไป

ล่าสุดที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 12 มีนาคมที่ผ่านมา มีมติอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.บัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. และรับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ

คุมโฆษณาลามถึงน้ำดื่ม-โซดา

นายอาชิระวัสส์ วรรณศรีสวัสดิ์ กรรมการบริษัท ไอเอสทีบี จำกัด ในฐานะนายกสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจคราฟต์เบียร์ (สมาคมคราฟต์เบียร์) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่าจากที่ได้เห็นร่าง พ.ร.บ.บัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ดังกล่าวเป็นร่างกฎหมายที่มีความคิดแบบสุดโต่ง โดยเฉพาะการควบคุมการโฆษณาที่มีลักษณะการห้ามโฆษณาแบบเด็ดขาดมากขึ้น หากร่าง พ.ร.บ.นี้มีผลบังคับใช้ เชื่อว่าจะส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งผู้ผลิตและช่องทางจำหน่าย

โดยร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้กำหนดให้ยกเลิก มาตรา 32 พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 2551 และใช้ข้อความ “ห้ามผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การประชาสัมพันธ์ใด ๆ โดยผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ให้กระทำได้เฉพาะการให้ข้อมูลข่าวสารและความรู้เชิงสร้างสรรค์สังคม ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมแทน ขณะเดียวกัน ก็ได้เพิ่มข้อห้ามอื่น ๆ ลงไปใน มาตรา 32/1 มาตรา 32/2 มาตรา 32/3 และมาตรา 32/4

ยกตัวอย่าง มาตรา 32/2 ที่ระบุว่า “ห้ามผู้ใดโฆษณาผลิตภัณฑ์ หรือสิ่งอื่นใดที่ใช้ชื่อ หรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นชื่อหรือเครื่องหมายของผลิตภัณฑ์ หรือสิ่งนั้น หรือโฆษณาโดยการนำเอาชื่อ เครื่องหมาย หรือสัญลักษณ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาตัด ต่อเติม หรือดัดแปลงข้อความให้เป็นส่วนหนึ่งของชื่อ หรือเครื่องหมายของผลิตภัณฑ์ หรือสิ่งนั้น ทั้งนี้ ในลักษณะที่อาจทำให้เข้าใจได้ว่าหมายความถึงการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์”

“มาตรานี้จะกระทบกับค่ายสิงห์และช้างโดยตรง เนื่องจากค่ายใหญ่ดังกล่าวมีทั้งน้ำดื่มและโซดาที่ใช้ตราที่เป็นสัญลักษณ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หากร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ก็เท่ากับว่าทั้งสิงห์และช้างก็จะไม่สามารถโฆษณาทั้งน้ำดื่มและโซดาได้ ทั้ง ๆ ที่น้ำดื่มและโซดาดังกล่าวมีมาก่อนที่จะมีกฎหมายมาควบคุม ขณะที่ มาตรา 32/3 จะเป็นการห้ามไม่ให้บริษัทเหล้าเบียร์ไปสนับสนุนโครงการที่เป็นในลักษณะกิจกรรมสาธารณประโยชน์ หรือการเป็นผู้สนับสนุนนักกีฬาทั้งบุคคลและทีมด้วย”

นอกจากนี้ จากการที่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ยกเลิกความในมาตรา 32 พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่ม 2551 ดังนั้น จากนี้ไปโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่พ่วงมาจากการถ่ายทอดสดกีฬาจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นข้อยกเว้นของ มาตรา 32 วรรค 3 ที่ระบุว่า “บทบัญญัติในวรรคหนึ่งและวรรคสอง มิให้ใช้บังคับกับการโฆษณาที่มีต้นกำเนิดนอกราชอาณาจักร” ก็ไม่สามารถจะทำได้โดยปริยาย

ขณะที่แหล่งข่าวระดับสูงจากวงการมีเดียเอเยนซี่ แสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่า หากร่างกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้จริง โดยเฉพาะในเรื่องของการห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่จะรวมไปถึงน้ำดื่มและโซดา คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังธุรกิจที่อยู่ในซัพพลายเชนของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตั้งแต่ธุรกิจค้าปลีก ศิลปินดารา ตลอดจนร้านอาหาร

อีกด้านหนึ่งก็จะกระทบต่ออุตสาหกรรมโฆษณา เนื่องจากน้ำดื่ม หรือโซดาที่ใช้เครื่องหมายการค้าเดียวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะไม่สามารถทำโฆษณาได้ ทั้งในเชิงคอร์ปอเรต สื่อสารแบรนด์ และซีเอสอาร์ ซึ่งปกติสินค้าดังกล่าวจะใช้งบฯโฆษณารวม ๆ ปีละนับพันล้านบาท อีกด้านหนึ่งก็อาจจะส่งผลกระทบกับนักกีฬา หรือทีมกีฬา เนื่องจากกฎหมายใหม่มีข้อห้ามไม่ให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าไปเป็นผู้สนับสนุนด้วย

เปิดช่องออกประกาศเวลาห้ามดื่ม

แหล่งข่าวระดับสูงจากวงการสุราต่างประเทศ แสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่า ที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่งคือ การเพิ่มข้อความ “(3/1) เสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีในการกำหนดเวลาห้ามบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่หรือบริเวณสถานที่ขายเครื่้องดื่มแอลกอฮอล์ หรือสถานที่ หรือบริเวณสถานที่ที่จัดบริการเพื่อให้มีการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อประโยชน์ในทางการค้า” ของ มาตรา 16 (อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการควบคุม) เดิม

แหล่งข่าวอธิบายว่า เดิม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กำหนดให้มีการซื้อขายได้ 2 ช่วงคือ 11.00-14.00 น. และ 17.00-24.00 น. ไม่ได้มีการห้ามดื่ม แต่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่นี้จะมีการกำหนดเวลาการห้ามดื่มเอาไว้ โดยระบุให้เป็นอำนาจของรัฐมนตรีที่จะประกาศกำหนดดังกล่าว ยกตัวอย่าง ผับ-บาร์ที่เปิดได้ถึง 02.00 น. ปกติเขาจะขายเหล้าเบียร์และเช็กบิลก่อนเที่ยงคืน ซึ่งสิทธิของเครื่องดื่มดังกล่าวก็จะเป็นของผู้บริโภค เขามีสิทธิที่จะนั่งดื่มกินไปจนถึงร้านปิด 02.00 น.

แต่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ หากรัฐมนตรีมีประกาศเวลาห้ามดื่มออกมา ลูกค้าที่ซื้อเหล้าและจ่ายเงินไปแล้วก็ไม่สามารถดื่มในร้านได้ การดื่มในร้านหลังเที่ยงคืนถือว่าเป็นความผิด และร้านก็มีความผิดด้วย

เพิ่มอำนาจ พนง.ล้นฟ้า

แหล่งข่าวระดับสูงจากวงการเหล้าเบียร์อีกรายหนึ่งเปิดเผยว่า ที่น่ากังวลอีกอย่างหนึ่งก็คือ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ได้ให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ค่อนข้างมาก (มาตรา 34) ตั้งแต่การเข้าไปในที่ทำการ โรงงาน ร้านจำหน่าย เพื่อตรวจสอบ การเรียกขอดูบัตรประชาชน หรือเอกสารต่าง ๆ ยึดหรืออายัดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงมีหนังสือเรียกมาให้ถ้อยคำ เท่ากับว่ามีอำนาจทำแทนตำรวจได้ทั้งหมด จากเดิมที่จะต้องอาศัยเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือที่ผ่านมา กรณีที่กรมสรรพสามิตจะเข้าตรวจสอบก็ต้องมีตำรวจไปด้วย

นอกจากนี้ การเพิ่มอำนาจให้พนักงานเจ้าหน้าที่ในการเข้าตรวจค้นสถานที่ จากเดิมการตรวจค้นตามประมวลกฎหมายอาญาจะต้องมีหมายค้น และต้องเข้าไปตรวจค้นในช่วงพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก แต่ร่าง พ.ร.บ.นี้กำหนดไว้เพียงว่า “ในเวลาทำการของสถานที่นั้น” (มาตรา 34 (1))

ผู้สื่อข่าวตั้งข้อสังเกตว่า สำหรับร่าง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฉบับล่าสุดนี้ หากพิจารณาลงไปในรายละเอียด จะพบว่ามีหลายมาตราที่มีข้อความที่คล้ายกับร่าง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่กรมควบคุมโรคได้เปิดประชาพิจารณ์เมื่อช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา หลัก ๆ เรื่องของหมวดที่ว่าด้วยโฆษณา และการเพิ่มอำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ จากเมื่อกลางปี 2564 ที่กรมควบคุมโรคก็ได้มีความพยายามที่จะแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 มาแล้วครั้งหนึ่ง โดยมีการยกร่าง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฉบับใหม่ขึ้นมา และมีการเปิดรับพังความเห็นเมื่อปลายมิถุนายน 2564

อย่างไรก็ตาม สำหรับขั้นตอนในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมของกระทรวงสาธารณสุข ที่กฤษฎีกาตรวจแล้วและผ่านการเห็นชอบจาก ครม. จะถูกส่งไปที่วิปรัฐบาล และเสนอไปยังสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา