เปิดลิสต์ 5 กลุ่มสินค้าจีนที่ทะลักเข้าไทย ชี้เครื่องใช้ไฟฟ้านำโด่ง

เครื่องใช้ไฟฟ้า
ภาพจาก Canva

MI GROUP เผย 5 กลุ่มสินค้าจากจีนที่ทะลักเข้ามาตีตลาดในไทยมากที่สุด อันดับ 1 ยังคงเป็นกลุ่มสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่มีสัดส่วนมูลค่าถึง 43.3%

วันที่ 24 เมษายน 2567 นายภวัต เรืองเดชวรชัย ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มีเดียอินเทลลิเจนซ์กรุ๊ป จำกัด หรือ MI GROUP เปิดเผยว่า สำหรับความท้าทายใหญ่ของผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่และรายย่อย ในปัจจุบันก็คือสภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่ซบเซา อีกทั้งยังซ้ำเติมด้วยสินค้าทะลักจากจีน ซึ่งเป็นคู่แข่งขันโดยตรงคนสำคัญของผู้ประกอบการไทย โดยต้นทุนการผลิต การได้สิทธิพิเศษทางภาษี และ Free Zone Warehouse ทำให้ได้เปรียบสินค้าไทยหลายช่วงตัว

ซึ่งจากข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่ว่า ในปี 2023 มูลค่าการนำเข้าสินค้าจีนอยู่ที่ 4.7 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนราว 41% ของการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคทั้งหมดของไทย ในขณะที่ค้าปลีกไทยมีมูลค่าโดยรวม 4 ล้านล้านบาท

5 กลุ่มสินค้าทะลักจากจีน

  • อันดับ 1 เครื่องใช้ไฟฟ้า สัดส่วนมูลค่า 43.3%
  • อันดับ 2 ผักผลไม้สดและปรุงแต่ง สัดส่วนมูลค่า 10.0%
  • อันดับ 3 เสื้อผ้าและรองเท้า สัดส่วนมูลค่า 9.3%
  • อันดับ 4 เครื่องใช้ในบ้านและของตกแต่ง 9.1%
  • อันดับ 5 ของใช้ในครัวและโต๊ะอาหาร 9.0%

โดยจากสัดส่วนตัวเลขเหล่านี้ถือเป็นอุปสรรคและเพิ่มแรงกดดันให้ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะผู้ประกอบการไทยที่เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าในหมวดแฟชั่น เครื่องแต่งกายและเฟอร์นิเจอร์ ที่ทุกวันนี้มีอัตราการผลิตในโรงงานเพียงไม่ถึง 50% ของกำลังการผลิต ยิ่งซ้ำเติมในด้านต้นทุนที่ไม่สามารถแข่งขันได้ และในระยะยาว ธุรกิจอาจไปต่อไม่ได้

ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยสามารถแข่งขันได้ จำเป็นต้องมีการปรับปรุงและพัฒนาในหลายด้าน เช่น การเพิ่มคุณภาพสินค้า การสร้างแบรนด์และการตลาดที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งถือเป็นความท้าทายสำหรับผู้ประกอบการไทย

นายภวัตกล่าวต่อว่า แต่ถ้าหากมองมุมกลับกัน ตลาดจีนมีขนาดผู้บริโภคที่มหาศาล หรือมากกว่าไทยเกือบ 20 เท่าตัว เป็นโอกาสใหญ่สำหรับสินค้าไทย เช่น ผลิตภัณฑ์เกษตร, เครื่องสำอาง และแฟชั่น จึงนับเป็นก้าวสำคัญที่จะเปิดประตูสู่หนึ่งในประเทศที่มีอุปสงค์การบริโภคสินค้าใหญ่ที่สุดในโลก เพียงแต่ต้องเข้าใจความต้องการของผู้บริโภคจีน และต้องปรับคุณภาพสินค้าตามมาตรฐานการนำเข้าของจีน

อย่างไรก็ตาม การทำการตลาดในจีนสำหรับผู้ประกอบการไทยนั้น จำเป็นต้องใช้กลยุทธ์ที่ตรงกับกฎหมาย วัฒนธรรมและพฤติกรรมของผู้บริโภคจีน เช่น ควรใช้โซเชียลมีเดียและแพลตฟอร์มออนไลน์ที่นิยมในจีน เช่น WeChat และ Douyin หรือจะร่วมมือกับ KOLs และ Influencers และอาจต้องปรับเนื้อหาให้เหมาะสมกับวัฒนธรรมจีน เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือและการรับรู้แบรนด์

และสุดท้ายนี้ จากสภาพการแข่งขันในประเทศที่ดุเดือด และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การทำการตลาดในยุค Marketing 6.0 จึงไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว ผู้ประกอบการจำเป็นต้องมีชุดความคิดที่ยืดหยุ่นและไม่หยุดนิ่งในการเรียนรู้ เพื่อที่จะปรับตัวอย่างปราดเปรียวให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง และสิ่งสำคัญที่สุดคือ ต้องเข้าใจบริบทและตระหนักถึงตัวตนของแบรนด์ของตนเองอย่างลึกซึ้งที่สุด