โอสถสภาขายทิ้ง สปาแอดฯพันล้าน หนุนเข้าตลาดหุ้น

เบื้องลึก “โอสถานุเคราะห์” จัดทัพหนุน “โอสถสภา” เข้าตลาดหุ้น ตัดใจโละทิ้งกลุ่มธุรกิจไม่ทำเงิน ขายหุ้นบริษัทโฆษณาคู่บุญ 40 ปี “สปา-ฮาคูโฮโด” ให้พันธมิตรญี่ปุ่น รับเบาะ ๆ 1 พันล้าน ประกาศระดมทุนเพื่อต่อยอดธุรกิจ

ประกาศนโยบายอย่างชัดเจนที่จะนำบริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) ที่มีประวัติมายาวนานกว่า 127 ปี เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พร้อมทั้งได้ยื่นคำขอจดทะเบียนไปแล้วเมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา แต่อีกด้านหนึ่ง การตัดสินใจปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ ด้วยการขายหุ้นธุรกิจโฆษณา “สปา-ฮาคูโฮโด” ที่กลุ่มโอสถานุเคราะห์สร้างเองมากับมือ และถือเป็นฟันเฟืองสำคัญที่ช่วยสร้างยอดขายให้กับสินค้าหลายตัวของโอสถสภา ได้สร้างความฮือฮาให้กับคนในวงการไม่น้อย

จัดทัพองค์กรครั้งใหญ่

แหล่งข่าวระดับสูงจากบริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ที่ผ่านมาบริษัทได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) ให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยพิจารณาไปเรียบร้อยเมื่อกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยธุรกิจหลักที่นำเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นเป็นกลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนบุคคลสำหรับเด็ก ธุรกิจให้บริการผลิตสินค้า บรรจุภัณฑ์ และจัดจำหน่ายสินค้า โดยเงินที่ได้จากการระดมทุนจะนำไปขยายกิจการทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ

โดยตลอดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โอสถสภาได้ทยอยปรับตัวทั้งในแง่ของโครงสร้างองค์กรและทีมผู้บริหาร โดยในส่วนของการบริหารงานนั้น กลุ่มโอสถานุเคราะห์ ผู้ถือหุ้นใหญ่ ตัดสินใจที่จะดึงมืออาชีพเข้ามาบริหาร อาทิ การดึงนางวรรณิภา ภักดีบุตร อดีตรองประธานกรรมการบริหาร ด้านการตลาดผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ส่วนบุคคลและอาหารของยูนิลีเวอร์ มานั่งเก้าอี้กรรมการผู้จัดการใหญ่ หรือนางกรรณิกา ชลิตอาภรณ์ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ เข้ามานั่งเก้าอี้ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหาร เพื่อลดความซับซ้อน โอสถสภายังได้โอน 26 บริษัทที่เคยอยู่ภายใต้การควบคุมของครอบครัวโอสถานุเคราะห์ไปอยู่ภายใต้การควบคุมของบริษัทโดยตรง

ขายทิ้งบริษัทโฆษณา 1 พันล้าน

แหล่งข่าวรายนี้ยังให้ข้อมูลด้วยว่า การปรับโครงสร้างองค์กรดังกล่าวยังรวมถึงขายหุ้นบริษัทต่าง ๆ อีกจำนวนหนึ่งที่กลุ่มโอสถานุเคราะห์เป็นผู้ก่อตั้งและถือหุ้น โดยเฉพาะธุรกิจด้านสื่อ วิจัย และโฆษณา ที่เป็นการดำเนินการภายใต้บริษัท ฟิวเจอร์ มาร์เก็ตติ้ง คอมมิวนิเคชั่น กรุ๊ป จำกัด โดยมีบริษัท สปา-ฮาคูโฮโด จำกัด เป็นธุรกิจหลัก

ล่าสุด เมื่อช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา กลุ่มโอสถานุเคราะห์ได้ขายหุ้นบริษัท ฟิวเจอร์ มาร์เก็ตติ้งฯ ซึ่งถือหุ้นในบริษัท สปา-ฮาคูโฮโด จำกัด ให้กับกลุ่มทุนญี่ปุ่น ซึ่งประกอบด้วยบริษัท ฮาคูโฮโด แคปปิตอล (ไทยแลนด์) จำกัด บริษัท ฮาคูโฮโด เอเชียแปซิฟิค จำกัด เป็นมูลค่าราว 1,000 ล้านบาท

“สปา-ฮาคูโฮโด เดิมก็คือ สปา แอดเวอร์ไทซิ่ง ที่ก่อตั้งขึ้นปี 2542 ต่อมาเมื่อปี 2552 ได้ขายหุ้นจำนวนหนึ่งให้กับกลุ่มฮาคูโฮโด บริษัทโฆษณาสัญชาติญี่ปุ่น”

แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า ถือเป็นการปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ของโอสถสภาในรอบกว่า 127 ปี และ 40 ปีที่ได้ก่อตั้งบริษัท สปา แอดเวอร์ไทซิ่ง ที่เป็นฟันเฟืองสำคัญในการช่วยปลุกปั้นยอดขายของกลุ่มโอสถสภาตลอดช่วงกว่า 40 ปีที่ผ่านมา จากที่มียอดขายเพียงหลัก 100 ล้านบาท ขยับขึ้นเป็นหลัก 1,000 ล้านบาท และพุ่งถึงกว่า 10,000 ล้านบาท แต่วันนี้บริษัทเหล่านี้กลายเป็นบริษัทที่รกรุงรัง เกะกะพอร์ต และไม่ได้สร้างตัวเลขกำไรที่เป็นกอบเป็นกำได้เหมือนในอดีต อย่างไรก็ตาม กลุ่มครอบครัวโอสถานุเคราะห์ให้เหตุผลในการขายกิจการบริษัทโฆษณาในครั้งนี้ว่า เป็นธุรกิจที่ครอบครัวไม่มีความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการ

เข้าตลาดหุ้นต่อยอดธุรกิจ 127 ปี

แหล่งข่าวในวงการคอนซูเมอร์โปรดักต์รายหนึ่งกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตลอดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา บริษัท โอสถสภามีแผนจะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯและได้มีความเคลื่อนไหวในการปรับโครงสร้างองค์กร การบริหารจัดการภายใน จัดระบบบัญชีมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากที่ผ่านมาโอสถสภาเป็นองค์กรขนาดใหญ่ แต่ระบบการบริหารยังเป็นกึ่งครอบครัว เนื่องจากเป็นบริษัทไทยที่มีอายุถึง 127 ปี ทำให้การปรับตัวค่อนข้างช้าและค่อนข้างตัน ไม่ทันการเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจยุคใหม่

ดังนั้นผู้บริหารในรุ่นเจเนอเรชั่นนี้ (เจเนอเรชั่น 4) จึงมีแนวคิดรื้อโครงสร้างใหม่เพื่อให้ธุรกิจเดินไปข้างหน้าได้ ข้อสรุปจึงเป็นในแนวทางการนำบริษัทเข้าระดมทุนตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อนำเงินมาขยายฐานธุรกิจ

ระดมทุนขยายกิจการ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากเอกสารของบริษัท โอสถสภา ที่ยื่นขอจดทะเบียนต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คาดว่าจะระดมทุนผ่านการเสนอขายหุ้นสามัญแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ในจำนวนไม่เกิน 603,750,000 หุ้น (คิดเป็นร้อยละ 20.10 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมด) โดยจะแบ่งเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 506,750,000 หุ้น และหุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดย Orizon Limited จำนวนไม่เกิน 67,000,000 หุ้น และ Y Investment Ltd. ไม่เกิน 30,000,000 หุ้น

โดยโอสถสภามีแผนใช้เงินลงทุนช่วงปี 2561-2562 ประมาณ 5,000 ล้านบาท แบ่งเป็นการก่อสร้างโรงงานผลิตเครื่องดื่มแห่งใหม่ในเมียนมา 2,000 ล้านบาท, เปลี่ยนเตาหลอมแก้วใหม่ 868 ล้านบาท, สร้างเตาหลอมแก้วใหม่ที่โรงงานผลิตขวดแก้วสวนอุตสาหกรรมโรจนะ 1,800 ล้านบาท เพิ่มสายการผลิตสินค้าตราซี-วิตใหม่ 80 ล้านบาท รวมไปถึงการซ่อมบำรุงเครื่องจักร การปรับปรุงที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โรงงานต้นแบบ (pilot plant) เพื่อใช้ทดลองผลิตภัณฑ์ใหม่และทดสอบคุณภาพของผลิตภัณฑ์ก่อนผลิตเชิงพาณิชย์อีกกว่า 600 ล้านบาท

ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า งบรวมของบริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) สำหรับปี 2558 มีรายได้รวม 32,204.42 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 2,336.03 ล้านบาท ปี 2559 มีรายได้รวม 33,217.57 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 2,980.53 ล้านบาท และปี 2560 มีรายได้รวม 26,509.81 ล้านบาท มีกำไร 2,939.18 ล้านบาท