ธุรกิจอีเวนต์ 1.3 หมื่นล้านฟื้นตัว อินเด็กซ์ฯเดินสายปั้นโปรเจ็กต์ขายต่างประเทศ

ตลาดอีเวนต์ 13,200 ล้านบาทดีดกลับในรอบ 10 ปี หลังสถานการณ์ทางการเมืองสดใส “อินเด็กซ์ ครีเอทีฟฯ” จัดทัพใหม่บาลานซ์ความเสี่ยงธุรกิจ เร่งสร้างโอว์นโปรเจ็กต์ ชู “กิโลรัน” หัวหอกหลักตีตลาดอีเวนต์ญี่ปุ่น-เอเชีย ก่อนขยายต่อตลาดยุโรป อเมริกา คาด 2 ปีสัดส่วนรายได้โอว์นอีเวนต์เพิ่มเป็น 20-25% ของรายได้รวม ขณะที่สิ้นปีนี้ตั้งเป้ารายได้แตะ 1,600 ล้านบาท

เมื่อธุรกิจอีเวนต์ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนจากปัจจัยลบที่เกิดขึ้นจากทุกทิศทุกทาง ทั้งปัญหาเศรษฐกิจที่ชะลอการเติบโตลง การเมืองที่ไม่นิ่ง ทำให้ภาพรวมธุรกิจอีเวนต์ในประเทศที่มีมูลค่าประมาณ 13,200 ล้านบาทก็ไม่เติบโตตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการธุรกิจอีเวนต์ทั้งรายเล็กและรายใหญ่คือ การปรับกลยุทธ์กันอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างการเติบโตท่ามกลางปัจจัยลบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเป็นระลอก ๆ

ธุรกิจอีเวนต์ฟื้นในรอบ 10 ปี

นายเกรียงไกร กาญจนะโภคิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) ผู้ดำเนินธุรกิจอีเวนต์ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมธุรกิจอีเวนต์ปีนี้จะกลับมาเติบโตอีกครั้งในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่าจะโต 5-10% จากภาพรวมตลาดที่มีมูลค่าประมาณ 13,200 ล้านบาท เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ขณะที่สินค้าหลาย ๆ กลุ่ม ทั้งเครื่องดื่ม รถยนต์ สินค้าอุปโภคบริโภค ก็หันกลับมาใช้เม็ดเงินกับธุรกิจอีเวนต์มากขึ้น โดยเฉพาะการจัดอีเวนต์มาร์เก็ตติ้งที่มีจำนวนงานเพิ่มขึ้นในส่วนของอีเวนต์ขนาดใหญ่ปีนี้ อาจจะมีจำนวนไม่มาก โดยบริษัทเตรียมจะจัดอีเวนต์ขนาดใหญ่ขึ้นในไตรมาส 4 ปีนี้ อยู่ระหว่างการวางแผนยังไม่สามารถให้รายละเอียดได้

“ก่อนหน้าปี 2554 ตลาดอีเวนต์ก็ไม่เติบโต แต่ในปี 2554 มีงานพิเศษอย่าง “บีโอไอแฟร์” ทำให้ตลาดนี้โตขึ้น แต่หลังจากนั้นตลาดนี้ก็ไม่โตติดต่อกันมาหลายปี เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองไม่นิ่ง กระทบต่อธุรกิจอีเวนต์”

เร่งสร้างโปรเจ็กต์เพิ่มรายได้

นายเกรียงไกรกล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าอีเวนต์เป็นธุรกิจที่อ่อนไหวต่อปัจจัยลบ ทำให้บริษัทพยายามปรับกลยุทธ์และเพิ่มแนวคิดการทำงานใหม่ ๆ เข้ามาอยู่เสมอ เพื่อสร้างการเติบโตให้แก่ธุรกิจ หนึ่งในนั้นคือ การขยายธุรกิจออกไปต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มซีแอลเอ็มวี ประกอบด้วย ลาว เมียนมา กัมพูชา และเวียดนาม

“ที่ผ่านมาแบ่งรายได้จากต่างประเทศและในประเทศ ทำให้ความคิดการทำธุรกิจของเราก็ติดอยู่กับข้อจำกัดต่าง ๆ ขณะที่ปีนี้ปรับแนวคิดใหม่ด้วยการสร้างโอว์นโปรเจ็กต์มากขึ้น แล้วยกงานนั้นออกไปจัดได้ในทุก ๆ ประเทศ ซึ่งวันนี้เราวางตัวเองเป็นบริษัทอีเวนต์แห่งเอเชียที่พร้อมจะบุกทุกตลาด”

สอดรับกับทิศทางธุรกิจปีนี้ที่จะเพิ่มน้ำหนักให้แก่กลุ่มธุรกิจโอว์นโปรเจ็กต์ (own project) มากขึ้น หรืออีเวนต์ที่บริษัทเป็นเจ้าของ ปัจจุบันมีเกือบ 20 งานต่อปี แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มงานเทรดแฟร์ เข้าไปเปิดตลาดต่างประเทศ เริ่มจากเมียนมาเป็นที่แรก ปัจจุบันมีเทรดแฟร์ประจำปี 4-5 งาน เช่น เมียนมา อินเตอร์เนชั่นแนล ทัวริซึ่ม เอ็กซ์โป งานเมียนมา ฟู้ด เบฟ งานเมียนมา บิวท์ แอนด์ เดคคอว์ เป็นต้น เจาะกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ในรูปแบบของโมเดลเทรดแฟร์ อีกส่วน คือ กลุ่มสปอร์ต แอนด์ เฟสทีฟ อีเวนต์ (Sport & Festive event) ระดับอินเตอร์เนชั่นแนล เจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวทั่วโลก

ประเดิมงานแรก คือ กิโลรัน (KILORUN) ปั้น “กิโลรัน” สู่อินเตอร์อีเวนต์นายเกรียงไกรขยายความว่า กิโลรันกลายเป็นอีเวนต์ที่เปิดตลาดใหม่ให้แก่บริษัทด้วย ขนาดอีเวนต์ประมาณ 4,000-5,000 คน รองรับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นอีเวนต์ที่สามารถขยายต่อไปยังประเทศต่าง ๆ ได้ทั่วโลก

เป้าหมายหลักของกิโลรัน คือ การเป็นอินเตอร์เนชั่นแนลอีเวนต์ หรืออีเวนต์ที่มีสัดส่วนชาวต่างประเทศเข้าร่วมงานกว่า 50% และคนท้องถิ่น 50% ซึ่งปีหน้าเตรียมขยายเป็น 10 เมือง ซึ่งเฉพาะประเทศญี่ปุ่นแล้วคาดว่าจะมีไม่ต่ำกว่า 2-3 เมืองที่เข้าร่วมอีเวนต์นี้

“กิโลรันถูกจัดขึ้นปีนี้เป็นครั้งแรก เริ่มสนามแรกที่กรุงเทพฯ ซึ่งคนยังไม่ค่อยเข้าใจคอนเซ็ปต์ของงาน ทำให้ผู้สมัครส่วนใหญ่เป็นคนไทย 80% ชาวต่างประเทศ 20% แต่เมื่อเปิดสนามที่ 2 บาหลี อินโดนีเซีย พบว่าผลตอบรับดีขึ้น โดยสัดส่วนชาวต่างประเทศเพิ่มเป็น 50% และคนท้องถิ่น 50%”

ทั้งนี้จุดเด่นที่ทำให้กิโลรันเป็นที่รู้จักในเวลาอันรวดเร็ว คือ การสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้แก่ผู้บริโภค ด้วยการดึงไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญเรื่องกิน ดื่ม เที่ยว และสุขภาพ ออกมาประยุกต์ให้เข้ากับอีเวนต์ ทำให้กิโลรันแตกต่างจากงานวิ่งอื่น ๆ ภายใต้แนวคิดหลักที่ว่า “วิ่งกินเที่ยวเรื่องเดียวกัน” โดยจะจัดขึ้นทั้งหมด 4 เมืองหลักใน 4 ประเทศ ซึ่งครึ่งปีแรกจัดไปแล้ว 2 ประเทศ คือ กรุงเทพฯ-ประเทศไทย และบาหลี-อินโดนีเซีย ส่วนครึ่งปีหลังปีนี้เหลือ 2 ประเทศ คือ โอซากา-ญี่ปุ่น ในเดือนกันยายนนี้ และฮานอย-เวียดนาม

ปักธงตลาดโลก

อย่างไรก็ตาม แม้ธุรกิจโอว์นโปรเจ็กต์เพิ่งเริ่มต้นเมื่อ 6 ปีก่อน ทำให้สัดส่วนรายได้ปัจจุบันยังไม่สูง แต่จากนี้ไปจะเพิ่มน้ำหนักขึ้น เพราะได้ตั้งทีมพิเศษขึ้น เพื่อสร้างโอว์นโปรเจ็กต์นี้โดยเฉพาะ ซึ่งวันนี้บริษัทวางตัวเองเป็นอินเตอร์เนชั่นแนลอีเวนต์ ด้วยการสร้างอีเวนต์ที่เป็นอินเตอร์เนชั่นแนลมากขึ้น มีผู้เข้าร่วมงานจากต่างประเทศมากขึ้น โดยเริ่มต้นด้วยกิโลรัน เป็นงานแรก และตั้งเป้าหมายว่าอีก 2-3 ปีข้างหน้า รายได้จากธุรกิจโอว์นโปรเจ็กต์จะเพิ่มเป็น 20-25% ของรายได้รวมและจะขยายเป็น 50% ของรายได้รวมบริษัทในอนาคตด้วย

“ตอนนี้อินเด็กซ์ฯก็ไม่ได้มองโอกาสทางธุรกิจจำกัดอยู่แค่ตลาดไทยอีกแล้ว แต่จะขยายโอกาสของอีเวนต์ไปยังตลาดโลกมากขึ้น ด้วยจุดเด่นที่บริษัทมี นั่นคือความหลากหลายของการทำงาน ตั้งแต่การจัดงานแฟร์ การทำอีเวนต์มาร์เก็ตติ้ง ไลฟ์สไตล์อีเวนต์ โดยเบื้องต้นจะใช้ “กิโลรัน” เป็นอีเวนต์หลักในการตีตลาดเอเชียก่อนจะขยายไปยังตลาดอื่น ๆ มากขึ้น ซึ่งถ้าอีเวนต์ที่มีคอนเซ็ปต์ที่ดีอย่าง กิโลรัน สามารถปักธงในตลาดอีเวนต์ญี่ปุ่นได้ จากนี้ไปอินเด็กซ์ฯก็จะเข้าไปปักธงในตลาดไหนก็ได้ทั่วโลก อนาคตอาจจะได้เห็นกิโลรันที่นิวยอร์ก หรือตลาดอื่น ๆ ในยุโรปด้วย”

นายเกรียงไกรกล่าวว่า ด้วยแนวทางที่วางไว้ จะสามารถสร้างการเติบโตให้แก่บริษัทได้ในระยะยาวโดยไม่ต้องกังวลปัจจัยลบต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งคาดว่าสิ้นปีนี้จะมีรายได้ประมาณ 1,650 ล้านบาท