การสร้าง “ปรากฏการณ์” “มันจะเหนื่อยสุดชีวิต…แต่คุ้มค่า”

เป็นกลุ่มทุน “ค้าปลีก” ที่แม้ว่าจำนวนสาขาที่เปิดจะไม่มาก แต่ในทุกโครงการกลับสร้างปรากฏการณ์เขย่าตลาดได้ไม่หยุด ไม่เพียงในระดับประเทศ แต่เสียงว้าวถูกส่งไปทั่วโลก นับตั้งแต่ 45 ปีก่อนของการเปิดศูนย์การค้าแห่งแรกในเมืองไทย “สยามเซ็นเตอร์” 13 ปี

ก่อนปรากฏการณ์ “สยามพารากอน” ที่ดันเมืองไทยติดแฮชแท็กระดับโลกหลายปีติดต่อกัน และล่าสุด การลงทุนโปรเจ็กต์ยักษ์ “ไอคอนสยาม” โกลบอลเดสติเนชั่นแห่งใหม่

โลก “ค้าปลีก” หมุนทุกวินาที

“ชฎาทิพ จูตระกูล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด กล่าวในงานสัมมนา Thailand 2019 “เมื่อคนเปลี่ยน แลนด์สเคปธุรกิจโลกเปลี่ยน ธุรกิจไทยจะก้าวไปอย่างไร” ของหนังสือพิมพ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การทำธุรกิจในโลกยุคใหม่ ถูกท้าทายด้วยการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา นับตั้งแต่ 33 ปีก่อนที่ตัวเองได้เข้ามาดูแลและบริหารศูนย์การค้า ไม่ว่าจะเป็นสยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ และสยามพารากอน ซึ่งล้วนเจอกับความท้าทาย

ไม่เพียงดิจิทัลดิสรัปชั่นในปัจจุบัน แต่ผ่านมาหมด ทั้งวิกฤตค่าเงินบาท เศรษฐกิจ หรือรัฐประหาร การเมือง แต่เราก็ผ่านมาได้ ทุกอย่างที่เกิดขึ้นถือว่าเป็นโชค และเราต้องอยู่กับมันให้ได้ เพราะหน้าที่เราคือการนำพาและสร้างความมั่นใจให้กับซัพพลายเออร์กว่า 1,000 รายที่อยู่ร่วมกัน

การทำธุรกิจรีเทลไม่มีวันสิ้นสุด เพราะตลาดเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทุกวินาที มีการบ้านให้คิดตลอด สอดคล้องกับแนวทางการทำธุรกิจของสยามพิวรรธน์ ซึ่งเราจะทำสิ่งที่ไม่เหมือนเดิมและต้องเป็นครั้งแรก ไม่ว่าจะเป็นสยามเซ็นเตอร์ ซึ่งเป็นศูนย์การค้าแห่งแรกในเมืองไทยเมื่อ 45 ปีก่อน หรือสยามพารากอนเมื่อ 13 ปีก่อน ที่เราทำให้ทั่วโลกเห็นถึงความสำเร็จในการเป็น pride of Bangkok ติดอันดับในโกลบอลที่ทุกคนต้องมา รวมถึงการลงทุนครั้งล่าสุด 54,000 ล้านของไอคอนสยามที่จะสร้างปรากฏการณ์จุดพลุให้ทุกคนทั่วโลกเห็นเมืองไทยว่าเรามีดีขนาดไหน

“6 ปีก่อนตอนนั้นเราประกาศการลงทุนไอคอนสยาม ท่ามกลางวิกฤตการณ์การเมืองในประเทศ เป็นการทำงานที่ยากและท้าทายมากในการที่จะดึงต่างชาติให้เชื่อมั่น เข้าใจและกล้าเข้ามาลงทุน แต่เราต้องทำ และต้องทำให้ได้”

รีเทล…ไม่มีคำว่าเก่งที่สุด

วันแรกที่เปิดสยามพารากอน คุณพ่อ (พลเอกเฉลิมชัย จารุวัสตร์) พูดว่าเธอทำสำเร็จ แต่ในอนาคตหากเธอจะทำโครงการอีก เธอต้องคิดใหม่ทำใหม่ เพราะผู้บริโภคจะเปลี่ยนไป นั่นคือคำพยากรณ์ของคุณพ่อ ซึ่ง ณ วันนี้ท่านเสียไปแล้ว นี่จึงเป็นโจทย์ยากที่เรามาทำไอคอนสยาม สิ่งที่เราทำเสนอความคิดแบบใหม่ ๆ ด้านรีเทล ทุกคนต้องถูกท้าทายอยู่ตลอด ไม่มีคำว่าดีแล้ว เก่งแล้ว

การเตรียมงาน การนำเสนอประสบการณ์เหนือความคาดหมาย จึงต้องใช้เวลาศึกษาข้อมูลจากทั่วโลก อะไรคือเทรนด์ในอนาคต และใช้ในไทยได้หรือไม่ อะไรควรนำมาปรับปรุงให้เข้ากับรสนิยมของคนไทย เราต้องใช้เวลาล่วงหน้า 18 เดือนถึง 3 ปี ต้องมีหน่วยพยากรณ์ think tank

“สยามเซ็นเตอร์อยู่มา 45 ปี แต่หน้าตาของตึกเหมือน 17-18 ปี เพราะเรารีโนเวต 7 ครั้ง เราผ่านการลดค่าเงินบาท ผ่านปฏิวัติรัฐประหารมากมาย อยู่ท่ามกลางสมรภูมิ สำหรับดิฉันคิดว่าเป็นโชค ไม่ใช่อะไรหนักหนามาก อะไรที่เกิดกับประเทศ เราเป็นส่วนหนึ่งของมัน เรารับผิดชอบต่อผู้ค้าของเรา ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เราต้องจัดการได้”

เราจึงไม่หยุดที่จะสร้างปรากฏการณ์ใหม่ ๆ และต้องเป็นคนแรก ครั้งแรกก่อนใคร ซึ่งสิ่งนี้เราทำได้ ทุก ๆ คนก็สามารถทำได้ แต่มันก็จะเหนื่อย เหนื่อยสุดชีวิต…แต่มันก็คุ้มค่า

อยู่กับน้ำ…เราต้องนอบน้อม

เมื่อ 6 ปีก่อน มีการขายที่ดินท่ามกลางโรงแรม 5 ดาวริมแม่น้ำเจ้าพระยา พื้นที่กว่า 40 ไร่ ตอนนั้นคิดว่าจะทำโครงการอะไรถึงจะคู่ควรกับแม่น้ำสายนี้ บนที่ดินผืนนี้ การร่วมทุนกันจึงเกิดขึ้น 6 ปีที่แล้วตอนนั้นเมืองไทยอยู่ในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง เราใกล้จะถึงจุดพีกของสถานการณ์ทางการเมือง ในวันเซ็นสัญญาร่วมทุน

เรารู้ว่าเจออะไร แต่ข้างหน้าจะเป็นอย่างไรเราไม่รู้ แต่เราก็เซ็นสัญญาร่วมกัน 3 บริษัท ที่มีความเชื่อมั่นในความเป็นไทย วันนั้นเราเป็นโครงการร่วมลงทุนกว่า 54,000 ล้านบาท มากที่สุดของการลงทุนของเอกชน

“ถ้าคนไทยไม่มั่นใจในคนไทย แล้วใครในโลกจะมั่นใจ นี่คือจุดเกิดของไอคอนสยาม”

แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นแม่น้ำของคนไทย มีทุกอย่างที่ยิ่งใหญ่ของไทย การจะทำอะไร เราต้องเข้าไปอย่างนอบน้อม เราเป็นเพียงจิ๊กซอว์เล็ก ๆ ที่เข้ามาเติมในภาพที่ยิ่งใหญ่ แต่เราต้องการให้โครงการของเราเป็นเหมือนโคมไฟ ให้คนหันกลับมามองกรุงเทพฯ แล้วเห็นแต่ความงดงามของความเป็นไทย

วันแรกที่คิดและตั้งชื่อว่า ไอคอนสยาม เพราะตั้งใจว่าจะสร้างสัญลักษณ์ที่เป็นตัวแทนของยุค และก้าวข้ามไปแข่งขันบนเวทีโลก เพื่อเสนอเอกลักษณ์ของไทย ให้มีความสง่างาม เพื่อบอกว่าคนไทยทำได้ไม่เป็นรองใคร

เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน

ไอคอนสยาม กับการพัฒนาเมือง เราไม่ได้ทำธุรกิจอย่างเดียว เราไม่สามารถคิดถึงธุรกิจอย่างเดียว ต้องคิดถึงผลกระทบต่อการเปลี่ยนชุมชน ชีวิต จราจร โจทย์เรา เราควรทำอะไร ไม่ควรทำอะไร โจทย์เราคือการพัฒนาเมือง นำไปสู่การลงทุน 2,000 ล้านบาทสำหรับรถไฟฟ้าสายสีทอง และ 500 ล้านบาทสำหรับท่าเรือ สร้างจุดเชื่อมต่อคมนาคมทางน้ำ

เราไม่ต้องการให้รถติด เช่นเดียวกับไม่อยากให้เรือติด หรือแม่น้ำปั่นป่วน เราทำงานกับ 73 ท่าเรือในระยะ 10 กิโลเมตร

เรานำตัวอย่างท่าเรือที่ดีจากต่างประเทศมาดู ทั้งความสวยงาม ความปลอดภัย การสื่อสารอย่างมีนวัตกรรม เราทำงาน 2 ปีกับกรมเจ้าท่า ทั้งหมดเอางานศึกษาให้กรมเจ้าท่า ท่าเรือยังเป็นของชุมชน ให้การสัญจรของคนมีคุณภาพที่ดียิ่งขึ้น คาดว่าปีหน้ากรมเจ้าท่าจะมีงบฯปรับปรุงเพื่อพัฒนาให้การสัญจรดียิ่งขึ้น

ทุกคนได้ เราได้ ชุมชนได้ เราคิดว่าเราได้ทำหน้าที่ของเราแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ประกอบการต่างประเทศ สร้างมาตรฐานใหม่ สร้างงานสร้างรายได้ ตั้งแต่พนักงานขายไปจนผู้รับเหมา การเตรียมการพูดไปพรีเซนต์ประเทศไทยเพื่อดึงแบรนด์ต่างประเทศมาที่เรา เราพรีเซนต์ประเทศไทยอย่างสุดฝีมือ สามารถดึงแอปเปิลสโตร์ที่ไทยไม่ได้อยู่ในเรดาร์ของเขามาที่ไทยได้

ไอคอนสยาม โมเดลแนวความคิดใหม่ในการทำธุรกิจสู่ความยั่งยืน เราทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญมากมาย ทั้งไทยและ 4 ทวีปทั่วโลก เรารวบรวมความเชี่ยวชาญของทุกคน เพื่อเป็นงานออกแบบศิลปะและวัฒนธรรม ผลงานศิลปินทั่วแผ่นดิน ตั้งแต่ระดับศิลปินแห่งชาติ หรือชุมชน ได้มารวมอยู่ที่นี่ รวมกว่า 300 คน ทุกคนไม่ได้มาทำเพื่อไอคอนสยาม แต่มาทำให้ประเทศไทย

เมื่อโลกเปลี่ยน พฤติกรรมผู้บริโภคเริ่มเปลี่ยนแปลงไป เช่นเดียวกับการพัฒนาตามเทรนด์ใหม่ ๆ ให้ทัน ดีเวลอปเปอร์ต้องทำงานหนักขึ้น และคิดให้มากขึ้น การทำ “ไอคอนสยาม” จึงถือว่าเป็นโมเดลที่นำเสนอแนวคิดใหม่ด้านรีเทล

โจทย์ของการพัฒนาโครงการไม่ได้อยู่ที่เราต้องการจะสร้างอะไร…แต่ต้องคำนึงว่าชุมชนต้องการอะไร