เพิ่มโรง…เติมหนังไทย “เมเจอร์ กรุ๊ป” โตยกแผง

เมื่อการเติบโตของธุรกิจโรงหนังกับภาพยนตร์กลายเป็นสิ่งที่ต้องเดินคู่ไปพร้อม ๆ กัน ทำให้โรงหนังค่ายใหญ่อย่างเมเจอร์ กรุ๊ป พยายามสร้างคอนเทนต์ภาพยนตร์ขึ้น ด้วยการแตกบริษัทลูกเพื่อผลิตหนังไทยรองรับจำนวนโรงที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะโรงต่างจังหวัดที่กินสัดส่วนเกือบ 50% ของจำนวนโรงทั้งหมด

“วิชา พูลวรลักษณ์” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารโรงภาพยนตร์เครือเมเจอร์ฯ กล่าวว่า หลาย ๆ ธุรกิจกำลังถูกดิสรัปชั่นจากการเติบโตของเทคโนโลยี แต่สิ่งที่เกิดขึ้นแทบไม่ได้ส่งผลต่ออุตสาหกรรมภาพยนตร์ เพราะตลาดหนังทั่วโลกยังโตโดยเฉพาะตลาดเอเชีย เช่น จีน ถือเป็นผู้นำด้านจำนวนโรงหนังที่มีมากถึง 51,000 โรง ตามด้วยอินเดียที่มีกว่า 11,000 โรง ญี่ปุ่นกว่า 3,000 โรง เกาหลีใต้กว่า 2,000 โรง เป็นต้น และยังมีโอกาสที่จะเพิ่มขึ้นอีก โดยปัจจัยหลักมาจากผู้ผลิตและจำนวนภาพยนตร์ท้องถิ่นในแต่ละประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งสอดรับกับพฤติกรรมคนดูในแต่ละประเทศที่ให้ความนิยมโลคอลคอนเทนต์ ประกอบกับสตูดิโอรายใหญ่ที่ผลิตหนังฟอร์มยักษ์มากขึ้น เช่น ดิสนีย์ฯ ที่มีถึง 4 สตูดิโอใหญ่และผลิตหนังป้อนให้อุตฯปีละหลายเรื่อง ซึ่งแต่ละเรื่องก็ทำรายได้ดี ส่งผลให้ภาพรวมอุตสาหกรรมภาพยนตร์คึกคักขึ้น  เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในไทยก็มีการเติบโตที่ดี หรือมีมูลค่าตลาด 7,000-8,000 ล้านบาท

“การเติบโตของจำนวนโรงหนังกับหนังเป็นเสมือนไก่กับไข่ที่ต้องโตไปด้วยกัน ซึ่งจำนวนโรงหนังในเอเชียที่โตขึ้นก็มาจากโลคอลคอนเทนต์ ซึ่งไทยก็เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทำให้เราพยายามผลิตหนังไทยเพิ่มขึ้น เพราะคนต่างจังหวัดชอบดูหนังไทย สะท้อนจากรายได้ก้อนใหญ่ของหนังไทยในปัจจุบันก็มาโรงหนังในต่างจังหวัดเป็นหลัก”

ยกตัวอย่าง ปรากฏการณ์ “นาคี 2” ที่สร้างสถิติใหม่ด้วยการเก็บรายได้ 200 ล้านบาท ใน 4 วัน สะท้อนให้เห็นว่า ตอนนี้จำนวนโรงหนังในไทยพร้อมแล้ว แต่ในแง่ของคอนเทนต์ยังไม่เพียงพอ ทำให้ผู้ผลิตหนังไทยต้องเพิ่มจำนวนผลิตมากขึ้น เพื่อให้สอดรับกับตลาด ถ้ามองในแง่ของจำนวนโรง “วิชา” อธิบายว่า ตอนนี้เมเจอร์ขยายโรงไปในต่างจังหวัดมากขึ้น คิดเป็นสัดส่วน 50% และสิ้นปีนี้คาดว่าจะเปิดให้ครบ 160 สาขา 771 โรง คิดเป็น 176,435 ที่นั่ง แบ่งเป็นต่างประเทศ 7 สาขา 37 โรง คือ ลาว และกัมพูชา ส่วนในประเทศมี 153 สาขา เป็นกรุงเทพฯ ปริมณฑล 43 สาขา ต่างจังหวัด 110 สาขา

ขณะที่ปี 2562 จะเปิดอีก 60-70 โรงภายใต้งบฯลงทุน 700-800 ล้านบาท แบ่งเป็นต่างประเทศ 2 สาขา ได้แก่ กัมพูชา ลาว ส่วนที่เหลือจะเปิดในประเทศ เน้นการขยายไปกับเทสโก้ โลตัส และบิ๊กซี ซึ่งโมเดลนี้มีจำนวนโรงน้อยแค่ 1-2 โรงต่อศูนย์เท่านั้น แต่สามารถเจาะเข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้นทั้งในระดับอำเภอ ตำบล และตั้งเป้าหมายว่าปี 2563 จะขยายให้ครบ 1,000 โรงตามแผนที่วางไว้

อีกแนวทางที่ต้องเติบโตคู่กันไป คือ การเพิ่มจำนวนหนังไทย เพื่อผลักดันให้อุตฯหนังไทยโตขึ้น โดยที่ผ่านมาได้ตั้งบริษัทลูกขึ้นเพื่อผลิตหนังไทย ปัจจุบันมีบริษัทผลิตหนังในเครือ 5 ค่าย ได้แก่ บริษัท ทาเลนต์ วัน จำกัด บริษัท เอ็มพิคเจอร์ส เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด บริษัท เอ็มเทอร์ตี้ไนน์ จำกัด บริษัท ทรานฟอร์เมชั่น ฟิล์ม จำกัด และบริษัท ซีเจ เมเจอร์ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนกับยักษ์เอ็นเตอร์เทนเมนต์เกาหลี

ยกตัวอย่างเช่น ปี 2562 เฉพาะเอ็ม พิคเจอร์สบริษัทเดียวก็เตรียมผลิตหนังอีก 12-15 เรื่องในหลากหลายแนว ทั้งโรแมนติก คอเมดี้ ดราม่า และสยองขวัญ เจาะกลุ่มเป้าหมายทุกกลุ่ม เช่น รักไม่เป็นภาษา บุษบา คืนยุติธรรม ฟ้าฟื้น แสงกระสือ เป็นต้น ภายใต้งบฯลงทุน 300-400 ล้านบาท หรือเฉลี่ยลงทุนเรื่องละ 30-40 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังจูงใจผู้กำกับภาพยนตร์ ดึงคนสร้างหนังให้มาร่วมงานกับบริษัทมากขึ้นด้วยการใช้โมเดลแบ่งรายได้แบบฮอลลีวูด ด้วยการแบ่งผลกำไรระหว่างผู้กำกับกับผู้ลงทุนอย่างชัดเจน ซึ่งปี 2562 จะมีภาพยนตร์เข้าฉายประมาณ 320 เรื่อง แบ่งเป็นหนังไทย 50 เรื่อง ซึ่งมีหนังไทยในเครือเมเจอร์ฯถึง 23 เรื่อง และภาพยนตร์ต่างประเทศ 270 เรื่อง คาดว่าจะมีหนังทำเงินหลายเรื่อง เช่น Avengers4, Captain Marval, Spider-Man เป็นต้น

“เมื่อโรงต่างจังหวัดโตขึ้นและตลาดนี้ต้องการหนังไทย เราก็เดินหน้าเพิ่มจำนวนหนังไทยให้มากขึ้น คาดว่าปี 2563 จะผลักดันให้หนังไทยมีส่วนแบ่งตลาด 50% ของตลาด จากปัจจุบันที่มีส่วนแบ่งอยู่ 25-30% และคาดว่าปลายปีจะแตะ 30-35% จากนาคี 2”

สำหรับกลยุทธ์หลักของโรงหนังนั้น “วิชา” กล่าวว่า ตอนนี้เทคโนโลยีเปลี่ยนเร็วและเข้าไปดิสรัปชั่นในหลาย ๆ ธุรกิจ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกลายเป็นความท้าทายของธุรกิจโรงหนังว่าจะเปลี่ยนอย่างไร และจะนำดาต้า (data) ที่เกิดขึ้นบนโลกออนไลน์มาใช้ได้อย่างไร ซึ่งเมเจอร์ก็พร้อมนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่หลากหลายและแยกย่อยตามเซ็กเมนเทชั่นมากขึ้น

หนึ่งในนั้นคือ การนำบิ๊กดาต้า (big data) ที่ได้จากบัตรเอ็ม เจเนอเรชั่น ซึ่งปัจจุบันมีฐานลูกค้าอยู่ 3 ล้านใบมาวิเคราะห์และออกโปรโมชั่นให้สอดรับกับไลฟ์สไตล์ของลูกค้าแต่ละกลุ่ม ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้เริ่มนำมาใช้แล้ว และได้ผลการตอบรับที่ดี อีกทั้งเร็ว ๆ นี้เตรียมเปิดตัวแอปพลิเคชั่นใหม่ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคมากขึ้นในส่วนของผลประกอบการไตรมาส 3 ที่ผ่านมามีรายได้ 2,048 ล้านบาท ลดลง 7% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีรายได้ 2,200 ล้านบาท เนื่องจากภาพยนตร์ต่างประเทศที่เข้าฉายใน

ปีนี้ได้รับความนิยมน้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ผลประกอบการ 9 เดือนที่ผ่านมามีกำไร 1,024 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไร 1,110 ล้านบาท ขณะที่สิ้นปีนี้ตั้งเป้าหมายว่ารายได้รวมจะทะลุ 10,000 ล้านบาทซึ่งเติบโตจากปีก่อน

เมื่อโรงต่างจังหวัดมากขึ้น สิ่งที่ต้องโตควบคู่กันไป คือ การผลิตหนังไทย แต่ต้องเพิ่มบนมาตรฐานของคุณภาพหนังที่ดี เพื่อให้อุตฯหนังโตแบบมั่นคง