หัวเรือใหญ่ “ปาเต๊ก ฟิลิปป์” “Passion is the Key to Success”

สัมภาษณ์

ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน “ปาเต๊ก ฟิลิปป์” ยังสร้างความน่าหลงใหลให้กับผลงานอันหรูหรา ประณีต บนข้อมือให้กับคนทุกรุ่น ไม่ผิดเพี้ยนไปจากสโลแกนของแบรนด์ที่ว่า “You never actually own a Patek Philippe. You merely look after it for the next generation.” คุณไม่อาจเป็นเจ้าของนาฬิกาปาเต๊ก ฟิลิปป์ ได้อย่างแท้จริง คุณแค่เพียงดูแลรักษามันไว้เพื่อส่งต่อให้กับคนรุ่นต่อไป

ย้อนกลับไป ปาเต๊ก ฟิลิปป์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1839 (พ.ศ. 2382) และได้เปลี่ยนมาอยู่ในมือของครอบครัวสเติร์น ตั้งแต่ปี 1932 (พ.ศ. 2475) เป็นต้นมา แม้จะผ่านไปหลายเจเนอเรชั่น แต่ตัวตนของปาเต๊ก ฟิลิปป์ และความมุ่งมั่นที่จะผลิตนาฬิกาที่สมบูรณ์แบบ ยังคงเป็นแก่นของแบรนด์เสมอมา

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสร่วมสัมภาษณ์ “เทียร์รี่ สเติร์น” ประธานบริษัทปาเต๊ก ฟิลิปป์ ทายาทรุ่นปัจจุบันของครอบครัวสเติร์น ในโอกาสที่เดินทางมาเปิดบูติคปาเต๊ก ฟิลิปป์ ซึ่งเป็นความร่วมมือกับ พีเอ็มที เดอะ อาวร์ กลาส ภายใต้พื้นที่ทั้งหมด 223 ตารางเมตร ตั้งอยู่บริเวณชั้น G ไอคอนสยาม ถึงความสำเร็จของแบรนด์ที่ยังคงรักษาเอกลักษณ์ ความเป็นตัวตนในแบบปาเต๊ก ฟิลิปป์ เอาไว้ได้อย่างไม่มีที่ติ แม้จะผ่านมากว่า 180 ปีแล้วก็ตาม

“เทียร์รี่” เล่าให้ฟังว่า สิ่งที่ทำให้แบรนด์ยังคงยืนหยัดมาโดยตลอดนั่นก็คือ “ความหลงใหลในการทำนาฬิกา” ที่ผู้บริหาร ตลอดจนพนักงานทุกคนต่างมีแพสชั่นร่วมกันเพื่อผลิตผลงานที่ดีที่สุดออกมา อาจฟังดูเรียบง่าย ธรรมดา แต่เป็นสิ่งที่มีความหมายอย่างมากในการทำงานของปาเต๊ก ฟิลิปป์

“มันหมายความว่าเราจะรักษามาตรฐาน และความน่าเชื่อถือในแบบของเราเอาไว้ ซึ่งลูกค้าก็จะรับรู้ได้ว่าเราไม่มีทางลดคุณภาพในการสร้างสรรค์ผลงาน เพียงเพราะเราหาวิธีอื่นที่จะทำกำไรได้มากขึ้น การผลิตนาฬิกาที่สวยงามและดีที่สุด คือ จุดมุ่งหมายของปาเต๊ก ฟิลิปป์ ไม่ใช่เรื่องของการทำยอดขายหรือกำไรได้มาก ๆ”

การใส่ใจในรายละเอียดทุกส่วนของนาฬิกา ตั้งแต่การออกแบบ ดีไซน์ตัวเรือน วัสดุที่ใช้ กลไกที่มีความซับซ้อน คือ หัวใจของการผลิตนาฬิกาแบบไม่ต้องสงสัย แต่สิ่งที่หลาย ๆ คนอาจยังไม่เคยทราบมาก่อนเลย

นั่นก็คือ “เทียร์รี่” จะเป็นผู้ที่ทดสอบนาฬิกาทุกเรือนด้วยตัวเอง เพื่อฟังเสียงนาฬิกา ไม่ว่าจะเป็นเข็มนาที เข็มชั่วโมง หรือเสียงกลไกภายในต่าง ๆ ว่าดัง-เบาเกินไป หรือเดินเร็ว ช้า เกินไปหรือไม่

“เทียร์รี่” ชี้ว่า เขา คุณพ่อ คุณปู่ ทำเช่นนี้สืบต่อกันมาหลายเจเนอเรชั่น เรียกได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของงาน ที่เขาต้องเมกชัวร์ว่าสินค้าที่ออกมานั้นต้องเปอร์เฟ็กต์ จึงจะสามารถส่งมอบให้กับลูกค้าได้

“เมื่อคุณตัดสินใจใช้เงินกว่า 3,000 ถึง 1 ล้านฟรังก์ เพื่อที่จะซื้อนาฬิกาของเราแล้ว มันต้องไร้ที่ติจริง ๆ การทำเช่นนี้เป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของผมที่สามารถทำให้กับลูกค้าได้ และผมเองก็มีความสุขที่จะทำตรงนั้น เพื่อเข้าใจและหาทางพัฒนาต่อไปเรื่อย ๆ เพราะการใช้วัสดุ ไซซ์ ฯลฯ ที่ต่างกัน ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อนาฬิกาทั้งสิ้น”

นอกจากนี้ “การไม่หยุดที่จะพัฒนา” ยังเป็นคีย์หลักของความสำเร็จที่ส่งต่อมายังรุ่นสู่รุ่น เพราะแม้ว่าแบรนด์จะประสบความสำเร็จ มีความเฮอริเทจแค่ไหน แต่หากไม่มี “นวัตกรรม” ที่ขับเคลื่อนไปข้างหน้า ก็คงจะตายจากไปในไม่ช้า

“เทียร์รี่” มองว่า แค่การปฏิบัติตามธรรมเนียมประเพณีที่เคยทำ ๆ กันมาอย่างเดียวนั้น คงไม่เพียงพอสำหรับการสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจได้ ต้องมีการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ อยู่ตลอด ไม่ว่าจะเป็นดีไซน์ หรือวัสดุที่ใช้ เพื่อการพัฒนาสินค้าให้ดีขึ้นกว่าเดิมจริง ๆ ไม่ใช่แค่กิมมิกทางการตลาด

ความรับผิดชอบด้านการออกแบบดีไซน์ ยังเป็นอีกบทบาทหน้าที่หนึ่งของเทียร์รี่ ที่ต้องชี้ว่าแบบไหนถึงจะใช่ แบบไหนไม่ใช่ ซึ่งไม่มีตำราใด ๆ เขียนบอกเอาไว้ มีเพียงแต่ประสบการณ์และความรู้สึกเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม ปาเต๊ก ฟิลิปป์ ยังมีคณะกรรมการด้านการสร้างสรรค์ (committee of creation) ที่ดูแลเรื่องการดีไซน์ และทิศทางในอนาคตทำงานร่วมกันการทำนาฬิกาเรือนหนึ่งออกมาให้ดีที่สุด เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ ความรู้ และฝีมือของช่างทำนาฬิกา และปาเต๊ก

ฟิลิปป์ก็สามารถจัดการตรงนั้นได้เป็นอย่างดี แต่ความท้าทายที่เกิดขึ้น คือ การที่สินค้าของแบรนด์ไม่สามารถผลิตได้เพียงพอต่อความต้องการของเหล่ามหาเศรษฐีจากทั่วโลก เนื่องจากงานฝีมือประเภทนี้มีกระบวนการผลิตที่ประณีตและซับซ้อน ซึ่งต้องใช้เวลาและกำลังคนจำนวนมากในการทำหน้าที่แต่ละขั้นตอน

“เทียร์รี่” ยอมรับว่า ดีมานด์ของปาเต๊ก ฟิลิปป์ ในตลาดนั้นมากเกินกว่าที่บริษัทจะสามารถ deliver ได้จริง ๆ โดยเฉพาะในไทยเอง และทวีปเอเชีย ที่มีกลุ่มคนที่ชื่นชอบนาฬิกาของเรา และนักสะสมจำนวนมากเฝ้ารอคอย แต่ในช่วงที่ผ่านมา น้ำหนักของการกระจายสินค้าค่อนข้างเน้นไปในโซนยุโรปเป็นหลัก ทำให้สินค้าไม่เพียงพอกับความต้องการทำให้ทิศทางต่อจากนี้ ปาเต๊ก ฟิลิปป์ จะหันมาโฟกัสที่ตลาดโลคอลในเมืองไทย และเอเชียมากขึ้น ด้วยกระแสของโลกที่เปลี่ยนไป การขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจมาอยู่ในฝั่งเอเชียมากขึ้น

“เรากำลังปรับโครงสร้างวิธีการขายนาฬิกาของเราใหม่”

รวมถึงการขยายสาขา ซึ่งเทียร์รี่ยังคงให้ความสำคัญกับการเปิดบูติคที่เป็น physical store ท่ามกลางความร้อนแรงของกระแสออนไลน์และดิจิทัล

“เมื่อคุณต้องการซื้อนาฬิกาประเภทนี้ คุณไม่สามารถซื้อมันจากอินเทอร์เน็ตได้ การได้มาที่บูติค ได้ทดลองใส่ พูดคุยปรึกษากับพนักงานของเราเกี่ยวกับนาฬิกา เป็นความพึงพอใจที่คุณไม่สามารถหาได้จากอินเทอร์เน็ต และมันคงน่าเศร้ามาก ๆ หากคุณไม่ได้รับช่วงเวลาดี ๆ เหล่านี้ ซึ่งนี่เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมเรายังให้ความสำคัญกับการมีหน้าร้านอยู่”

และการเดินทางมาเปิดแฟลกชิปสโตร์ บูติคที่ใหญ่ที่สุดในไทยครั้งนี้ ก็สามารถตอกย้ำความสำคัญของตลาดนาฬิกาปาเต๊ก ฟิลิปป์ ในเมืองไทยได้เป็นอย่างดี