ทีวี ธันเดอร์…พลิกเกม แปลงคอนเทนต์ปั้นรายได้

เผชิญมรสุมลูกใหญ่ไม่ต่างจากทีวีดิจิทัล เพราะเม็ดเงินโฆษณาผ่านสื่อทีวีซึ่งเป็นรายได้หลักของผู้ผลิตรายการก็ลดลงเรื่อย ๆ สวนทางกับต้นทุนที่พุ่งสูงขึ้น ทำให้ตลอดช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมามีบริษัทผู้ผลิตรายเล็ก ๆ ทยอยปิดตัวลง ขณะที่รายใหญ่ก็วิ่งวุ่นไม่แตกต่างกัน ทั้งปรับกลยุทธ์ เพิ่มโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ โดย “ทีวี ธันเดอร์” ก็เป็นผู้ผลิตรายการทีวีที่พยายามกระจายคอนเทนต์เข้าสู่ทุกแพลตฟอร์มเพื่อสร้างรายได้เพิ่ม

“พิรัฐ เย็นสุดใจ” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีวี ธันเดอร์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตรายการวาไรตี้ เกมโชว์ ซิตคอมและละคร กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาแนวโน้มอุตสาหกรรมสื่อเปลี่ยนเร็ว จากการขยายตัวของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนพฤติกรรมคนดูไป ขณะที่แนวโน้มคนไม่ได้ดูทีวีลดลง เพียงแต่ย้ายจากการดูทีวีบนหน้าจอใหญ่ไปดูทีวีบนออนไลน์มากขึ้น ซึ่งช่องทางนี้ยังวัดผลไม่ได้ ทำให้แนวโน้มเรตติ้งรายการทีวีหายไปเรื่อย ๆ ตามจำนวนคนดู

“เมื่อคนดูและเรตติ้งหายไป เม็ดเงินโฆษณาที่เป็นรายได้หลักของช่องและผู้ผลิตก็ลดลงเรื่อย ๆ ส่งผลให้รายเล็กทยอยปิดตัวลงเพราะต้นทุนสูงขึ้นแต่รายได้น้อยลง ส่วนผู้ผลิตรายใหญ่ก็ต้องปรับกลยุทธ์ใหม่ ซึ่งตอนนี้เหลือผู้เล่น 4-5 รายใหญ่ เช่น ทีวี ธันเดอร์ กันตนา เจเอสแอล เป็นต้น”

“พิรัฐ” เล่าย้อนกลับไปว่า อุตสาหกรรมทีวีเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว เพราะช่องเพิ่มขึ้นจาก 4 ช่อง เป็น 24 ช่องทันที ดังนั้น เวลาขายโฆษณาก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนั้นทำให้มีบริษัทผู้ผลิตรายย่อย ๆ เกิดขึ้นจำนวนมาก เพราะมองโอกาสเดียวกันนั่นคือ เวลาโฆษณาที่เพิ่มขึ้น โอกาสการขายก็มากขึ้น

“สถานการณ์ทีวีคึกคักขึ้นเมื่อการเปิดประมูลทีวีดิจิทัลเริ่มขึ้นในปี 2556 และทยอยออกอากาศกลางปี 2557 แต่เมื่อทีวีดิจิทัลออกอากาศสักระยะ เราก็เริ่มเห็นสัญญาณหลาย ๆ อย่าง ซึ่งถ้ามองในแง่ดี คือ ช่องเพิ่มขึ้น ผู้ผลิตก็มีเวทีสำหรับรายการใหม่มากขึ้น มีเวลาขายโฆษณาเพิ่มขึ้น แต่ในทางกลับกันเม็ดเงินโฆษณา 60,000 ล้านบาทกลับไม่โตตามจำนวนช่อง อีกทั้งแพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก ยูทูบ ก็โตขึ้นเร็ว ทำให้ผู้ผลิตต้องปรับแผนใหม่เป็นระลอก ๆ”

ท่ามกลางแนวโน้มรายได้โฆษณาหดตัวลงเรื่อย ๆ สิ่งที่ผู้ผลิตต้องทำ คือ ปรับโมเดลธุรกิจใหม่ ตามด้วยการควบคุมต้นทุนผลิต พร้อมเร่งหารายได้จากช่องทางใหม่ ๆ

สำหรับทีวี ธันเดอร์ “พิรัฐ” บอกว่า ปรับตัวมาต่อเนื่อง พร้อมหาโมเดลสร้างรายได้ใหม่ ๆ โดยก่อนหน้าได้เขย่าพอร์ตรายได้ใหม่เพื่อบาลานซ์ความเสี่ยงธุรกิจ แบ่งออก 2 ส่วน ได้แก่ แบ่งรายได้กับช่อง (time-sharing) ปัจจุบันมี 3 รายการออกอากาศช่อง 33 เอชดี ได้แก่ มาสเตอร์คีย์ เวทีแจ้งเกิด ลูกทุ่งน็อคเอาท์ หลวงตามหาชน และเทค มี เอาท์ ไทยแลนด์ ส่วนไตรมาส 4 ปีนี้จะเพิ่มอีก 1 รายการ

อีกส่วนคือ รายได้จากการรับจ้างผลิตจากช่องต่าง ๆ เช่น แฟนฉันเป็นซุปตาร์, CUTEBOY Thailand ช่องทรูโฟร์ยู ผลิตละครให้พีพีทีวี เป็นต้น รวมถึงผลิตคอนเทนต์ป้อนให้แพลตฟอร์มโอทีที หรือดูคอนเทนต์บนออนไลน์ เช่น ไลน์ทีวี เอไอเอสเพลย์ มากขึ้น

“พิรัฐ” กล่าวว่า ตอนนี้ผู้ผลิตคอนเทนต์ขยับตัวยาก เพราะถ้าจะโตจากรายได้โฆษณาก็ต้องทำรายการเพิ่มขึ้น เมื่อมีรายการเพิ่มต้นทุนก็เพิ่มด้วย ซึ่งสวนทางกับแนวโน้มโฆษณาที่ไม่โต ทำให้เสี่ยงที่จะขาดทุน ดังนั้น เราก็ต้องพยายามบาลานซ์รายได้ทั้งจากส่วนรับจ้างผลิตและการไทม์แชริ่งให้ดี ซึ่งรูปแบบไทม์แชริ่งถ้ามีรายการติดตลาด มีเรตติ้งดี ๆ สัก 3-4 รายการก็อยู่ได้

ขณะเดียวกัน ก็ทดลองโมเดลใหม่ ๆ ต่อเนื่อง ล่าสุดพาร์ตเนอร์กับดารา เช่น ดีเจ.นุ้ย สร้างรายการ “นังตัวดี” เบนซ์ พรชิตา และมิค บรมวุฒิ สร้างรายการ “ปริมไม่อาว” เป็นต้น โดยผลิตเป็นรายการย่อยออนแอร์บนช่องยูทูบ “TV Thunder Official” ซึ่งปัจจุบันมีฐานสมาชิกกว่า 4.3 ล้านราย

“เราก็พยายามทดลองโมเดลใหม่ ๆ และยืดหยุ่นกับการทำงานมากขึ้น ทั้งรับจ้างผลิตและกระจายคอนเทนต์เข้าสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ ตอนนี้สัดส่วนรับจ้างผลิต 60% และไทม์แชริ่ง 40% โดยปีนี้มี 13 รายการที่จะออกอากาศทั้งทีวีและออนไลน์ ส่วนตัวรายการที่พาร์ตเนอร์กับดาราที่เริ่มเมื่อต้นปีนี้ก็มีกระแสตอบรับที่ดี ปีนี้จึงจะเพิ่มดาราอีก 2-3 คนด้วย”

“พิรัฐ” ย้ำว่า บริษัทหันไปรุกออนไลน์มากขึ้น แม้รายได้จากส่วนนี้จะน้อย ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนจากช่องทางออนไลน์เพียง 3% ของรายได้รวม แต่ก็ต้องเดินต่อเพราะตลาดนี้มีแนวโน้ม

ที่ดีและมีอัตราการเติบโตเป็นตัวเลขสองหลักทุก ๆ ปี อีกทั้งเชื่อมั่นว่า ด้วยจุดแข็งทีวี ธันเดอร์ที่สามารถผลิตรายการได้หลากหลาย ทั้งเกมโชว์ วาไรตี้ ละคร ซิตคอม และพร้อมจะกระจายคอนเทนต์เข้าสู่ทุกแพลตฟอร์ม จะเป็นอีกกลยุทธ์สำคัญที่สร้างการเติบโตให้แก่บริษัทอย่างต่อเนื่อง

สำหรับไตรมาสแรกที่ผ่านมา มีรายได้ 93 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% จากช่วงเดียวกันปีก่อน แต่ยังขาดทุน 4 ล้านบาท เนื่องจากรายได้โฆษณาจากรายการหลัก คือ มาสเตอร์คีย์ หลวงตามหาชน ลดลง และคาดการณ์ว่าครึ่งปีหลังนี้เม็ดเงินโฆษณาจะดีขึ้น เมื่อธุรกิจผลิตคอนเทนต์ไม่หวือหวาเหมือนที่ผ่านมา การปรับตัวให้เร็ว พร้อมเพิ่มรายได้จากช่องทางออนไลน์ ก็กลายเป็นอีกโมเดลสำคัญ