CEO ถอดรหัสเศรษฐกิจปี’63 กำลังซื้อฝืด-ธุรกิจรัดเข็มขัด

บิ๊กซีอีโอยักษ์ธุรกิจถอดรหัสความท้าทายปี 2563 “ซีพีเอฟ-เอไอเอส-สยามพิวรรธน์-พฤกษาฯ-ล็อกซเล่ย์-บี.กริม” ประสานเสียงเศรษฐกิจไทยโตต่ำ ฉุดกำลังซื้อในประเทศซบเซา ยิ่งบริษัทใหญ่ยิ่งต้องรัดเข็มขัด “อดิเรก ศรีประทักษ์” ชี้ปัจจัยเสี่ยง “ภัยแล้ง-บาทแข็ง” หวั่นผู้บริโภคเข้าสู่โหมดประหยัด เจ้าแม่ไอคอนสยามกระทุ้งรัฐต้องเทกแอ็กชั่นปัญหา “ท่องเที่ยว” ด้าน “สมชัย-เอไอเอส” สู่สมรภูมิสื่อสารแข่งดุ หวั่นเกมชิงผู้นำ 5 จี โอเวอร์อินเวสต์เมนต์

ก้าวสู่ปีใหม่ 2563 เศรษฐกิจไทยยังลุ่ม ๆ ดอน ๆ ไม่มีข่าวดี และล่าสุดเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2563 อยู่ที่ 2.8% จากเดิมที่คาดการณ์ 3.3%เนื่องจากการชะลอตัวของภาคการส่งออกเป็นสำคัญ หลังจากปี 2562 ที่คาดว่าส่งออกทั้งปีจะติดลบ 3.3% และปี 2563 ส่งออกขยายตัว 0.5% รวมถึงแรงกระตุ้นการลงทุนภาครัฐและรัฐวิสาหกิจที่ช้ากว่าคาด ทำให้กำลังซื้อในประเทศถดถอย

ขณะที่ภาคธุรกิจโดยเฉพาะเอสเอ็มอี เผชิญปัญหาขาดสภาพคล่องโดยที่ ธปท.ออกมาส่งสัญญาณว่า กำลังเกิดปัญหา “ผิดนัดชำระหนี้” เพิ่มทั้งในส่วนหนี้ครัวเรือนและเอสเอ็มอี

“ประชาชาติธุรกิจ” ฉบับเปิดศักราชปีใหม่ 2563 “เตือนคุณล่วงหน้า ทุกคำ ทุกข่าว” ได้รวบรวมมุมมองบิ๊กซีอีโอยักษ์ใหญ่ของประเทศ เพื่อสะท้อนภาพการดำเนินธุรกิจ และการปรับตัวในปี 2563 ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจโตอ่อนแรง

อดิเรก ศรีประทักษ์

บาทแข็ง-ภัยแล้งท้าทายธุรกิจ CPF

นายอดิเรก ศรีประทักษ์ ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า แนวโน้มอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปี 2563 น่าจะขยายตัวไม่มาก 2-3% อาจมีผลให้ประชาชนต้องประหยัดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แต่ยังมองว่าประชาชนจะไม่ลดค่าใช้จ่ายในการซื้ออาหาร เพราะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการครองชีพ และซีพีเอฟผลิตโปรตีนราคาถูกทำให้ยอดขายในประเทศที่มีสัดส่วน 27-28% ไม่กระทบแต่อาจอ่อนตัวหรือโตไม่เท่ากับต่างประเทศ

ปัจจัยเสี่ยงที่ท้าทายธุรกิจเกษตรในปี 2563 จะเป็นเรื่องของภัยแล้งที่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตอาจจะปรับลดลง ต้นทุนการผลิตอาจจะสูงขึ้น และมีแนวโน้มราคาสูงขึ้น โดยพืชและสัตว์แต่ละชนิดมีความต้องการใช้น้ำต่างกัน ดังนั้นผู้ประกอบการควรวางแผนการบริหารจัดการน้ำด้วย สำหรับมาตรการดูแลสินค้าเกษตรตามที่รัฐบาลมีนโยบายประกันรายได้พืชเกษตรที่สำคัญในปีที่ผ่านมา ถือเป็นนโยบายที่ดี ซึ่งรัฐบาลอาจดำเนินมาตรการต่อในปี 2563 เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ซึ่งถือว่ายังเป็นมาตรการที่จำเป็น

“ส่วนภาคการส่งออก บาทแข็งกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตร แต่ซีพีเอฟไม่กระทบมากนัก เพราะฐานผลิตในประเทศหลัก ๆ ป้อนตลาดภายใน มีส่งออก 5% และยังมีการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศซึ่งจะช่วยบาลานซ์ต้นทุนกันได้”

ฮาราลด์ ลิงค์

จี้รัฐบาลหาต้นเหตุจีดีพีโตต่ำ 3%

นายฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริมกรุ๊ป กลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่ที่ทำธุรกิจในเมืองไทยมาถึง 141 ปี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า รัฐบาลต้องวิเคราะห์สาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทยปี 2563 ขยายตัวต่ำกว่า 3% เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียนที่ต่างขยายตัวเกิน 3% ทั้งที่ไทยยังเป็นประเทศที่น่าสนใจของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งจากที่ บี.กริม ได้ขยายการลงทุนไปเวียดนามและหลาย ประเทศในอาเซียน หากเปรียบเทียบแล้ว ประเทศไทยยังแข่งขันและเป็นประเทศที่นักลงทุนสนใจอยากมาลงทุนในส่วนของ บี.กริม แม้จะขยายการลงทุนไปหลายประเทศ แต่ บี.กริม ก็เป็นบริษัทที่รักประเทศไทย และต้องการอยู่ที่นี่

“เศรษฐกิจไทยยังไปได้ แต่ทำไมโตแค่ 3% ยังยาก ซึ่งรัฐบาลต้องคิดว่าต้องการเติบโตแบบไหน จีดีพีสะท้อนคุณภาพไหม อย่างเรื่องการท่องเที่ยว ต้องการจำนวนนักท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว หรือต้องการนักท่องเที่ยวแบบไหน ทุกอย่างมีทางเลือกเสมอ จะพัฒนาสาธารณูปโภคเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว หรือจะหานักท่องเที่ยวที่ชอบความเป็นเรา”

รวมทั้งรัฐบาลต้องเร่งแก้ปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งค่าซึ่งกระทบต่อส่งออก หากสามารถทำให้อัตราแลกเปลี่ยนมีเสถียรภาพได้ จะช่วยให้การส่งออกปี 2563 เติบโตมากขึ้น เพราะต้องยอมรับว่าบางอย่างก็มาจากปัญหาค่าเงินบาทที่ทำให้เศรษฐกิจไม่เติบโต เป็นไปได้ไหมจะทำให้ค่าบาทอ่อนลง อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทไม่ใช่ประเด็นเดียว เพราะถ้าดูทั่วโลกประเทศที่ไปได้ดีที่สุด ก็เป็นประเทศที่มีอัตราแลกเปลี่ยนแข็งแกร่ง เช่น สมัยก่อนเงินดอยช์มาร์กแข็ง แต่เศรษฐกิจยังเติบโตทั้งที่เงินแข็งค่า เพราะคนต้องขยัน ย้อนกลับมาที่ประเทศไทยว่าได้แก้ปัญหาอย่างจริงจังหรือไม่ อาจจะเป็นปัญหาภายในประเทศที่คน สังคม ขาดไฟไม่ได้ช่วยกันแก้ปัญหา

“แนวทางแก้ไขของรัฐบาลไม่ใช่แค่เรื่องความสามารถ ความตั้งใจ แต่จำเป็นต้องมีโอกาสและสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมด้วย ทั้ง 3 อย่างต้องไปด้วยกัน เพราะถ้าดูประสิทธิภาพประสิทธิผลของประเทศไทยไม่แพ้ใครในโลก ผมคิดว่าทุกรัฐบาลตั้งใจอยากช่วยเศรษฐกิจเติบโต ขณะที่ประเทศไทยมีภาคเอกชนที่ค่อนข้างแข็งแรง แต่ประเด็นคือรัฐบาลของเราก็เปลี่ยนตลอด ส่งผลต่อความต่อเนื่องของนโยบาย ถ้ารัฐบาลมีเสถียรภาพก็จะทำให้เอกชนทำงานง่ายขึ้น”

สมชัย เลิศสุทธิวงค์

“AIS” กับ 3 ความท้าทายปี 2563

นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) กล่าวถึงความท้าทายในปี 2563 ว่า มี 3 เรื่อง เรื่องแรก คือการแข่งขัน ถ้ายังแข่งด้านราคาอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง ไม่ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคมโดยรวม การใช้โปรโมชั่นแย่งลูกค้าระยะสั้น เหมือนผู้บริโภคได้ประโยชน์ แต่จริง ๆ ไม่ใช่ ซึ่งทุกโอเปอเรเตอร์คงต้องเรียนรู้ ถ้ารักษาลูกค้าเก่าได้ดี นำเงินที่เอามาใช้กับแคมเปญการตลาดกับการแจกมือถือมาดูแลลูกค้า จะเป็นประโยชน์กับลูกค้าในระยะยาวมากกว่าความท้าทายที่สอง คือ “การลงทุนด้าน 5G”

“เราพร้อมสนับสนุนรัฐบาล แต่ก็โยงกลับมาที่การแข่งขัน การชิงความเป็นผู้นำ อาจทำให้เกิดโอเวอร์อินเวสต์เมนต์ ประกอบกับรัฐบาลไปเร่งผลักดันมากไป เช่น การลงทุนในพื้นที่อีอีซี ต้อง 50% เพื่อให้ได้เงื่อนไขในการจ่ายเงินที่ดี ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะมีความต้องการในการใช้งานแค่ไหน เหมือนลงทุนแล้วไปตายเอาดาบหน้าคือ ลงทุนไปก่อน กู้เงินมาใช้ก่อน ทั้งที่ยังไม่ออกดอกออกผล เราพร้อมลงทุนถ้ามีดีมานด์ เพราะถ้าทำไม่ดีจะเหมือนห้างคือเราไม่ได้จำเป็นต้องซื้อสินค้าแต่พอมีลดราคา 70-80% ก็ซื้อเหมือนถูก แต่จริง ๆแล้วแพง เพราะซื้อมาแล้วไม่ได้ใช้”

นายสมชัยกล่าวต่อว่า แม้ธุรกิจของเอไอเอสจะเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคและธุรกิจจำเป็นต้องใช้ แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันจึงถือเป็นความท้าทาย เรื่องที่ 3 ก็คือ แทนที่จะโตได้เยอะเพราะลงทุนมากขึ้น จากเดิมลงทุนแต่ละครั้งอยู่ได้ 10 ปี แต่วันนี้ลงทุน 4G ยังไม่ทัน 5 ปี ก็ต้องลงทุนใหม่ ด้วยต้นทุนที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้รายได้ที่เพิ่มขึ้นไม่ครอบคลุมต้นทุน ทำให้แทนที่จะโตในอัตราตัวเลข 2 หลัก ก็อาจโตเป็นตัวเลขหลักเดียว

“เราทำเรื่องออปติไมเซชั่นอยู่แล้ว เมื่อรายได้ไม่เพิ่มขึ้นมากก็ต้องคุมคอสต์ไม่ให้โตมาก อะไรที่ยังไม่จำเป็นก็ยังไม่ต้องใช้ แต่อะไรที่จำเป็นก็ต้องลง ไม่สามารถประหยัดได้ เพราะธุรกิจถ้าประหยัด ไม่ลงทุน จะมีปัญหาในอนาคต การทำออปติไมเซชั่น คือ เลือกทำในสิ่งที่จำเป็นต้องทำ อย่างเรื่องดิสรัปชั่น ไม่ใช่เราไม่โดนแต่เอไอเอสโชคดีที่อยู่ในสเตจที่ดีกว่าคนอื่น เพราะเราขยายธุรกิจฟิกซ์บรอดแบนด์ ขยายการทำตลาดในกลุ่มเอ็นเตอร์ไพรส์ ถ้าไม่มีขยายไปทำสิ่งใหม่ก็อาจต้องลดคนแต่พอขยายก็โยกคนไปทำสิ่งใหม่ได้ ไม่ใช่ไม่เผชิญเทคโนโลยีดิสรัปชั่น แต่ทำสิ่งใหม่เพื่อให้คนของเรา ธุรกิจของเราไปต่อได้”

ปิยะ ประยงค์

อสังหาฯเว้นวรรค 1 ปี รอฟื้นตัวปี’64

นายปิยะ ประยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มพฤกษา-แวลู บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปี 2562 ภาพรวมตลาดบ้าน-คอนโดมิเนียมมียอดขาย

ใหม่ติดลบ 15-20% เทียบกับปี 2561 ซึ่งมีภาวะบูมของสินค้าคอนโดฯอย่างเห็นได้ชัด และคาดว่าจะมีผลกระทบต่อเนื่องปี 2563 ภาพรวมตลาดยังไม่ดีมากนัก ประเมินแบบให้กำลังใจ คือ มีโอกาสทรงตัว หรือโต 5% นั่นหมายความว่า ยังเป็นปีที่ไม่สดใสสำหรับภาคธุรกิจอสังหาฯ โดยยอดขายปี 2562 ที่คาดว่าติดลบถึง 15-20% มีหลายปัจจัย โดยเฉพาะผลกระทบจากมาตรการ LTV-loan to value แบงก์ชาติบังคับเพิ่มเงินดาวน์ 20%ในการขอสินเชื่อซื้อหลังที่ 2 เป็นต้นไป ทำให้นักลงทุนและนักเก็งกำไรหายไปเกือบหมด ปัญหาเงินบาทแข็ง-เงินหยวนอ่อนค่า ทำให้อสังหาฯไทยแพงขึ้น จนลูกค้าจีนซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักชะลอการตัดสินใจซื้อ

ส่วนปัญหาในประเทศมาจากปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจไทย ในภาวะที่จีดีพีต่ำเพียง 2% กว่า ทำให้ตลาดกลาง-ล่างไม่มีกำลังซื้อ คนไทยเป็นหนี้เยอะ ตัวชี้วัดมาจากยอดปฏิเสธสินเชื่อในตลาดรวมสูงกว่าปกติ หรือเกิน 50% ตลาดกลาง-บน แม้มีกำลังซื้อสูง แต่ก็ไม่มั่นใจก็เกิดภาวะไม่ตัดสินใจเพราะต้องการรอช็อปของถูก

สรุปแล้วปี 2563 ไม่สดใส ต้องรอโอกาสฟื้นตัวในปี 2564 ที่คาดว่าปัจจัยลบทั้งเทรดวอร์ เศรษฐกิจและการเมืองในประเทศคลี่คลายในทางที่ดีขึ้น

“พฤกษาฯทำแผนรัดเข็มขัดองค์กรด้วยการหันกลับมาบริหารจัดการค่าใช้จ่ายตัวที่เป็นต้นทุนพัฒนาโครงการตั้งแต่กลางปี 2562 แล้ว เทรนด์การทำธุรกิจปีชวด แผนธุรกิจเป็นแผนตั้งรับไม่ใช่แผนรุกโฟกัสไปที่การระบายสต๊อกสะสมทั้งของเก่าและของใหม่ที่ทยอยสร้างเสร็จรวมกัน 1.2-1.4 หมื่นล้านเป็นหลัก”

ชฎาทิพ จูตระกูล

ท่องเที่ยวรัฐบาลต้องเทกแอ็กชั่น

นางชฎาทิพ จูตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท สยามพิวรรธน์ ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงการดำเนินธุรกิจในปี 2562 ที่ผ่านมาว่า เป็นปีที่ยากมาก เพราะมีตัวแปรซึ่งไม่สามารถคาดเดาว่าจะเกิดขึ้นถาโถมเข้ามาโดยเฉพาะค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมาก ซึ่งมีผลกระทบต่อการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติ เช่นเดียวกับสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ซึ่งมีผลต่อสภาวะเศรษฐกิจทั่วโลก สิ่งที่สยามพิวรรธน์ทำเพื่อรับมือก็คือ การโฟกัสไปที่ธุรกิจตลอดเวลา การทำให้องค์กรมีประสิทธิภาพสูงที่สุดและยืดหยุ่น เพื่อปรับเปลี่ยนกลยุทธ์รับกับสถานการณ์แต่ละช่วงเวลาอย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องดิจิทัลดิสรัปชั่น รวมถึงอีคอมเมิร์ซ ซึ่งตนเชื่อว่าท้ายที่สุด คนเรายังต้องพบปะมากกว่าการคุยกับแมชีน การสร้างประสบการณ์ให้ผู้บริโภค การมีบริการที่ดีจะทำให้ยึดโยงลูกค้าได้ อีกทั้งการมีศูนย์การค้าในมือเพียง 4 แห่ง คือ สยามพารากอน, สยามเซ็นเตอร์, สยามดิสคัฟเวอรี่ และไอคอนสยาม ทำให้สามารถโฟกัสการดำเนินงานของแต่ละแห่งได้อย่างเต็มที่

“แน่นอนว่าเป็นเรื่องยากเมื่อต้องสู้กับสิ่งที่คาดการณ์อะไรไม่ได้ แต่ตลอด 45 ปีของสยามพิวรรธน์ ไม่เคยทำอะไรไม่สำเร็จ เราไม่เคยต้องปิดศูนย์การค้า หรือพาผู้เช่าไปขาดทุน ผลงานที่ผ่านมาพิสูจน์ว่าเป็นแบบนั้น”

นางชฎาทิพกล่าวถึงผลดำเนินงานของกลุ่มบริษัท สยามพิวรรธน์ว่า เป็นไปตามที่ตั้งเป้าไว้ จากการปรับเปลี่ยนแนวทางการตลาด ลดโปรโมชั่นด้านราคา และหันมาทำ emotion marketing เพิ่มขึ้นรวมถึงการทำเมมเบอร์ชิปโปรแกรม ส่วนตลาดนักท่องเที่ยวแม้ว่าโดยรวมจะลดลง แต่การที่บริษัทมุ่งทำตลาดต่างประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ เน้นลูกค้ากลุ่ม FIT มานานแล้ว ไม่ได้เน้นกรุ๊ปทัวร์ ทำให้ยอดขายรวมยังไปได้

“ทุก ๆ ปีตลาดนักท่องเที่ยวจะมีการเติบโต แต่ปี 2562 ที่ผ่านมาค่อนข้างนิ่ง ๆ แต่ความคึกคักที่เพิ่มขึ้นในเดือนธันวาคม ทำให้มั่นใจว่าตลาดนักท่องเที่ยวน่าจะเสมอตัว ไม่ได้เพิ่มหรือลด”

สำหรับโครงการไอคอนสยาม ซึ่งเพิ่งเปิดบริการได้ครบ 1 ปีด้วยว่า อาจมีช่วงไตรมาสที่ 2 ซึ่งดูแผ่ว ๆ ไป แต่กลับมาดีขึ้นในครึ่งปีหลัง ทั้งเชื่อว่าจะดียิ่งขึ้นภายหลังรถไฟฟ้าเปิดให้บริการกลางปี 2563 จะช่วยพาคนที่อยากมาแล้วยังไม่ได้มาเนื่องจากกลัวปัญหาจราจรให้มาได้

นางชฎาทิพมองการดำเนินธุรกิจในปี 2563 ว่า ไม่ง่ายอย่างแน่นอน ทั้งจากปัญหาค่าเงิน และกำลังซื้อภายในประเทศ โดยสยามพิวรรธน์ได้ตั้งเป้าการเติบโตไว้ที่ 6-7% จากปกติจะต้องโต 8-9% และหากเห็นตรงกันว่าประเทศไทยอยู่ได้เพราะการท่องเที่ยว รัฐบาลควรเทกแอ็กชั่นมากกว่านี้ อาทิ เรื่องของ tax refund ที่ปัจจุบันยังมีปัญหาระยะเวลาจ่ายคืนนาน หรือการอำนวยความสะดวกเรื่องการเข้าเมือง ต้องรอคิว ตม.นานมาก รวมถึงการแก้ไขกฎระเบียบเพื่อดึงต่างชาติมาตั้งสำนักงานสาขาในประเทศไทย ฯลฯ

สุรช ล่ำซำ

ยิ่งบริษัทใหญ่ยิ่งต้องรัดเข็มขัด

นายสุรช ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ล็อกซเล่ย์ กล่าวว่า ความท้าทายสำคัญของธุรกิจในปี 2563 คือ การหาอนาคตใหม่ให้กับธุรกิจ เป็นอีกปีที่ถือว่ายาก ยิ่งบริษัทใหญ่ยิ่งต้องรัดเข็มขัด การลงทุนต้องเห็นผลได้เร็ว และต้องชัดเจนว่าทำแล้วจะได้ผลตอบแทนเท่าไร และเมื่อใด

สำหรับล็อกซเล่ย์มีการตั้ง “คณะกรรมการกลั่นกรองโครงการและการลงทุน” ขึ้นมาใหม่ เพื่อทำหน้าที่ในการพิจารณาการลงทุนและการเข้าประมูลในโครงการต่าง ๆ โดยมุ่งเน้นเฉพาะธุรกิจหลักที่มีความเชี่ยวชาญ และทำกำไรได้อย่างแท้จริง เพื่อลดความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ

“เมื่อก่อนด้วยความเป็นบริษัทใหญ่ มีคนมาชวนลงทุนทำนั่นทำนี่มากมาย เราก็ลงทุนไปเรื่อย แต่วันนี้ต่อให้มีเงินก็ทำแบบนั้นไม่ได้แล้ว ไม่ใช่คิดอะไรไม่ออก นึกถึงล็อกซเล่ย์มีหมดทุกอย่าง แต่นี่เป็นยุคที่จะต้องโฟกัสที่ธุรกิจหลัก ต้องล้างภาพความหลากหลาย แต่ต้องตอกย้ำภาพความเชี่ยวชาญในธุรกิจ สร้างกำไรอย่างยั่งยืน ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ยากจะคาดเดา”

ดังนั้น ในการจัดโครงสร้างองค์กรใหม่ของล็อกซเล่ย์ ที่มีผล 1 ม.ค. 2563 ที่ผ่านมา จึงแบ่งเป็น 5 แกนหลักที่เป็นความเชี่ยวชาญของล็อกซเล่ย์ ที่สามารถสร้างรายได้และทำกำไร พร้อมเติบโตในอนาคต ได้แก่ ธุรกิจพลังงาน, ธุรกิจไอที, ธุรกิจเน็ตเวิร์กโซลูชั่น, ธุรกิจบริการ และธุรกิจอาหารและการจัดจำหน่าย

“ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ล็อกซเล่ย์ได้ปิดบริษัทในเครือที่ไม่เกี่ยวข้องกับ core business ไปแล้วกว่า 30%”