เครื่องใช้ไฟฟ้า ระทึก! ตั้งการ์ดสู้ “โควิด-19”

ภาพจาก แฟ้มภาพ

การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ในจีนตั้งแต่ปลายปีที่แล้วบีบให้รัฐบาลปักกิ่งต้องขยายวันหยุดตรุษจีนที่ควรจะสิ้นสุดในวันที่ 30 ม.ค.ให้ยืดยาวไปจน 10 ก.พ. หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 2 สัปดาห์ รวมถึงยังมีการกักกันโรคและห้ามเดินทางในหลายเมือง ทำให้โรงงานจำนวนมากต้องหยุดสายการผลิตทั้งหมดหรือบางส่วนเพราะขาดแรงงาน ส่งผลเป็นลูกโซ่จนหลายอุตสาหกรรมเผชิญปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบตามไปด้วย

โดยเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นหนึ่งในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากหลายแบรนด์ต้องอาศัยชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์, คอมเพรสเซอร์ และอื่น ๆ จากจีนมาเป็นส่วนประกอบสินค้า ส่งผลให้แต่ละรายต้องงัดกลยุทธ์ออกมารับมือในระหว่างที่ซัพพลายชุดปัจจุบันยังเพียงพออยู่ ไม่ว่าจะเป็นการหันพึ่งโรงงานสาขาในประเทศอื่น ๆ การเจรจากับซัพพลายเออร์ในจีน รวมถึงการเจรจากับลูกค้าในไทยเพื่อยืดกำหนดส่งสินค้า

“ราณี สิทธิแก้ว” ผู้จัดการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายการตลาด ผลิตภัณฑ์ซิสเต็มโซลูชั่น บริษัท พานาโซนิค ซิว เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทนำเข้าสินค้าบางชิ้นจากโรงงานสาขาในประเทศจีน เช่น เครื่องวัดไฟฟ้าสถิต ซึ่งสถานการณ์ปัจจุบันทำให้สินค้าเหล่านี้ขาดตลาดชั่วคราว บริษัทจึงต้องรับมือด้วยการเจรจากับลูกค้าเพื่อยืดระยะเวลาส่งมอบสินค้า

ในกรณีจำเป็นจะนำเข้าสินค้าจากโรงงานในประเทศญี่ปุ่นมาทดแทน พร้อมชดเชยส่วนต่างราคาที่สูงกว่าการผลิตจากโรงงานในจีนเพื่อให้สามารถขายได้ในราคาปกติ เพื่อให้แผนรุกตลาดลูกค้าองค์กรด้วยโซลูชั่นและไลน์อัพสินค้าแบบครบวงจรในปีนี้สามารถเดินหน้าไปได้อย่างราบรื่น

ส่วนกลุ่ม “แอร์” ซึ่งกำลังจะเข้าสู่หน้าขายแล้วนั้น “ฉัตรชัย เตชะพานิช” ผู้จัดการฝ่ายการตลาดย้ำความมั่นใจว่า ได้กระจายสินค้ารุ่นปี 2563 ให้กับร้านค้าตั้งแต่เดือน ม.ค.แล้ว ทำให้ช่วงหน้าร้อนนี้ไม่กระทบแน่นอน ขณะนี้จึงเน้นจับตาและประเมินสถานการณ์สำหรับช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งเชื่อว่าจะดีขึ้นเพราะโรงงานหลายแห่งในจีนเริ่มกลับมาเดินเครื่องเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

ไปในทิศทางเดียวกับ “โตชิบา” ซึ่ง “กนิษฐ เมืองกระจ่าง” รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ ซึ่งรับหน้าที่บริหารฝั่งโรงงานด้วย ฉายภาพว่า บริษัทนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จากโรงงานในประเทศจีนและไต้หวันเช่นกัน การระบาดของไวรัส ทำให้กำลังผลิตของซัพพลายเออร์บางรายลดลง แต่บริษัทมีสต๊อกสินค้าและชิ้นส่วนเหลือพอสำหรับผลิต-ส่งขายถึงเดือน เม.ย. นอกจากนี้ บริษัทมีสถานะเป็นคู่ค้ารายหลักของซัพพลายเออร์หลายรายจึงได้รับชิ้นส่วน

เป็นรายแรก ๆ เมื่อโรงงานเหล่านั้นกลับมาผลิต จึงมั่นใจว่าช่วงไตรมาสแรกและหน้าร้อนนี้ จะสามารถทำตลาดแอร์รุ่นใหม่ทั้ง 9 รุ่นที่เป็นหัวหอกและสินค้าอื่น ๆ รวมกว่า 30 รายการที่เปิดตัวในปีนี้ได้อย่างไม่มีปัญหา รวมถึงสร้างการเติบโตของยอดขายได้ 15% ตามเป้าแน่นอน

“เพื่อความไม่ประมาทจึงกำลังเดินหน้าหาซัพพลายสำรองไว้เพื่อให้เพียงพอไปถึงเดือน มิ.ย.ด้วยการเจรจากับซัพพลายเออร์รายรองที่มีอยู่ รวมถึงประสานงานกับไมเดียที่เป็นพันธมิตรอย่างใกล้ชิดด้วยเช่นกัน”

อย่างไรก็ตาม ช่วงปลายเดือน ก.พ.นี้ เริ่มเห็นสัญญาณที่ดีขึ้นบ้างแล้ว โดย “โรเบิร์ต อู๋” หัวเรือใหญ่ของชาร์ปทั้งในประเทศไทยและมาเลเซีย อธิบายว่า ขณะนี้กำลังการผลิตในจีนเริ่มดีขึ้นตามลำดับ สะท้อนจากโรงงานทั้ง 5 แห่งในจีนของบริษัทมีพนักงานกลับมาทำงานได้ประมาณ 80-85% แล้ว หลังผ่านช่วงหยุดยาวตรุษจีนและครบกำหนดกักกันโรค ขณะเดียวกัน บริษัทยังมีแผนสำรองด้วยการอาศัยกำลังผลิตของโรงงานสาขาที่กระจายอยู่ในหลายประเทศของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ว่าจะเป็นไทย มาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ เพื่อ

ผลิตสินค้าทดแทนโรงงานในจีน ปัจจัยเหล่านี้ช่วยให้บริษัทจำกัดผลกระทบด้านสต๊อกสินค้าในช่วงการระบาดของไวรัสให้เหลือเพียงเล็กน้อยและไม่ส่งผลกับดีลเลอร์หรือลูกค้าปลายน้ำ

ขณะเดียวกัน สำหรับบางแบรนด์นั้น แม้จะไม่ได้รับผลกระทบด้านซัพพลาย แต่ต้องจับตาควันหลงผลกระทบทางเศรษฐกิจ-กำลังซื้อที่จะเกิดตามมา ซึ่งในเรื่องนี้ “ยาซุชิ โมริยามะ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค กันยงวัฒนา จำกัด อธิบายว่า เครื่องใช้ไฟฟ้าของบริษัทส่วนใหญ่ผลิตในประเทศไทยเกือบ 100% จะมีอีกเพียงเล็กน้อยที่นำเข้าจากญี่ปุ่น ในภาคของการผลิตจึงไม่ได้มีผลกระทบจากการนำเข้าสินค้าจากจีน ในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้

แต่เชื่อว่าผลกระทบจากไวรัสนั้นจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เพียงแต่ยังไม่สามารถประเมินได้อย่างชัดเจนในตอนนี้ ระหว่างนี้บริษัทจึงตัดสินใจเดินหน้ารุกตลาดตามแผนที่วางเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดตัวสินค้าใหม่ทั้งในกลุ่มเครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น พัดลม เพื่อกระตุ้นการจับจ่าย พร้อมกับการอัพเกรดบริการหลังการขายให้มีประสิทธิภาพ และตรงกับความต้องการของลูกค้ามากขึ้น

นอกจากแผนรับมือระยะสั้นแล้ว หลายแบรนด์ยังมองถึงแผนระยะยาวด้วย เช่น ไดกิ้น โดยสำนักข่าวนิกเคอิรายงานว่า อยู่ระหว่างพิจารณาย้ายไลน์ประกอบเครื่องปรับอากาศเชิงพาณิชย์จากเมืองอู่ฮั่นไปยังมาเลเซีย หรือประเทศอื่น ๆ เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาโรงงานในจีนทั้งที่อู่ฮั่น ซูโจว และเซี่ยงไฮ้ต่างได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ โดยขณะนี้โรงงานในซูโจวและเซี่ยงไฮ้ยังเปิดไลน์การผลิตได้เพียงบางส่วน

ขณะที่แหล่งข่าวรายหนึ่งเปิดเผยกับนิกเคอิว่า หากโรงงานในเมืองอู่ฮั่นยังถูกปิดต่อไป อาจต้องพึ่งกำลังการผลิตชิ้นส่วนหลัก ๆ อย่างคอมเพรสเซอร์จากโรงงานในญี่ปุ่นหรือประเทศไทยแทน

จากความเคลื่อนไหวเหล่านี้ทั้งดีลเลอร์และผู้บริโภคไทยน่าจะมั่นใจได้ว่าตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าหน้าร้อนนี้จะยังราบรื่น แต่ยังต้องรอดูกันว่าควันหลงด้านเศรษฐกิจจะส่งผลมากน้อยเพียงใด รวมถึงจะส่งผลอย่างไรกับทิศทางของตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าในช่วงครึ่งปีหลัง