“เซ็น” บูมครัวกลางลุยดีลิเวอรี่ ชะลอเปิดร้านรับมือโควิด-19

ไวรัสโควิด-19 ทุบน่วมธุรกิจร้านอาหาร ยอดขายหน้าร้านร่วง 15-30% “เซ็น คอร์ปอเรชั่น” เร่งปรับแผนธุรกิจ ทุ่มสร้างครัวกลาง 5 จุดหลัก รองรับออร์เดอร์ดีลิเวอรี่โต ผุดโมเดลใหม่ “ยืนขาย” เจาะพนักงานออฟฟิศ เผยแผนแตะเบรกลงทุนขยายสาขาลดความเสี่ยง ล่าสุดจับมือพาร์ตเนอร์ หาดทิพย์ ขยายร้านอาหารแบรนด์เขียง ปูพรม 14 จังหวัดภาคใต้

นายบุญยง ตันสกุล ประธานเจ้าหน้าที่ บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ZEN ผู้บริหารร้านเซ็น อากะ มูฉะ ออนเดอะเทเบิล เขียง ตำมั่ว ลาวญวน ฯลฯ เปิดเผยว่า จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ผู้คนเดินห้างน้อยลง รวมถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลง ส่งผลกระทบต่อภาพรวมธุรกิจร้านอาหารที่อยู่ในพื้นที่ศูนย์การค้า มีลูกค้าเข้ามาใช้บริการหน้าร้านลดลงกว่า 15-30% โดยเฉพาะร้านอาหารญี่ปุ่น ที่มีวัตถุดิบหลักเป็นปลาแซลมอน ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค ทั้งในเรื่องความสะอาดและความปลอดภัยของวัตถุดิบและการให้บริการต่าง ๆ

จากปัจจัยดังกล่าวทำให้ผู้ประกอบการร้านอาหารทั้งรายเล็ก และรายใหญ่ เดินหน้ากระตุ้นยอดขายผ่านช่องทางดีลิเวอรี่ ทั้งในรูปแบบของแพลตฟอร์มตัวเอง และจับมือกับพาร์ตเนอร์ อาทิ แกร็บฟู้ด ไลน์แมน ฟู้ดแพนด้า เป็นต้น ส่งผลให้ภาพรวมตลาดดีลิเวอรี่เติบโตขึ้นเป็นเท่าตัว หรือมีมูลค่ากว่า 50,000 ล้านบาท คาดว่าสิ้นปีนี้จะทำให้ดีลิเวอรี่เติบโตกว่า 1 แสนล้าน เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนมาสั่งซื้ออาหารกลับบ้านมากขึ้น โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมปรุง และผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมทาน

สำหรับแผนการดำเนินงานในปี 2563 เดินหน้าปรับกลยุทธ์สร้างรูปแบบการขายและการบริการใหม่ เริ่มจากการลงทุนพัฒนาครัวกลางรองรับดีลิเวอรี่ เริ่มจากการปรับพื้นที่ครัวของร้านอาหารญี่ปุ่นแบรนด์เซ็น ขึ้นเป็นครัวกลาง 5 สาขา ได้แก่ ดองกิ มอลล์ ทองหล่อ, สยามสแควร์ วัน, เดอะมอลล์ บางกะปิ, เดอะแจส วังหิน และอาคาร All Season ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีทราฟฟิกสูง รวมทั้งมีแผนจะนำแบรนด์ขายดีของเซ็นฯ เช่น มูฉะ ข้าวหน้าล้น และเขียง อาหารไทยตามสั่ง เข้ามาอยู่ในครัวกลาง เพื่อรองรับออร์เดอร์ดีลิเวอรี่ ผ่านเบอร์ โทร.1376 และแอปพลิเคชั่น

ของเซ็นฯ ควบคู่กับเตรียมโมเดลยืนขาย หรือไดเร็กต์เซล เป็นการจัดทำข้าวกล่องอาหารเช้า อาหารตามสั่ง ข้าวปั้นญี่ปุ่น ราคาถูก เจาะกลุ่มลูกค้าพนักงานตามอาคารสำนักงานต่าง ๆ

ส่วนการขยายสาขาในปีนี้ต้องชะลอการลงทุนเอง และจะเพิ่มความระมัดระวังในการขยายสาขา โดยจะเน้นไปที่รูปแบบร้านขนาดเล็ก เนื่องจากใช้งบฯลงทุนไม่สูงมาก ซึ่งปีนี้ได้ลดงบฯลงทุนเหลือเพียง 80 ล้านบาท จากเดิมตั้งไว้ 200 ล้านบาท และจะขยายสาขาเพียง 40 สาขา จากเดิม 80 สาขา หันโฟกัสแบรนด์ “เขียง” ร้านอาหารไทยจานด่วน ราคาเข้าถึงง่าย ด้วยรูปแบบของแฟรนไชส์ ทั้งการจับมือกับพันธมิตร การแต่งตั้งผู้ประกอบการในท้องถิ่นที่สนใจธุรกิจร้านอาหาร เพื่อให้สิทธิ์แฟรนไชส์ขยายสาขาในแต่ละจังหวัด

ล่าสุดบริษัทได้จับมือกับบริษัท หาดทิพย์ จำกัด (มหาชน) หรือผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มโคคา-โคลา ใน 14 จังหวัดภาคใต้ ตั้งบริษัท กินดีอยู่ดี 2020 จำกัด โดยหาดทิพย์ถือหุ้น 75% เซ็น คอร์ปอเรชั่น 25% เพื่อขยายร้านเขียงใน 14 จังหวัดภาคใต้ เป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการขยายสาขาในภาคใต้ ให้มีความรวดเร็วและครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยตอนนี้ได้เริ่มทยอยเปิดไปแล้ว 2 สาขา ในจังหวัดสงขลา และตั้งเป้าจะเปิดให้ครบทุกจังหวัด จากปัจจุบันเซ็นฯมีร้านอาหารทั้งหมด 360 สาขา เป็นร้านในศูนย์การค้า 60% นอกศูนย์การค้า 40% กระจายอยู่ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ

“2 เดือนแรกที่ผ่านมา ผลพวงจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอ และมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เข้ามาด้วย ทำให้ยอดขายลดลง 20% และจากสถานการณ์ที่ยังไม่รู้ว่าจะมีแนวโน้มอย่างไร เบื้องต้น บริษัทจึงได้ลดเป้ายอดขายปีนี้เหลือเติบโต 5-10% จากเดิมคาดเติบโต 15-20% จากปีที่ผ่านมามีรายได้ 3,144 ล้านบาท เติบโต 6% แบ่งเป็นรายได้จากการขายอาหารและเครื่องดื่ม 3,026 ล้านบาท และรายได้จากการขายแฟรนไชส์ 75.9 ล้านบาท” นายบุญยงกล่าว