ไวรัสดันฟู้ดดีลิเวอรี่โตเดือด รัฐเร่งจัดระเบียบ-ร้านค้าแบกค่าส่งอ่วม

แกร็ปฟู้ดส GRAB FOOD

วิกฤตโควิดดัน “ฟู้ดดีลิเวอรี่” โตเดือด ร้านอาหารกระอักค่าธรรมเนียม กูรูดิจิทัลชี้ดีมานด์ทะลักเข้าทางเจ้าของแพลตฟอร์มโกยรายได้ล้างขาดทุน ร้านค้าไร้อำนาจต่อรอง “กรมการค้าภายใน” บี้ส่งโครงสร้างราคา หวังจัดระเบียบสร้างมาตรฐานค่าบริการ

นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ Chief Government Affairs Officer สมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย และกรรมการบริหาร บริษัท ตลาด ดอท คอม กรุ๊ป จำกัด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ไวรัสโควิด-19 ผลักดันให้ผู้บริโภคใช้ “ฟู้ดดีลิเวอรี่” ผ่านแอปพลิเคชั่นมากขึ้น และมีการปรับค่าธรรมเนียมในการใช้บริการ (GP) ที่ร้านค้าต้องจ่ายได้ขยับขึ้นไปอยู่ที่ 30-35% ร้านค้าไร้อำนาจต่อรอง”โควิด-19 ทำให้อำนาจต่อรองของผู้ใช้แพลตฟอร์มหายไป ผู้บริโภคอาจมีอำนาจต่อรองบ้าง แต่ร้านค้าไม่มีแล้ว แม้ในตลาดจะมีผู้ให้บริการรายใหญ่ถึง 4 ราย คือ แกร็บ, ไลน์แมน, เก็ท และฟู้ดแพนด้า แต่กลไกราคากลับไม่ได้ทำงานเต็มที่ แต่ละรายเก็บในอัตราใกล้กัน”

นายภาวุธมองว่า ภาครัฐควรใช้กลไกช่วยให้ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันได้ เพราะภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้เป็นไปได้ยากที่จะมีผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามา แม้เซเว่นอีเลฟเว่นจะรุกเข้าสู่ธุรกิจดีลิเวอรี่ แต่เป็นคนละเซ็กเมนต์ อีกทั้งธุรกิจนี้ต้องเผาเงินหนักมาก เพื่อให้ได้ฐานผู้ใช้และฐานร้านค้า ซึ่งก่อนหน้านี้ทุกรายขาดทุนหนัก แต่สถานการณ์โควิด-19 ทำให้ถึงจุดคุ้มทุนเร็วกว่าที่แต่ละรายประเมินไว้

ฟู้ดดีลิเวอรี่โตพรวด 35-40%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า วันที่ 22 มี.ค.-30 เม.ย. 2563 ที่มีการปิดสถานประกอบการ ทำให้มูลค่าตลาดบริการ “ฟู้ดดีลิเวอรี่” ขยายตัว 35-40% เทียบช่วงเวลาปกติ หรือเพิ่มขึ้นจาก 3,300 ล้านบาท เป็น 4,500 ล้านบาท ผู้ประกอบการควรปรับตัวเพิ่มช่องทางสร้างรายได้เพื่อเข้าถึงลูกค้ากลุ่มใหม่ ไม่ว่าจะผ่านช่องทางของตนเอง หรือร่วมกับผู้ประกอบการที่พัฒนาแอปพลิเคชั่นส่งอาหาร ทั้งคาดการณ์ว่า ตลาด e-Commerce มีแนวโน้มโตขึ้น 20-30% หรือเพิ่มจาก 26,200 ล้านบาท เป็น 33,000 ล้านบาท จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่ไม่สามารถใช้จ่ายผ่านช่องทางหน้าร้าน

หวังจัดระเบียบมาตรฐานราคา

ด้านนายประโยชน์ เพ็ญสุต รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า อยู่ระหว่างติดตามข้อมูลอัตราค่าบริการของผู้ให้บริการดังกล่าว โดยให้แต่ละรายส่งรายละเอียดอัตราการคิดค่าบริการภายใน 7 วัน นับตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค.ที่ผ่านมา เพื่อนำมาวิเคราะห์มาตรฐานการคิดค่าบริการ และต้นทุน เพื่อให้ทุกฝ่ายอยู่ได้ เป็นการสร้างความเป็นธรรม เนื่องจากได้รับความนิยมมากขึ้น

ขนส่งจ่อออก กฎหมายคุม

นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบัน พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ. 2522 ไม่มีการกำหนดเรื่องการคิดค่าบริการส่งของและอาหาร เนื่องจากเป็นธุรกิจใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น และเติบโตสูงช่วงที่ผ่านมา หากจะดำเนินการได้เร็ว ต้องเป็นหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ที่ต้องตรวจสอบ เพื่อความเป็นธรรมกับผู้ใช้บริการ ทั้งร้านค้าและผู้บริโภค

“กรมอาจต้องปรับปรุงข้อกฎหมายให้ครอบคลุมถึงเรื่องการกำหนดค่าส่งฟู้ดดีลิเวอรี่ นอกเหนือจากการคุมค่าโดยสารรถแท็กซี่และวินมอเตอร์ไซค์”

ชำแหละเครือข่าย “คนส่ง-ร้านค้า”

ในไทยปัจจุบันมีผู้ให้บริการฟู้ดดีลิเวอรี่รายใหญ่ 4 ราย ได้แก่ แกร็บ เปิดได้ 2 ปีกว่า แต่ส่วนแบ่งตลาดมากที่สุดทั้งยอดออร์เดอร์ช่วงปกติกว่า 1 ล้านออร์เดอร์/เดือน และช่วงวิกฤตโควิด-19 โตขึ้นกว่า 3 เท่า มีร้านอาหารสมัครเข้าใช้เฉลี่ย 2,000 ร้านค้า/วัน สูงกว่าปกติ 3 เท่า จากข้อมูลแกร็บ ณ สิ้นปีที่แล้ว มีพาร์ตเนอร์ “คนขับ” ราว 1 แสนคน และเปิดรับเพิ่มกว่า 29,000 คน ช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา และจะเปิดรับอีกกว่า 35,000 อัตรา ในเดือน เม.ย.นี้

ส่วนไลน์แมน (LINE MAN) ณ สิ้นปี 2562 มีเครือข่ายคนขับ 50,000 ราย มีโมเดลคิดค่าบริการทั้งคิดตามระยะทาง ส่วนนี้ผู้บริโภครับผิดชอบ เว้นแต่ร้านค้าต้องการเข้าร่วมทำโปรโมชั่นค่าส่งราคาถูกก็จะเรียกเก็บค่าธรรมเนียม25-30% ขณะที่ foodpanda คิดค่าธรรมเนียม 30-35% มีคนขับ 30,000 คนGET FOOD มีร้านค้าในระบบกว่า 20,000 ร้านมีคนขับราว 40,000 คน