ค้าปลีกดีมานด์พุ่ง เปิดศึกชิงตัวพนักงานจ้าละหวั่น

คอลัมน์ Market Move

แม้ว่าในสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรจะออกมาตรการปิดธุรกิจที่ไม่จำเป็นและให้ประชาชนเก็บตัวอยู่ในบ้าน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่ภาพของธุรกิจค้าปลีก ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ รวมถึงสินค้าอุปโภคบริโภค กลับคึกคักมากกว่าที่เคย โดยเฉพาะการเร่งประกาศรับสมัครงานกันจ้าละหวั่น ตั้งแต่หลักพันถึงหลักหมื่นตำแหน่ง ไปจนถึงการปรับลดขั้นตอนและระยะเวลาพิจารณาผู้สมัครลง เพื่อชิงตัวผู้สมัครให้ได้ก่อนคู่แข่ง

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ผู้ประกอบการค้าปลีกทั้งในสหรัฐ และอังกฤษ ต่างแสดงความกังวลถึงดีมานด์สินค้าไม่ว่าจะเป็นของใช้ อาหารและเครื่องดื่มที่จะพุ่งสูงขึ้นในช่วงมาตรการกักกันโรค จนอาจทำให้ร้านค้า และระบบโลจิสติกส์ที่มีอยู่รองรับไม่ไหว

โดยแหล่งข่าวในวงการค้าปลีกเมืองผู้ดีรายหนึ่งกล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์สว่า มีความเป็นไปได้สูงมากที่ระบบค้าปลีกของอังกฤษจะไม่สามารถรองรับดีมานด์ของประชากรกว่า 60 ล้านคน ในช่วงกักกันโรคได้ เนื่องจากการปิดร้านอาหาร, ผับ-บาร์, โรงอาหารของออฟฟิศ และโรงเรียน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึง 30% ของการบริโภคอาหารทั้งประเทศ จะทำให้ผู้บริโภคจำนวนมากต้องหันมาซื้ออาหาร, เครื่องดื่ม และวัตถุดิบต่าง ๆ จากร้านค้าปลีกแทน สะท้อนจากยอดขายช่วง 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงปกติถึง 20% หรือคิดเป็นเม็ดเงิน 1 พันล้านปอนด์ แม้รัฐบาลยังไม่ประกาศนโยบายกักกันโรค

แต่ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ความสามารถในการให้บริการของร้านค้าปลีกลดลง เนื่องจากมาตรการรักษาระยะห่างทำให้ต้องจำกัดจำนวนลูกค้าในร้าน และจำกัดจำนวนสินค้าบางชนิด ส่งผลให้เกิดภาพการต่อคิวยาวเหยียดในหลายสาขา นอกจากนี้ ยังมีความเป็นไปได้สูงที่ในระยะยาวพนักงานส่วนหนึ่งอาจต้องลางานเพราะติดโรค หรือต้องดูแลครอบครัว

สอดคล้องกับความเคลื่อนไหวของค้าปลีกใหญ่ 4 รายของอังกฤษ คือ “เซนส์บิวรีส์” “เอเอสดีเอ” “มอร์ริสัน” และ “เทสโก้” โดยลำพังเทสโก้รายเดียวจ้างพนักงานเพิ่มไปแล้วกว่า 3.5 หมื่นคน แม้จะมีพนักงานอยู่แล้วกว่า 3.4 แสนคนก็ตาม โดยพนักงานใหม่เหล่านี้จะมาสนับสนุนในส่วนงานหลังร้าน เช่น จัดเรียงสินค้า ค้นหาสินค้าสำหรับออร์เดอร์ออนไลน์ ขับรถขนส่ง รวมถึงเป็นตัวสำรองสำหรับพนักงานที่ลาหยุดเพราะติดโรคหรือกักกันโรคอีกด้วย

Advertisment

“ค้าปลีกกำลังเจอกับปัญหางูกินหาง เพราะหากไม่ขยายเวลาให้บริการก็จะไม่สามารถรองรับดีมานด์ได้ทัน แต่ขณะเดียวกันหากขยายเวลาจะไม่สามารถเติมสินค้า และจัดการออร์เดอร์ออนไลน์ได้ทัน รวมถึงพนักงานจะรับภาระมากเกินไปอีกด้วย” แหล่งข่าวอีกรายอธิบาย

ข้ามมายังฝั่งสหรัฐอเมริกา ค้าปลีกรายใหญ่ทั้ง “โครเกอร์” (Kroger) และ “วอลมาร์ต” (Walmart) ต่างจ้างพนักงานเพิ่มด้วยเช่นกัน โดยโครเกอร์ประกาศแผนเพิ่มจำนวนพนักงานทั้งพาร์ตไทม์ และฟูลไทม์อีก 1.5 แสนคนภายในเดือนพฤษภาคม พร้อมลดขั้นตอนการพิจารณาประวัติ-สัมภาษณ์ลงเหลือไม่เกิน 72 ชั่วโมงต่อคน ทั้งนี้ ปัจจุบันเซ็นสัญญาไปแล้วกว่า 2.5 หมื่นคน หลังฝ่ายบุคคลทำงานแบบต่อเนื่อง 7 วันต่อสัปดาห์

นอกจากนี้ ยักษ์ค้าปลีกยังจับมือกับบรรดาธุรกิจที่ลูกค้าลดลง หรือปิดชั่วคราว อย่างเครือโรงแรมแมริออท รวมถึงผู้ให้บริการด้านฟู้ดเซอร์วิสทั้งโซเด็กซ์โซ่ และซิสโค เพื่อว่าจ้างพนักงานของธุรกิจเหล่านี้ ไปจนถึงผู้ที่ถูกเลิกจ้าง หรือลาโดยไม่รับค้าจ้างมาเป็นกำลังหนุนแบบชั่วคราว

ส่วนวอลมาร์ตนั้น ลดขั้นตอนการจ้างงานลง โดยหนุนให้ผู้สมัครส่งประวัติผ่านเว็บไซต์ หรือแม้แต่แสดงความสนใจผ่านข้อความ SMS และให้ผู้จัดการสาขามีอำนาจตัดสินใจจากการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ได้ เพื่อเร่งหาพนักงานมาเสริมในตำแหน่งแคชเชียร์ และจัดการคลังสินค้า ด้าน “สควอว์ก บอกซ์” (Squawk Box) ลดกระบวนการพิจารณาจาก 3 สัปดาห์ เหลือเพียง 3 ชั่วโมง

Advertisment

แม้แต่แบรนด์สินค้าเองมีท่าทีไปในทิศทางเดียวกัน โดย “สตีเฟน วิลเลียม” ซีอีโอของเป๊ปซี่ ประจำทวีปอเมริกาเหนือระบุว่า บริษัทกำลังเร่งหาพนักงานประจำเพิ่มอีก 6,000 อัตรา เพื่อเสริมทัพทีมงานเดิมที่มีกว่า 9 หมื่นคนทั่วสหรัฐ เพื่อลดภาระงานของพนักงานโดยรวม และสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคว่าสินค้าจะเพียงพอ และส่งถึงร้านค้าได้อย่างราบรื่นตามกำหนด

นอกจากนี้ หลายรายยังนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยลดภาระของพนักงาน เช่น เพิ่มช่องคิดเงินด้วยตนเอง รวมถึงขอความร่วมมือให้ลูกค้าปรับความถี่ในการช็อปเป็นสัปดาห์ละครั้ง เพื่อลดความหนาแน่นในร้าน

ความเคลื่อนไหวนี้สะท้อนถึงความท้าทายของค้าปลีกที่ต้องหาทางรับมือกับดีมานด์ที่พุ่งสูงเกินคาดในช่วงโรคระบาด ซึ่งต้องรอดูกันว่าวิธีการใดจะได้ผลดีที่สุด