หรือหมดยุคโรงภาพยนตร์ “ดิสนีย์” หันป้อนหนังให้สตรีมมิ่ง

สาเหตุที่ตลอดหลายปีที่ผ่านมาธุรกิจโรงหนังสามารถต้านทานกระแสสตรีมมิ่งได้นั้น เป็นเพราะมีเส้นเลือดใหญ่อย่างสตูดิโอหนังคอยหล่อเลี้ยงด้วยการส่งหนังใหม่ ๆ มาฉายในโรงเป็นช่องทางแรก พร้อมข้อกำหนดเว้นช่วงเวลานานถึง 90 วัน ก่อนที่หนังเหล่านั้นจะไปปรากฏบนสตรีมมิ่ง จนอาจเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในความสัมพันธ์ทางธุรกิจที่เหนียวแน่นมาก

แต่ความสัมพันธ์นี้อาจจะขาดสะบั้นลงในปีนี้แล้ว หลังการประกาศปรับยุทธศาสตร์หันมาโฟกัสช่องทางสตรีมมิ่งของ “ดิสนีย์” ยักษ์ใหญ่แห่งวงการหนัง ซึ่งมีสตูดิโอบิ๊กเนมในสังกัดหลายสตูดิโอ ไม่ว่าจะเป็นลูคัสฟิล์ม, มาร์เวลสตูดิโอ, ทเวนตี้ เซนจูรี่, พิกซ่าร์ และอื่น ๆทำให้วงการโรงหนังโดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาต้องสั่นสะท้านยิ่งกว่าวิกฤตโควิด-19 ที่ทำให้ต้องปิดบริการมานานหลายเดือนเสียอีก

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่าดิสนีย์ได้ประกาศปรับโครงสร้างหน่วยธุรกิจสื่อบันเทิงใหม่ โดยแยกฝ่ายครีเอทีฟออกจากฝ่ายจัดจำหน่ายหรือสายหนังที่มีหน้าที่ส่งหนังให้กับช่องทางต่าง ๆ เพื่อเร่งสปีดการเติบโตของบริการสตรีมมิ่งทั้ง “ดิสนีย์พลัส”และแพลตฟอร์มอื่น ๆ ในเครืออาทิ อีเอสพีเอ็นพลัส และฮูลู หลังทั้ง 3 แพลตฟอร์มเติบโตก้าวกระโดดจนมียอดผู้ใช้บริการรวมกันมากกว่า 100 ล้านบัญชีแล้ว สะท้อนแนวโน้มการเสพสื่อบันเทิงทางออนไลน์ที่มาแรงขึ้นเรื่อย ๆ

แม้ดิสนีย์จะย้ำว่าบริษัทจะยังหนุนโรงหนังต่อไป แต่ “บ็อบ ชาแพ็ก” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของดิสนีย์ ยังยอมรับว่า บริษัทให้น้ำหนักกับสตรีมมิ่งเพิ่มขึ้นอย่างมาก และจะมีการประกาศโมเดลการส่งหนังเข้าโรงใหม่ในวันที่ 10 ธันวาคมนี้ เมื่อรวมกับการตัดสินใจนำหนังใหม่หลายเรื่อง อาทิ มู่หลาน และโซลไปฉายบนดิสนีย์พลัส ก่อนลงโรงหนังในช่วงที่ผ่านมา ได้จุดประเด็นความสงสัยว่า หลังจากนี้ ยักษ์บันเทิงจะยังสนับสนุนผู้ประกอบการโรงหนังมากน้อยเพียงใด

โดยนักวิเคราะห์ธุรกิจและการลงทุนในสหรัฐหลายสำนักให้ความเห็นไปในทางเดียวกันว่า ดิสนีย์ยังไม่สามารถทิ้งโรงหนังได้ในเร็ว ๆ นี้แน่ เพราะสำหรับหนังใหญ่ระดับบ็อกซ์ออฟฟิศนั้น โรงหนังยังสร้างเม็ดเงินได้สูงกว่าแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งมาก เช่น หนังบ็อกออฟฟิศทุนสร้างระดับ 2 พันล้านเหรียญสหรัฐนั้นหากฉายในโรงหนังทั่วโลกจะสร้างกำไรกลับมาถึง 800 ล้านเหรียญสหรัฐได้ง่าย ๆ ในขณะที่โมเดลออนดีมานด์ที่ดิสนีย์ใช้เผยแพร่มู่หลานนั้นยากจะสร้างกำไรได้ในระดับเดียวกัน

“ในระยะยาวสตรีมมิ่งจะแข็งแกร่งกว่าโรงหนัง และทีวีแน่นอน แต่ ณ ตอนนี้ยังไม่มีช่องทางไหนเอาชนะรายได้จากการฉายหนังโรงทั่วโลกได้ ทำให้เป็นเรื่องยากที่ดิสนีย์จะทิ้งช่องทางนี้” ริชกรีน ฟิลด์ นักวิเคราะห์ของไรท์เชทพาร์ตเนอร์ บริษัทวิจัยด้านเทคโนโลยีและสื่อกล่าวไปในทิศทางเดียวกับความเห็นของ “มิเชล นาธานสัน” นักวิเคราะห์จากมอฟเฟตนาธานสัน ที่กล่าวว่า การนำหนังที่ทุ่มทุนสร้างมาเพื่อฉายในโรงไปเผยแพร่บนสตรีมมิ่งแทนนั้นจะกระทบทั้งรายได้และผลกำไรของสตูดิโอ

อย่างไรก็ตาม ยังต้องจับตาดูว่าหลังวิกฤตโควิด-19 ในสหรัฐอเมริกา และอีกหลายประเทศจะยังมีผู้ประกอบการโรงหนังเหลืออยู่กี่ราย เพราะแม้แต่รายใหญ่อย่าง “เอเอ็มซี” ยังออกมายอมรับว่า หากสถานการณ์การระบาดยังไม่ดีขึ้น เงินสดของบริษัทจะหมดภายในสิ้นเดือนธันวาคมนี้แล้ว และก่อนหน้านี้ “ซีนีเวิลด์” เจ้าของเชนโรงหนัง “รีกัล ซีนีม่า” ได้ประกาศปิดโรงหนังทั้งหมด 663 แห่งทั้งในสหรัฐและสหราชอาณาจักรแบบไม่มีกำหนด เพราะไม่มีหนังเข้าฉาย