อุตฯ หนังสือดิ้นปรับตัวหนัก PUBAT เร่งจัดบุ๊กแฟร์ออนกราวน์ควบออนไลน์

อุตฯ หนังสือไทยยังหนัก โควิด-เทคโนโลยี ดิสรัปต์ทุบยอดขายปี 63 เหลือ 271 ล้านบาท PUBAT เร่งปรับตัวจัดงานออนกราวน์ควบออนไลน์ หวังเพิ่มยอดขาย ดันเงินสะพัดทั้งปี 600 ล้าน พร้อมปักธงจัดงานเมืองรองเพิ่ม

โควิด-เทคโนโลยี ดิสรัปต์อุตฯหนังสือร่วง

นางสาวโชนรังสี เฉลิมชัยกิจ นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จัดจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย หรือ PUBAT เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาแม้ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติจะประมวลว่าในทุก ๆ ปีคนไทยมีแนวโน้มอ่านสูงขึ้น อาทิ ปี 56 อ่านนาน 37 นาที, ปี 58 อ่านนาน 66 นาที และปี 61 อ่านนาน 80 นาที

อย่างไรก็ดี มูลค่าอุตสาหกรรมหนังสือไทยกลับลดลงมาก เมื่อเทียบกับ 10 ปีก่อนที่มีมูลค่าตลาดรวมสูงถึง 25,000 ล้านบาท แต่ในปี 63 เกิดการแพร่ระบาดโควิด กระทบกับการจัดงานบุ๊กแฟร์ และร้านหนังสือ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในห้างต้องถูกล็อกดาวน์ไร้ยอดขายนานกว่า 3 เดือน ส่งผลให้ภาพรวมตลาดหนังสือในปีก่อนเหลือเพียง 12,000 ล้านบาท จากที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 18,000 ล้านบาท

โชนรังสี เฉลิมชัยกิจ

“แม้ภาพรวมอุตสาหกรรมหนังสือจะลดลงทุกปีอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งการดิสรัปต์จากเทคโนโลยีและโควิด แต่ในปี 64 มีแนวโน้มดีขึ้น จากปัจจัยบวกสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดมีแนวโน้มดีขึ้น ผนวกกับการปรับตัวของสำนักพิมพ์กับนักเขียนต่าง ๆ รวมไปถึงการกลับมาจัดงานหนังสือเพื่อจำหน่ายหนังสือได้ จะทำให้ปีนี้อุตสาหกรรมหนังสือไทยมีมูลค่าราว 15,000 ล้านบาท”

เดินหน้าลุยขายหน้างานควบออนไลน์

นางสาวโชนรังสี กล่าวต่อไปว่า ในปี 63 มีรายได้รวมจากงานบุ๊กแฟร์เหลือเพียง 271 ล้านบาท จากในปี 62 มีรายได้รวมราว 788 ล้านบาท

Advertisment

ซึ่งมีสาเหตุหลัก ๆ จากการงดการชุมนุมเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโควิด ทำให้สเกลงานบุ๊กแฟร์ต้องเปลี่ยนไปจัดในรูปแบบออนไลน์ และไฮบริดจำกัดจำนวนคน ส่วนบางงานต้องยกเลิกไปอย่างน่าเสียดาย ส่งผลให้ยอดขายหายไปกว่า 80%

อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจผู้เข้าร่วมงานหนังสือในปีที่ผ่านมาเป็นที่น่าสนใจว่า พฤติกรรมการซื้อหนังสือเปลี่ยนไปมีหลายช่องทางขึ้น ทั้งการซื้อจากร้านหนังสือ 81%, การซื้อจากงานหนังสือ 61%, การสั่งซื้อออนไลน์รูปแบบเล่ม 51% และการซื้ออีบุ๊ก 20%

“ดังนั้นในปีนี้เราจึงตั้งใจจะจัดงานรูปแบบออนกราวน์ควบคู่กับออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์ ThaiBookFaie.com เพื่อรองรับความนิยมซื้อออนไลน์ของผู้บริโภค ซึ่งจะทำให้เราหารายได้เพิ่มเป็น 2 ช่องทาง”

และด้วยตลาดอีคอมเมิร์ซที่ใหญ่และมีการเติบโตสูงถึง 300-500% ในปีที่ผ่านมา ทำให้สมาคมฯ ตัดสินใจจับมือกับลาซาด้า ช็อปปี้ และเจดีเซ็นทรัล เพื่อขายหนังสือผ่านทางช่องทางดังกล่าวเพิ่มเติม โดยคาดว่าจะมีสัดส่วนขายผ่านช่องทางออนไลน์และอีคอมเมิร์ซราว 25-30% ส่วนที่เหลือจะเป็นช่องทางออนกราวน์

Advertisment

ปักธงเมืองรอง

นอกจากนี้ จากการเก็บดาต้าผู้ร่วมงานในปี 63 ทางออนไลน์พบว่า มีผู้บริโภคในเมืองรอง อาทิ อยุธยา สุราษฎร์ธานี เข้าร่วมงานและมีมู้ดการจับจ่ายค่อนข้างสูง

ดังนั้น สมาคมผู้จัดฯ จึงเล็งเห็นโอกาสการจัดงานหนังสือในจังหวัดเหล่านี้ โดยในปีนี้นอกจากจะจัดตามหัวเมืองใหญ่ตามภูมิภาคต่าง ๆ อาทิ เชียงใหม่ หาดใหญ่ ยังปักธงเตรียมจัดในเมืองรองอื่น ๆ เช่น สุราษฎร์ธานี โคราช แต่สเกลงานจะเล็กกว่าในกรุงเทพฯ เนื่องจากจำนวนประชากรน้อยกว่า

ดึงอินฟลูเอนเซอร์-อัดโปรโมชั่นกระตุ้นยอด

ส่วนทิศทางการทำการตลาดเพื่อดึงคนให้เข้างานภายในปีนี้จะชูคอนเซ็ปต์ “อ่านเท่” สร้างค่านิยมให้คนไทยมองการอ่านในทิศทางบวก โดยดึงกลุ่มอินฟลูเอนเซอร์จำนวน 49 คนในหลายอาชีพที่ประสบความสำเร็จเพราะการอ่านมาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ อาทิ ตัน-ภาสกรนที, อุ๋ย บุดดาเบลส, กรณ์ จาติวกณิช

ควบคู่กับการจัดทำโปรโมชั่นเมื่อซื้อหนังสือล่วงหน้าจำนวน 400 บาท รับฟรีอีคูปองจำนวน 500 บาท เพื่อใช้เป็นส่วนลดการซื้อหนังสือทั้งหน้างานและออนไลน์ ซึ่งจะเริ่มจำหน่ายเร็ว ๆ นี้ เพื่อดักการใช้เงินของผู้บริโภคในช่วงก่อนวันสงกรานต์ เนื่องจากงานสัปดาห์หนังสือครั้งที่ 49 และงานสัปดาห์หนังสือนานาชาติครั้งที่ 19 จัดอยู่ระหว่างวันที่ 17-25 เมษายน 2564

แม้กลยุทธ์ทางการตลาดจะคิดมาอย่างรอบด้าน แต่ทว่าในแง่ของกำลังซื้อของผู้บริโภคและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังเกิดไม่เต็มที่ จะเห็นได้จากบูธในงานมีสำนักพิมพ์ร่วม 223 สำนักพิมพ์ จากปีก่อน ๆ ที่มีราว 320-280 สำนักพิมพ์ จากจำนวนสมาชิกทั้งหมด 400 สำนักพิมพ์

ทั้งนี้ ในปี 64 คาดว่าจะทำรายได้จากการจัดงานหนังสือราว 200 ล้านบาท/งาน หากรวมทุกงานทั้งปีจะมีรายได้ตกอยู่ที่ 600 ล้านบาท แบ่งเป็น งานสัปดาห์หนังสือในกรุงเทพฯ และในภูมิภาคต่าง ๆ อาทิ หัวเมืองใหญ่อย่างเชียงใหม่ ขอนแก่น