วิกฤตชิปคอมพ์ขาดแคลน เครื่องใช้ไฟฟ้า-มือถือจ่อขึ้นราคา

เครื่องใช้ไฟฟ้า-ชิปขาดตลาด

ชิปคอมพิวเตอร์ขาดหนักลามถึงเครื่องใช้ไฟฟ้า ส่อลากยาวถึงสิ้นปี กระทบทุกค่ายส่งผลให้ราคาสินค้าขยับ 10-20% “ซัมซุง” กัดฟันตรึงราคาเบนเข็มเจาะตลาดบน “โตชิบา” เร่งหาซัพพลายเออร์รายใหม่ทดแทน ส่วนมือถือโดนด้วย “เสี่ยวหมี่” ชี้ปัญหาชิปเซตขาดต้นเหตุราคาสมาร์ทโฟนขยับ ผู้นำเข้า-จำหน่ายมือถือชี้กระทบไทม์ไลน์เปิดตัวสมาร์ทโฟน 5G ครึ่งปีแรก

วิกฤตขาดแคลนชิปคอมพิวเตอร์ที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2564 และผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ดีมานด์อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์พุ่งสูงขึ้น ทั้งคอมพิวเตอร์ แท็บเลต เครื่องเกม ฯลฯ และผู้ผลิตรถยนต์ ซึ่งปีนี้มียอดสั่งซื้อสูงกว่าที่คาด

รวมถึงธุรกิจโทรคมนาคมที่เดินหน้าขยายเครือข่าย 5G ทำให้ผู้ผลิตที่มีไม่กี่รายไม่สามารถรองรับดีมานด์ได้ ทำให้สินค้าไอทีบางชนิดกลายเป็นของหายาก ส่วนอุตสาหกรรมยานยนต์ต้องหยุดสายการผลิตชั่วคราว ล่าสุดวิกฤตนี้ได้ลามถึงวงการเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน หลายค่ายเร่งปรับตัวรับมือ

เครื่องใช้ไฟฟ้าราคาขยับ

นายกฤษฎา วัฒนารักษ์สกุล ผู้อำนวยการธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า วงการเครื่องใช้ไฟฟ้า นอกจากวิกฤตชิปคอมพิวเตอร์ขาดแคลนแล้ว ยังมีปัญหาวัตถุดิบขึ้นราคา เนื่องจากการขาดตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งอาจลากยาวถึงสิ้นปี 2564

ปัญหาเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกกลุ่ม และกลุ่มทีวีอาจกระทบมาก เนื่องจากมีปัญหาเรื่องราคาหน้าจอหรือพาแนลที่ปรับขึ้นไปก่อนแล้ว ซึ่งจะทำให้เกิดภาวะสินค้าขาดแคลน และราคาขายสูงขึ้น 10-20% ตามต้นทุน หากปัญหายังไม่คลี่คลายอาจต้องใช้เวลาถึงกลางปี 2565 จึงจะกลับสู่ภาวะปกติ

ซึ่งผู้บริโภคไทยอาจไม่รู้สึกถึงผลกระทบมากนัก เนื่องจากในตลาดมีสินค้าหลากหลาย ทั้งแบรนด์ รุ่น สีสัน ขนาด ฯลฯ ทำให้ภาพการขาดแคลนไม่เด่นชัด เหมือนกับราคา ซึ่งบริษัทพยายามตรึงราคาสินค้าให้นานที่สุด และเจรจาดึงสินค้าจากโรงงานเข้ามาในไทยให้มากที่สุด

ทั้งปรับแผนรับมือ ด้วยการเน้นทำตลาดสินค้าระดับบน เปิดตัวแบรนด์ย่อย be spoke เน้นจุดขายด้านดีไซน์และนวัตกรรม เมื่อต้นเดือนเมษายน อาทิ ตู้เย็น ที่เปลี่ยนสีประตูและนำมาต่อกันเพื่อขยายขนาดได้ มุ่งตอบโจทย์กลุ่มมิลเลนเนียลกำลังซื้อสูงและลงทุนกับสินค้าที่ตอบโจทย์ด้านไลฟ์สไตล์

สินค้านำเข้ากระทบหนัก

นางกนิษฐ์ เมืองกระจ่าง ประธานบริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด กล่าวว่า เริ่มเห็นปัญหานี้ตั้งแต่ปลายปี 2563 โดยสั่งซื้อชิปคอมพิวเตอร์เพิ่มจากออร์เดอร์เดิม แต่ต้องรอนานขึ้น 2 เดือน เช่นเดียวกับการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ที่สถานการณ์จะดีขึ้น แต่ต้นทุนค่าขนส่งยังสูงกว่าปกติ รวมถึงราคาวัตถุดิบพลาสติกและโลหะก็ขยับขึ้น เพราะราคาน้ำมัน ขณะที่ดีมานด์เครื่องใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้ 15%

ปัญหาเหล่านี้ส่งผลต่อกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้านำเข้าค่อนข้างมาก เนื่องจากถูกกระทบทั้งขาดแคลนชิป และต้นทุนค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้นจากการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ทำให้ภาพรวมราคาขายของสินค้ากลุ่มนี้ต้องปรับขึ้น 5-10%

อย่างไรก็ตาม เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับดีลเลอร์และผู้บริโภค บริษัทได้เร่งหาซัพพลายเออร์รายใหม่ ๆ มาทดแทน พร้อมสำรองวัตถุดิบ คาดว่าต้องใช้เวลา 1-2 เดือน เนื่องจากต้องทำการทดสอบคุณภาพ และให้บริษัทแม่อนุมัติการเปลี่ยนซัพพลายเออร์ก่อน

นายชัยนิวัฒน์ คงศิลป์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท กรี อิเลคทริค (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ได้รับผลกระทบจากปัญหาตู้คอนเทนเนอร์มาตั้งแต่เดือนมกราคม ทำให้ค่าขนส่งเพิ่มขึ้นถึง 5 เท่า บริษัทจึงรับมือด้วยการทำสัญญาระยะยาวกับบริษัทชิปปิ้งจนสามารถเฉลี่ยต้นทุนที่สูงขึ้นประมาณ 5% โดยบริษัทซัพพอร์ตต้นทุนนี้ไว้ส่วนหนึ่ง ทำให้ราคาสินค้าหน้าร้านปรับขึ้นเพียง 3%

ส่วนสถานการณ์ขาดแคลนชิปนั้นยังไม่ได้รับการแจ้งจากโรงงาน และในประเทศไทย ขณะนี้บริษัทมีสต๊อกเพียงพอสำหรับการขาย 2-3 เดือน มั่นใจว่าสินค้าจะไม่ขาดแคลนแน่นอน

สมาร์ทโฟนโดนด้วย

นายหวัง เซี่ยง รองประธานอาวุโส เสี่ยวหมี่ กล่าวระหว่างงานเปิดตัวสมาร์ทโฟนตระกูล Mi 11 เมื่อปลายเดือน มี.ค.ที่ผ่านมาว่า ปัญหาชิปเซตขาด ทำให้เสี่ยวหมี่ต้องปรับราคาสมาร์ทโฟน สาเหตุจากบริษัทผู้ผลิตชิปเซตรายใหญ่ของโลก

อย่าง Qualcomm มีปัญหาเรื่องกำลังการผลิต ทำให้ส่งมอบชิปเซตช้ากว่ากำหนด และอาจกระทบไทม์ไลน์การเปิดตัวสมาร์ทโฟน 5G และมีแนวโน้มจะเป็นปัญหาจนถึงสิ้นปีนี้

แหล่งข่าวจากบริษัท ออปโป้ ประเทศไทย กล่าวว่า ยังไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหานี้ และยังเปิดตัวสมาร์ทโฟน 4G และ 5G รุ่นใหม่ได้ตามแผน

แหล่งข่าวในธุรกิจโทรศัพท์มือถือกล่าวว่า จะมีผลกระทบกับแบรนด์ที่ใช้ชิปเซต Qualcomm แต่แบรนด์ที่ใช้ของเจ้าอื่น เช่น ชิปเซตจากไต้หวัน MediaTek หรือ ซัมซุง Kirin ยังคงมีกำลังการผลิต จึงเป็นไปได้ว่าค่ายที่ใช้ชิปเซต Qualcomm จะหันไปใช้ชิปเซตจากซัพพลายเออร์รายอื่นแทน

ราคาขยับขึ้น-ดีเลย์เปิดตัว

นายปิยะสิทธิ์ ทองหยวก ผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาด และสื่อสารองค์กร บริษัท ซินเน็ค (ประเทศไทย) จำกัด ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายสินค้าไอที และโทรศัพท์มือถือ กล่าวในเรื่องนี้ว่า ตลาดรวมสมาร์ทโฟนครึ่งปีแรกอยู่ในภาวะทรงตัว จากปัญหาชิปเซตขาดตลาด ทำให้กำลังการผลิตลดลงไปด้วย

คาดว่าจะส่งผลให้ผู้ผลิตชะลอการออกรุ่นใหม่ และอาจทำให้ราคาตั้งในช่วงเปิดตัวปรับสูงขึ้น แต่ผู้บริโภคจะไม่รู้สึกว่าปรับราคา เพราะเป็นสินค้ารุ่นใหม่ เช่น เตรียมวางราคาเปิดตัวไว้ที่ 4,900 บาท ก็อาจปรับเป็น 5,400 บาท เป็นต้น

“อย่างแบรนด์หัวเว่ย ที่บริษัทนำเข้าและจัดจำหน่ายก็ส่งสัญญาณมาสักพักแล้วว่า จะออกสินค้าใหม่ช้าลง เดิมหลายค่ายคาดว่าปีนี้จะเปิดตัวสมาร์ทโฟน 5G จำนวนมากก็อาจต้องกลับมาประเมินสถานการณ์อีกครั้ง แต่สถานการณ์ตอนนี้ไม่ได้ถึงกับทำให้สมาร์ทโฟนขาดตลาด แต่เกิดภาวะตึงมากกว่า ซึ่งเป็นทั่วโลก อย่างไรก็ตาม คาดว่าปัญหาจะเริ่มคลี่คลายในครึ่งปีหลัง การออกสินค้ารุ่นใหม่ ๆ แต่ละแบรนด์จะกระจุกตัวกันในช่วงปลายปี” นายปิยะสิทธิ์กล่าว