ตลาดกัญชา-กัญชง บูมจัด “เมอร์ค” ลุยส่งชุดตรวจซีบีดี จับกลุ่มเอกชน

กัญชง-กัญชา

ตลาดกัญชา-กัญชงในไทยยังฟีเวอร์ ภาคอุตสาหกรรมอาหาร-เครื่องดื่ม-เครื่องสำอางโดดร่วมวงรับกระแส เมอร์ค สบโอกาสเดินหน้าส่งชุดตรวจหาสารซีบีดี หวังจับกลุ่มเอกชน ตั้งเป้าปี 64 โตเกิน 100%

ปัจจุบันตลาดกัญชาและกัญชงทั่วโลกมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากกระแสความนิยมทั้งการใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์และเชิงสันทนาการ โดยคาดการณ์ว่าภายในปี 2567 จะมีมูลค่าสูงถึง 103.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับประเทศไทย แม้จะเพิ่งเริ่มปลดล็อกกัญชงและกัญชาออกจากสารเสพติดประเภทที่ 5 ได้แก่ 1.ใบที่ไม่ติดกับช่อดอก เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่ง ก้าน ราก ไม่เป็นยาเสพติด 2.เมล็ดกัญชง น้ำมัน สารสกัด เมล็ดกัญชง 3.สารสกัด CBD และในส่วนสาร THC ต้องไม่เกิน 2% ในปี 2563 แต่ได้รับความสนใจและผลตอบรับที่ดีจากประชาชน ส่งผลให้ขณะนี้มีการเติบโตแตะระดับพันล้าน

รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ ผู้ช่วยอธิการบดี ฝ่ายนวัตกรรมและกิจกรรมเพื่อสังคม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า ตลาดกัญชา-กัญชงได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก มีดีมานด์สูง ด้วยประโยชน์ที่หลากหลาย อาทิ ช่วยลดน้ำตาลในเลือด ป้องกันแบคทีเรีย ส่งผลให้ภาคธุรกิจทั้งรายเล็ก รายใหญ่ แทบทุกอุตสาหกรรมขานรับกระแส โดดร่วมวงชิงเค้กก้อนใหญ่จากพืชเศรษฐกิจใหม่นี้

โดย รศ.ดร.วีรชัย คาดว่า ทิศทางธุรกิจการใช้สารสกัดกัญชาและกัญชงในระดับอุตสาหกรรมจะมีแนวโน้มเพิ่มสูง ทั้งอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องดื่ม และเครื่องสำอาง ไม่ต่างจากประเทศในแถบยุโรปและอเมริกา

“ในอนาคตตลาดอาหารและเครื่องดื่มจากกัญชง-กัญชาจะมาแรง เนื่องจากพืชเหล่านี้มีประโยชน์ด้านความผ่อนคลาย ความสดชื่น หากนำมาทำสินค้าเครื่องดื่มจะเหมาะกับประเทศไทยที่เป็นเมืองร้อน ผู้บริโภคน่าจะให้ความสนใจสูง”

ด้าน นายจิรพันธ์ หล่อตระกูลชัย ผู้จัดการสารมาตรฐานในห้องปฏิบัติการ บริษัท เมอร์ค จำกัด กล่าวว่า จากเทรนด์การเติบโตของตลาดกัญชา-กัญชงในภาคอุตสาหกรรม ส่งผลให้เมอร์คในฐานะผู้ทำธุรกิจตรวจปริมาณสารในพืชกัญชา-กัญชง อาทิ ซีบีดี (CBD : Cannabidiol), ทีเอชซี (THC : Tetrahydrocannabinol) ย่อมได้รับผลบวกตามไปด้วย

โดยธุรกิจของเมอร์คครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำคือ การตรวจดิน เตรียมดิน วัดสารค่าโลหะหนักในพื้นที่ก่อนเริ่มปลูก เนื่องจากกัญชา-กัญชงอาจสามารถดูดสารพิษเหล่านี้เข้าไปได้

ส่วนกลางน้ำ จะเป็นการตรวจวิเคราะห์จำนวนปริมาณและดูความเข้มข้นของสารต่าง ๆ ที่อยู่ในกัญชา-กัญชง ด้วยข้อจำกัดทางกฎหมายที่ระบุว่า กัญชาและกัญชงต้องมีสาร THC ไม่เกิน 0.2%

ดังนั้น การตรวจสอบปริมาณและความเข้มข้นของสารจึงจำเป็นต่อการพัฒนาและผลิตสินค้าจากกัญชา-กัญชงให้อยู่ภายใต้กรอบกฎหมายที่ถูกต้อง โดยส่วนผลิตภัณฑ์ของเมอร์คแบ่งการตรวจปริมาณสารสกัดในพืชกัญชา-กัญชงออกเป็น 3 ระดับ ดังนี้

1.โครมาโทกราฟีแบบผิวบาง (TLC) เป็นการทดสอบในระดับง่าย สะดวก และไม่จำเป็นต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญมาก เหมาะสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยที่ต้องการทราบผลปริมาณสารเบื้องต้น

2.โครมากราฟีของเหลวสมรรถนะสูง (HPLC) เป็นทดสอบระดับปานกลาง โดยมีวิธีการที่ตรงตามมาตรฐานในห้องปฏิบัติการ

3.โครมาโทกราฟีของเหลวที่ต่อกับเครื่องวิเคราะห์มวลสาร (LCMS) การทดสอบระดับสูง เพื่อตรวจวัดสารปริมาณขั้นสูง มีผู้เชี่ยวชาญคอยดูผล ซึ่งให้ผลที่แม่นยำและน่าเชื่อถือ เหมาะสำหรับผู้ประกอบการรายใหญ่ที่พัฒนาและวิจัยสินค้าจากกัญชาและกัญชงจำนวนมาก

“ที่ผ่านมาเราจำหน่ายชุดตรวจปริมาณสารในกัญชากัญชงมานานแล้ว แต่เดิมจะใช้ในการตรวจสอบสารเสพติดมากกว่า เมื่อ อย. ปลดล็อกการใช้ประโยชน์จากพืชทั้ง 2 ชนิดนี้ จึงเพิ่มโฟกัสธุรกิจนี้มากขึ้น”

อย่างไรก็ตาม การเจาะกลุ่มลูกค้าที่ผ่านมาจะเน้นภาครัฐ แต่ขณะนี้ได้หันมาจับกลุ่มภาคเอกชนที่สนใจพัฒนาสินค้าจากพืชกัญชาและกัญชงมากขึ้น

ซึ่งหากกฎหมายไทยมีความชัดเจนเรื่องสาร THC มากขึ้น สัดส่วนลูกค้าเอกชนอาจเพิ่มขึ้นเป็น 90% เนื่องจากเอกชนมีเงินพร้อมลงทุนเพื่อพัฒนาสินค้าเกี่ยวกับกัญชา-กัญชง อย่างเต็มกำลัง ในขณะที่ภาครัฐที่ใช้ในแง่การตรวจหาสารเสพติดจะเหลือสัดส่วนเพียง 10%

ทั้งนี้ ในเบื้องต้นธุรกิจการตรวจวิเคราะห์สารในกัญชา-กัญชง ตั้งเป้าปี 64 โตเกิน 100% ดังในปี 63 ที่ผ่านมา จากตลาดที่ขยายตัว และมีแนวโน้มผู้ประกอบการหันมาลงเล่นมากขึ้น จึงคาดการณ์ได้ว่าในปี 64 มูลค่าตลาดจะอยู่ที่ราว 3,600-7,200 ล้านบาท

นอกจากนี้ หากภาคธุรกิจไทยผลิตสารซีบีดีได้ตามมาตรฐานโลก จะเพิ่มโอกาสในการส่งออกให้ไทยได้อีกด้วย ทั้งในตลาดยุโรปที่ต้องการสารซีบีดี ไม่เกิน 0.2% และตลาดญี่ปุ่นที่ต้องการสินค้าสารซีบีดี 0% ซึ่งมีความต้องการมากถึง 50 ตัน/เดือน ถือเป็นโอกาสที่ดีของกลุ่มธุรกิจไทยที่จะสร้างการเติบโตกัญชา-กัญชงในระดับการส่งออก