รู้จัก ไบโอจีนีเทค ผู้นำเข้าวัคซีนซิโนฟาร์ม จ่อนำเข้า โควาซิน

รู้จักบริษัทไบโอจีนีเทค นำเข้าซิโนฟาร์ม-โควาซิน

ทำความรู้จัก “ไบโอจีนีเทค” บริษัทที่นำเข้าวัคซีนซิโนฟาร์ม และอยู่ระหว่างดำเนินการยื่นเอกสารขอนำเข้า “โควาซิน” 

วันที่ 28 พฤษภาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานกรณี สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เผยไทม์ไลน์ วัคซีน 5 ยี่ห้อ ที่ได้รับการอนุมัติแล้ว ได้แก่ แอสตร้าเซนเนก้า, ซิโนแวค, จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน, โมเดอร์นา และซิโนฟาร์ม รวมถึงอีก 2 ยี่ห้อ ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ได้แก่ สปุตนิกวี และโควาซิน ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วัคซีนที่ อย.อนุมัติแล้ว และที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ทั้งหมด 7 ยี่ห้อ ดังกล่าว มี 2 ยี่ห้อ ได้แก่ ซิโนฟาร์ม และ โควาซิน ที่นำเข้าโดยบริษัทเดียวกัน คือ บริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด

“ประชาชาติธุรกิจ” ตรวจสอบข้อมูลจากเว็บไซต์บริษัท ระบุว่า ตลอด 25 ปีที่ผ่านมา ไบโอจีนีเทคได้นำเสนอวัคซีนและยาที่เป็นนวัตกรรมใหม่อย่างต่อเนื่องมากกว่า 15 ชนิด ซึ่งมีส่วนช่วยในการพัฒนามาตรฐานด้านสาธารณสุขของประเทศไทย รวมถึงป้องกันประชาชนในประเทศจากโรคติดเชื้อต่าง ๆ

บริษัทมีสมาชิกในทีมมากกว่า 100 คน ที่มุ่งมั่นในการบริการด้านสาธารณสุขอย่างเต็มที่

ปัจจุบัน ไบโอจีนีเทคเป็นตัวแทนจำหน่ายวัคซีนและยาหลายชนิดแต่เพียงผู้เดียว ทั้งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน และมีแบรนด์ยาเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ จากผู้ผลิตยาและวัคซีนชั้นนำระดับโลก

ไบโอจีนีเทคได้รับการยอมรับเรื่องการปฏิบัติตามกฎระเบียบและความเป็นมืออาชีพในอุตสาหกรรมดูแลสุขภาพ โดยมีบริษัทวัคซีนและยาระดับโลกหลายแห่งเป็นพันธมิตรในทางธุรกิจ ซึ่งจะเสริมสร้างการเติบโตของบริษัท และเพิ่มบริการด้านผลิตภัณฑ์นวัตกรรมมากยิ่งขึ้น

ไทม์ไลน์บริษัท 2536-2563

ปี 2536 บริษัทก่อตั้งขึ้นโดยทีมผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ทางชีววิทยาและเอกชนต่าง ๆ เริ่มดำเนินกิจการอย่างเป็นทางการ จากการจัดจำหน่ายและทำการตลาดชุดตรวจวินิจฉัย, งานเวชศาสตร์นิวเคลียร์ และวัคซีนบางชนิด

ปี 2544 มีการตั้งทีมโลจิสติกส์ (การจัดส่งระบบโซ่ความเย็น: ระบบการออกแบบและจัดการที่จะทำให้วัคซีนอยู่ในอุณหภูมิที่ถูกต้องเหมาะสมตลอดเวลา ทั้งในขณะจัดเก็บและขนส่งวัคซีน จนกระทั่งถึงหน่วยบริการ และรวมถึงขั้นตอนในขณะให้บริการที่ต้องนำวัคซีนที่มีอยู่ในสภาพที่เหมาะสมเข้าสู่ร่างกายผู้รับบริการ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดของวัคซีน)

ปี 2546 ขยายความครอบคลุมด้านการจัดจำหน่าย ซึ่งรวมถึงารเพิ่มแบรนด์ยา และการตั้งทีมจำหน่ายยาในกรุงเทพฯ และต่างประเทศ

ปี 2550 ได้ลิขสิทธิ์วัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอีในประเทศไทย โดยวัคซีนดังกล่าวเป็นวัคซีนสัญชาติจีนตัวแรกที่ได้รับอนุญาตในประเทศไทย

ปี 2555 เข้าซื้อกิจการใหม่ (ผ้าก๊อซและผลิตภัณฑ์สำลีที่ใช้ทางการแพทย์) นอกจากนี้ยังตั้งบริษัทใหม่อย่างเป็นทางการในชื่อ “ไบโอคอททอน” เมื่อปี 2555 และ “ไบโอคลาส” เมื่อปี 2556 เพื่อสนับสนุนธุรกิจใหม่ดังกล่าว

ปี 2556 เปิดตัวผลิตภัณฑ์ Launched Optiray for CT และ Optimark for MRI

ปี 2557 ใช้วัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอี ตามแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคในประเทศไทย

ปี 2562 เปิดตัววัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ที่ผลิตจากเทคโนโลยีเซลล์เพาะเลี้ยงเป็นครั้งแรกในประเทศไทย

ปี 2563 ผ่านการรับรองจาก อย. และเปิดตัว วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ในประเทศไทย

จากการตรวจสอบเว็บไซต์ ครีเดน (ระบบยืนยันตัวตนและประเมินลูกค้าทางออนไลน์) พบว่า บริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด

ข้อมูลทั่วไปของ “ไบโอจีนีเทค”

ก่อตั้งเมื่อ 12 มีนาคม 2536  ที่อยู่ 18 ซอยอุดมสุข 37 ถนนสุขุมวิท 103 แขวงบางจาก เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร วัตถุประสงค์ นำเข้า-ส่งออก ขายสินค้าเคมีภัณฑ์วัสดุทางการแพทย์

ทุนจดทะเบียน เมื่อ 12 มีนาคม 2536 จำนวน 1 ล้านบาท ปัจจุบันเพิ่มเป็น 24 ล้านบาท

มูลค่าบริษัท 1,079,732,729 บาท (4,498.89% ของทุน)

กรรมการและผู้มีอำนาจลงนาม

  1. นายลือชา วรวิวรรธน์
  2. นายศุภวัฒน์ ชุติวงศ์
  3. นางสาวดวงรัตน์ นิยมไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายลือชา วรวิวรรธน์ เคยให้สัมภาษณ์ “คมชัดลึก” เมื่อปี 2557 ในฐานะ กรรมการผู้จัดการบริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด ว่า หลังเรียนจบปริญญาตรี คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโท เอ็มบีเอ คณะบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขาเริ่มทำงานปี 2526 ตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายการตลาดในบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งด้านธุรกิจยาและเวชภัณฑ์

ต่อมาปี 2533 ร่วมกับหุ้นส่วนเปิด บริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด บริษัทยาของคนไทย ซึ่งเป็นบริษัทแรกที่นำเข้าวัคซีนจากต่างประเทศ

เขากล่าวถึงหนทางอยู่รอดทางธุรกิจว่า “ต้องปรับตัวตลอด ทั้งสินค้า วัคซีนตัวใหม่ ตัวเปลี่ยนแปลงในอนาคต เราต้องเอามาแข่งได้ ประเทศไทยเป็นตลาดเปิด แข่งขันเต็มที่ แต่ อย.เป็นตัวกลั่นกรองด้านคุณภาพอีกที”

ผู้บริหารไบโอจีนีเทค เผยถึงเทคนิคการดีลกับคู่ค้าต่างประเทศด้วยว่า เวลาเจอกับคู่ค้าต้องวางแผนเรียบร้อยแล้วว่ารอบนี้อยากได้อะไร จะต่อรองตรงไหน อย่างไร ราคาต้องต่อรองหรือไม่ มีปัญหาเกิดขึ้นต้องบอกให้หมด

“เราเป็นบริษัทไทยต้องต่อรองอย่างเต็มที่ เมื่อรายได้บริษัทดีขึ้น องค์กรดีขึ้น เราจะเสียภาษีเพิ่มขึ้น พนักงานมีโอกาสได้โบนัสเพิ่มขึ้น ขึ้นอยู่กับการเจรจา เพราะเบเนฟิตอยู่ในชามเดียวกัน”

นี่คือเรื่องราวของตัวแทนจำหน่ายวัคซีนและยา ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นอย่างมาก ในช่วงที่ “วัคซีน” กลายเป็นอีกปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต