สธ.ยันฟาวิพิราเวียร์ต้านโควิดได้ เล็งศึกษายาใหม่ไอเวอร์เม็คติน

ยาฟาวิพิราเวียร์

สธ. เผยฟาวิพิราเวียร์ใช้รักษาโควิดได้ แต่ต้องให้เร็วหลังอาการออก 4 วัน พร้อมเร่งศึกษายาใหม่ ไอเวอร์เม็คติน ทางเลือกรักษาผู้ป่วยโควิด

วันที่ 20 สิงหาคม 2564 นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยถึงกรณีกรมการเทคโนโลยีทางสุขภาพได้ออกมาทำการทบทวนผลการศึกษาวิจัยในหลายประเทศเกี่ยวกับยาฟาวิพิราเวียร์ ต่อผลการรักษาโรคโควิด-19 ทำให้เกิดการตั้งคำถามเกี่ยวกับแนวทางการรักษาโรคโควิดต่อจากนี้

เบื้องต้น นพ.สมศักดิ์ อธิบายว่า ปกติกลไกการทำงานและการออกฤทธิ์ของยาฟาวิพิราเวียร์ จะช่วยยับยั้งการเพิ่มจำนวน RNA ของไวรัส ทำให้เชื้อไวรัสมีการเปลี่ยนแปลงไปและถูกกำจัดในที่สุด

ที่ผ่านมายาฟาวิพิราเวียร์ถูกใช้เพื่อรักษาไวรัสไข้หวัดใหญ่ แต่ต่อมาได้นำมาใช้กับไวรัสตัวอื่น ๆ เช่น การรักษาโรคอีโบลา ซึ่งได้ผลเป็นอย่างดี จึงกล่าวได้ว่า ยาฟาวิพิราเวียร์สามารถใช้กับไวรัสได้หลายตัว ไม่จำกัดเฉพาะไวรัสตัวใดตัวหนึ่งเท่านั้น

“ปัจจุบันด้วยโรคโควิด-19 เป็นโรคอุบัติใหม่ จึงยังไม่มียาที่ใช้รักษาโควิดอย่างเป็นทางการ จะมีก็เพียงที่อยู่ระหว่างการศึกษาและวิจัยอยู่เท่านั้น”

สำหรับผลการศึกษาวิจัยจากต่างประเทศ เช่น ประเทศจีน ซึ่งได้ทำการเปรียบเทียบยาฟาวิพิราเวียร์ กับยาต้านไวรัสตัวอื่น ๆ ได้แก่ RTV และ LPV ผลปรากฏว่าฟาวิพิราเวียร์สามารถลดเชื้อไวรัสได้ดีกว่า ส่วนผลวิจัยในประเทศรัสเซียเป็นไปในทิศทางเดียวกันคือกำจัดเชื้อไวรัสได้ดีกว่าการรักษาตามมาตรฐานทั่วไปในวันที่ 5

ส่วนการศึกษาการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ในประเทศไทยในจำนวนผู้ป่วยโควิด 424 คน พบว่าผู้ติดเชื้อโควิดหากได้รับยาฟาวิพิราเวียร์อย่างรวดเร็ว ภายใน 4 วันแรกนับตั้งแต่มีอาการ จะลดความรุนแรงของอาการลงได้ 28.8% เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาฟาวิพิราเวียร์หลัง 4 วัน โดยมีค่ามัธยฐานของระยะเวลาที่เริ่มให้ยาฟาวิพิราเวียร์จนผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น ดังนี้

  1. กลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการปอดบวมรุนแรงจะดีขึ้นหลังได้รับยาต่อเนื่อง 19 วัน
  2. กลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการปอดบวมไม่รุนแรงจะดีขึ้นหลังได้รับยา 7 วัน

ประกอบกับข้อมูลการศึกษาและรวบรวมงานวิจัย 12 ชิ้น จากต่างประเทศโดย HITAP ที่ได้ศึกษาในหลายประเด็น และหลายตัวแปร อาทิ ความรุนแรงของผู้ป่วยโควิด กลุ่มการศึกษาทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน ขนาดและปริมาณยาฟาวิพิราเวียร์ที่ใช้ ซึ่งการวิจัยแต่ละที่ล้วนมีปัจจัยและตัวแปรต่างกัน

แต่ข้อมูลในเบื้องต้นแสดงให้เห็นว่า ฟาวิพิราเวียร์มีประสิทธิภาพในการลดอาการทางคลินิกใน 7 วัน และ 14 วัน เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ยังไม่ได้รับยาฟาวิพิราเวียร์

ทั้งนี้ ผลการวิจัยดังกล่าวได้ช่วยเป็นส่วนหนึ่งในข้อสนับสนุนแนวทางการให้ยาฟาวิพิราเวียร์แก่ผู้ป่วยในไทย ซึ่งปัจจุบันไทยได้ทำแนวทางการรักษาโรคโควิดเป็นฉบับที่ 17 แล้ว โดยมีการปรับแนวทางการรักษาให้มีประสิทธิภาพให้ได้มากที่สุด ตั้งแต่การให้ยาฟาวิพิราเวียร์เร็วขึ้น ตลอดจนการปรับเปลี่ยนปริมาณการให้ยา ซึ่งแต่ละครั้งต้องผ่านการถกเถียงภายในคณะกรรมการกำกับรักษาและดูแลโรคโควิด-19 ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจาก สธ. ร.ร.แพทย์ สมาคมวิชาชีพ และราชวิทยาลัยที่เกี่ยวข้องทั้งสิ้น

รวมไปถึงได้มีการหารือเกี่ยวกับผลการวิจัยใหม่ ๆ เกี่ยวกับการรักษาโควิด ตลอดจนยาใหม่ที่มีแนวโน้มใช้รักษาโรคโควิดได้ดี อาทิ ยาไอเวอร์เม็คติน

เมื่อถามถึงยาฟาวิพิราเวียร์จะมีเพียงพอหรือไม่ นพ.สมศักดิ์ ย้ำว่า ขณะนี้มีทั้งการผลิตในประเทศโดยองค์การเภสัชกรรม และการสั่งจองจากต่างประเทศ เพื่อให้เพียงพอต่อการรักษาผู้ป่วยโควิด ซึ่งจะทยอยเข้ามาเป็นระยะ ๆ คาดว่าน่าจะเพียงพอ ส่วนในระยะถัดไปเล็งทำ Big data การใช้ยาฟาวิพิราเวียร์หลังจากเชื้อเดลต้าระบาดจะมีผลเป็นอย่างไรอีกด้วย