“เอ็มบีเค” สู้ศึกห้างกลางกรุง ยกเครื่องใหญ่-แม็กเนตใหม่ดึงทราฟฟิก

“เอ็มบีเค” กางแผนรอบทิศสู้ศึกศูนย์การค้า “สยามสแควร์-สี่แยกปทุมวัน” เผยความคืบหน้ารีโนเวต จับไลฟ์สไตล์ตลอด 24 ชั่วโมง ลั่นผู้เช่าเต็ม 100% เตรียมทยอยเปิดแต่ละโซนตั้งแต่ ต.ค.-ธ.ค. ประกาศพร้อมเปิดบริการเต็มรูปแบบปลายปี หากรัฐบาลคลายล็อก เปิดตัวแม็กเนตดังเพียบ “ดองกิ-สถาบันกวดวิชา-ร้านอาหารดัง-ตลาดนัดติดแอร์-ไอที” ช่วยดึงทราฟฟิก-เพิ่มสัดส่วนลูกค้าคนไทย งัดกลยุทธ์ O2O-เปิดแอป MBK+ ต่อยอดลอยัลตี้โปรแกรม มั่นใจคลายล็อกหนุนการจับจ่ายไตรมาส 4 ค่อย ๆ ฟื้นตัว

แม้ศูนย์การค้า MBK จะประกาศและเริ่มทยอยรีโนเวตครั้งใหญ่ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา แต่ด้วยภาพของสมรภูมิของศูนย์การค้าในย่านสี่แยกปทุมวันกำลังจะเปลี่ยนไป จากการก้าวเข้ามาของเซ็นทรัลพัฒนา (ซีพีเอ็น) ที่จะมาแทนที่พื้นที่ Block A หรืออาคารตึกแถวบริเวณโรงหนังสกาลาเดิม ขณะที่ทางด้านฟากฝั่งสยามพารากอนก็กำลังจะมีการรีโนเวตอีกรอบ ทำให้ MBK ต้องปรับเพิ่มแผนอีกระลอกเพิ่มเติมจิ๊กซอว์การช็อปปิ้งในย่านให้สมบูรณ์แบบมากขึ้น

ปรับแผนรับการแข่งขันเดือด

นายสมพล ตรีภพนารถ กรรมการผู้จัดการธุรกิจศูนย์การค้า บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากนี้ไป แม้ว่าการแข่งขันของศูนย์การค้าในย่านสี่แยกปทุมวัน-สยามสแควร์ มีแนวโน้มจะรุนแรงมาก แต่สำหรับเอ็มบีเคก็ได้มีการเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ เพื่อรองรับ รวมถึงมีการปรับเปลี่ยนแผนต่าง ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์มากขึ้น โดยการรีโนเวตหลัก ๆ จะเป็นการเน้นให้สอดรับกับไลฟ์สไตล์ลูกค้าสไตล์ตลอด 24 ชั่วโมง

รวมทั้งการปรับตัวหลังการระบาดของโควิด-19 คลี่คลาย โดยจะมุ่งเน้นการขยายกลุ่มลูกค้าที่เป็นกลุ่มคนไทยมากขึ้น ในอนาคตเอ็มบีเคจะมีสัดส่วนลูกค้าชาวไทย 50% และต่างประเทศ 50% จากในอดีตที่มีกลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติเป็นหลักราว ๆ 70% อย่างไรก็ตาม การเจาะกลุ่มลูกค้าคนไทยเพิ่มดังกล่าวจะไม่ใช่การละทิ้งกลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติแต่อย่างใด แต่เป็นการเพิ่มฐานลูกค้าชาวไทยให้เทียบเท่าต่างชาติ เช่น เดิมเอ็มบีเคมีลูกค้าชาวต่างชาติเข้ามาใช้บริการราว 7 หมื่นคนต่อวัน ก็จะขยายฐานลูกค้าคนไทยให้เพิ่มเป็น 7 หมื่นคนต่อวันเช่นเดียวกัน เท่ากับเพิ่มจำนวนคนเดินมากขึ้นราว 1.4 แสนคนต่อวัน

นายสมพลกล่าวว่า หลังจากได้มีการประกาศรีโนเวตครั้งใหญ่ในรอบ 36 ปี ไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา แต่จากการระบาดของโควิดอาจจะมีการปรับเปลี่ยนแผนการเปิดศูนย์ใหม่ หลังจากรีโนเวตที่มีการปรับเปลี่ยนใหม่ตั้งแต่ชั้น G ไปจนถึงชั้น 4 เรียกได้ว่าแทบจะเปลี่ยนรูปแบบใหม่หมดเลย ขณะนี้การรีโนเวตมีความคืบหน้าและเรียบร้อยไปแล้วกว่า 90% ที่สำคัญคือ ล่าสุดมีจำนวนผู้เช่าเต็ม 100%

“เดิมมีแผนจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในช่วงกันยายนนี้ แต่ด้วยสถานการณ์โควิด-19 และมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้ต้องเลื่อนแผนออกไป โดยจะทยอยเปิดตัวโซนใหม่แต่ละโซนตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคมไปจนถึงธันวาคม เบื้องต้นขณะนี้รอความคืบหน้าของพาร์ตเนอร์ที่จะเข้ามาเปิดตัวอย่างเป็นทางการ อาทิ ดองกิ และหากภาครัฐคลายล็อกให้สามารถจัดอีเวนต์หรือกิจกรรมได้ ก็พร้อมเปิดให้บริการทันทีเต็ม 100%”

เพิ่มแม็กเนตใหม่เพียบ

นายสมพลให้ข้อมูลถึงการรีโนเวตว่า มีการปรับเปลี่ยนตั้งแต่ชั้น G และชั้น 2 มากสุด ราว 90% ขณะที่บริเวณชั้น 1 (ในส่วนของศูนย์การค้า) จะเปิดพื้นที่ศูนย์อาหาร ความยาวตั้งแต่ฝั่งพญาไทไปจนถึงโรงแรมปทุมวัน มีร้านอาหารชื่อดัง อาทิ ร้านป้อน, ร้านบ้านคุณแม่, ร้านกาแฟทิม ฮอร์ตันส์, ชินคันเซ็น ซูชิ ร้านอาหารที่เปิดให้บริการตั้งแต่เช้าจนถึงตี 1 ร้านสุกี้ตี๋น้อย ที่เปิดบริการถึงตี 5 นอกจากนี้ ร้านชื่อดังที่มีอยู่เดิมจะย้ายพื้นที่เพื่อขยายร้านและพัฒนาร้านรูปแบบใหม่ เช่น ฮองมิน, S&P โมเดลใหม่

ส่วนพื้นที่ของห้างโตคิวเดิมที่บริเวณชั้น 1 จะเป็นการจับมือกับเครือสหพัฒน์ ทั้งในส่วนของ ไอ.ซี.ซี.อินเตอร์เนชั่นแนล-โอ.ซี.ซี. และร้านซูรูฮะ เปิดตัวร้านแฟชั่นโมเดลใหม่ ขณะที่พื้นที่ชั้น 2 เป็นห้างสรรพสินค้า ดองกิ (Donki) ขนาด 2,200 ตร.ม. ภายใต้คอนเซ็ปต์ Japan Town ที่มีแนวคิดการตกแต่งร้านให้มีความคล้ายคลึงกับร้านดองกิโฮเต้ ในญี่ปุ่น มีสินค้านำเข้าจากญี่ปุ่น และจำหน่ายเฉพาะในดองกิ 12,000 รายการ เน้นสินค้าอุปโภค นอกจากนี้ยังมีโซนอาหารปรุงสำเร็จและสำหรับซื้อกลับบ้าน

พื้นที่ชั้น 3 เป็นโซนสำหรับเป็นแหล่งช็อปปิ้งสำหรับชาวต่างชาติ มีร้านค้าที่จำหน่ายสินค้าที่เป็นเอกลักษณ์ไทย ของฝากต่าง ๆ ในรูปแบบตลาดนัดติดแอร์ นอกจากนี้ยังรวมร้านเสื้อผ้าแฟชั่น โดยส่วนหนึ่งเป็นร้านเดิมที่ห้างสรรพสินค้าโตคิวเปิดบริการอยู่ และมีการเติมกลุ่มสินค้านำเข้า สินค้าช็อปปิ้งออนไลน์ต่าง ๆ เข้ามาในโซนนี้ด้วย

ส่วนพื้นที่ชั้น 4 มีปรับเปลี่ยนเป็นโซนไอที เพื่อให้สอดคล้องกับชั้น 4 ที่เป็นโซนมือถือ ส่วนพื้นที่ชั้น 5 เป็นโรงเรียนกวดวิชา หรือสถาบันติวเตอร์ และจุดบริการ ขณะที่พื้นที่ชั้น 6 เป็นโซนของสำนักงาน ออฟฟิศ ติวเตอร์ อาหาร และพื้นที่ชั้น 7 กลุ่มบันเทิง และครอบครัว

“มั่นใจว่าด้วยแม็กเนตใหม่ ๆ ทั้งดองกิ สถาบันกวดวิชา ร้านอาหารชื่อดังต่าง ๆ จะเป็นกุญแจสำคัญในการช่วยเติมเต็มและฟื้นทราฟฟิกในศูนย์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง และจะช่วยให้ภาพรวมธุรกิจฟื้นขึ้นมาได้อย่างแน่นอน”

คลายล็อกหนุน Q4 ฟื้นตัว

นายสมพลย้ำว่า นอกจากนี้ยังมีการเตรียมแผนการตลาด โปรโมชั่นไว้รองรับ ควบคู่กับการเดินหน้า O2O ในการสร้างประสบการณ์การช็อปปิ้ง ด้วยการพัฒนาลอยัลตี้โปรแกรม ด้วยการเปลี่ยนโฉมเอ็ม บี เค แอปพลิเคชั่นใหม่ เป็น เอ็ม บี เค พลัส (MBK PLUS) เพิ่มสิทธิประโยชน์ ความสะดวกสบาย ความคุ้มค่า ให้ชีวิตมีแต่พลัสในทุกการใช้จ่ายสินค้าในทุกศูนย์การค้าและธุรกิจในเครือ โดยได้เปิดให้บริการแอปพลิเคชั่น เอ็ม บี เค พลัส (MBK PLUS) เปิดที่เรียบร้อยแล้ว

พร้อมกันนี้ นายสมพลยังแสดงความเห็นภาพรวมหลังรัฐบาลคลายล็อก เมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมาว่า ทำให้บรรยากาศภายในศูนย์การค้าเอ็มบีเคมีความคึกคักมากขึ้น และในเดือนตุลาคม หากรัฐบาลมีมาตรการผ่อนคลายเพิ่ม อนุญาตให้เปิดโรงภาพยนตร์ ร้านที่ให้บริการ 24 ชั่วโมง ให้กลับมาเปิดปกติได้ ประกอบกับการฉีควัคซีนโควิด-19 ที่เริ่มมีความครอบคลุมมากขึ้น รวมถึงการเตรียมจะฉีดให้นักเรียนที่จะทำให้การเปิดภาคเรียนได้ ฯลฯ

คาดว่าจะเป็นปัจจัยที่ทำให้กำลังซื้อภายในประเทศค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้น และในส่วนของเอ็มบีเคเองก็ได้มีการเตรียมความพร้อมและแคมเปญต่าง ๆ สำหรับรองรับในช่วงปลายปี มั่นใจว่าสถานการณ์ค้าปลีก รวมถึงเศรษฐกิจของประเทศในไตรมาส 4 จะดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

“เรื่องของกำลังซื้อจะมากหรือน้อย หลัก ๆ น่าจะมาจากกลุ่มพนักงานที่มีเงินเดือนประจำ และกลุ่มที่ยังจับจ่ายอยู่ แต่เลือกซื้อมากขึ้น เช่น อาจจะเคยซื้อเสื้อผ้า 3-4 ชิ้นต่อครั้ง ก็อาจจะลดเหลือ 1 ชิ้นต่อครั้ง ตามความจำเป็น เชื่อว่าอารมณ์การจับจ่ายของประชาชนยังมีอยู่ หลายคนยังอยากช็อปปิ้ง อยากซื้อสินค้าของใช้ แต่พฤติกรรมจะเปลี่ยนไป มีสติในการเลือกซื้อมากขึ้น และหวังว่าการคลายล็อกใน 5 จังหวัดที่จะเริ่มตุลาคมนี้ จะทำให้สถานการณ์กลับมาฟื้นตัวดีขึ้น” นายสมพลกล่าว