นพ.ธนาธิป ศุภประดิษฐ์ โควิดยืดเยื้อ เฮลท์แคร์เปลี่ยนทิศ

นพ.ธนาธิป ศุภประดิษฐ์
สัมภาษณ์พิเศษ

ปฏิเสธไม่ได้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ยังมีความไม่แน่นอน แม้แนวโน้มการติดเชื้อรายใหม่ที่ดูจะลดลงเหลือ 13,000-15,000 ราย/วัน หลังจากผ่านจุดพีกกว่า 20,000 ราย/วัน แต่ทว่าก็เป็นกราฟขึ้นลงเป็นระยะ ความท้าทายดังกล่าวไม่เพียงแต่เร่งปฏิกิริยาการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจเพื่อรับมือ 360 องศา อีกมุมหนึ่งยังสร้างผลกระทบร้าวลึกทุกอุตสาหกรรม ไม่เว้นแม้แต่ธุรกิจโรงพยาบาลหรือเฮลท์แคร์

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “นพ.ธนาธิป ศุภประดิษฐ์” รองประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป (THG) เชนโรงพยาบาลเอกชนรายใหญ่ ที่เป็นโรงพยาบาลเอกชนรายแรก ๆ ที่เทกแอ็กชั่นเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด ทั้งการให้ความรู้ เรียกร้องวัคซีน ตลอดจนการสร้างโรงพยาบาลสนามเพื่อรับผู้ป่วยโควิดอาการวิกฤตต่อเนื่อง

Q : ที่มาที่ไปของการทำโรงพยาบาลสนาม

ย้อนกลับไปในช่วงต้นปี 2563 ที่เริ่มมีโควิดใหม่ ๆ ธนบุรี เป็น รพ.เอกชนรายแรก ๆ ที่ออกมาพูดเรื่องโควิด โดยท่านประธาน (นพ.บุญ วนาสิน) สั่งให้เตรียมการรับมือ เพราะ THG มี รพ.อยู่ในประเทศจีน และจากข้อมูลที่ได้มาจากประเทศจีน เชื้อตัวนี้ไม่เหมือนตัวอื่น ต้องซีเรียส

ตอนแรกหลายคนอาจจะคิดว่าคล้ายกับโรคซาร์ส (2546) ที่มาราว 5-6 เดือน คนตายไป 3,000 คน แล้วหายไป แต่นี่มันไม่ใช่ กลุ่มธนบุรีจึงค่อนข้างตื่นตัว ช่วงระลอกที่ 1 ได้สร้าง รพ.สนาม ย่านบางซื่อ-จตุจักร แต่ 3 เดือนมันก็หมดไป จากนั้นก็มีระลอกใหม่ตามมา โดยเฉพาะระลอก 3-4 ที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก

ล่าสุดก็ทำ รพ.สนาม มทบ.11 จำนวน 300 เตียง รับผู้ป่วยโควิดกลุ่มสีเหลืองและสีแดง ลงทุน 300 ล้านบาท มีไอซียูสนามห้องความดันลบ ซึ่งปกติแล้วการทำห้องไอซียูจะใช้งบประมาณสูงมาก ห้องละหลักล้านบาท และถ้าจะให้คืนทุนต้องใช้เป็นหลัก 10-20 ปี ตอนแรกคิดว่าจะใช้ไม่นาน ก็คิดว่าไม่ได้เงินคืนแน่ ๆ

แต่ตอนนี้ต้องคิดใหม่ รพ.สนาม ต้องอยู่ไปอย่างน้อยถึงกลางปี 2565 และหากยังคงมีการติดเชื้อเพิ่มเรื่อย ๆ เครือข่ายพันธมิตรถ้าไม่อยากจะให้ผู้ติดเชื้อโควิดปนในห้องไอซียูทั่วไปก็ส่งมาให้เราได้ ในอนาคตถ้ายังใช้ได้ดี ก็อาจเป็น รพ.เฉพาะทางไปเลยก็ได้ เหมือนแต่ก่อนที่มี รพ.เฉพาะทางวัณโรค หรือนิคมโรคเรื้อนโดยเฉพาะ

ตอนแรกการสร้างไอซียูสนาม เราไม่ได้คิดเชิงธุรกิจเลย แต่ขณะนี้เราทำเกินหน้าที่ แต่ถ้าไม่ทำ คิดง่าย ๆ ที่นี่มีเตียง 300 เตียง และกลุ่มเหลืองแดงต้องใช้ออกซิเจนและเครื่องช่วยหายใจ ถ้าไม่มี รพ.สนาม ตรงนี้ 300 คนตายทันที ช่วงวิกฤตโควิดจะสะท้อนให้เห็นไมนด์เซตแต่ละองค์กร สำหรับธนบุรีต้องทำให้ได้มาตรฐาน ความปลอดภัยต้องมาก่อน เรื่องเงินไม่ต้องสน ถ้าดีเดี๋ยวได้คืนเอง นี่คือคีย์เวิร์ดขององค์กรเรา

Q : โควิดที่ยืดเยื้อส่งผลต่อธุรกิจ-เศรษฐกิจมาก

ก่อนหน้านี้เคยมีการคาดการณ์กันว่า โควิดน่าจะจบภายในสิ้นปี 2563 แต่ขณะนี้เราอยู่ในไตรมาส 3/2564 ยังไม่มีท่าทีว่าจะจบลง แม้ในกลางปี 2565 การฉีดวัคซีนน่าจะเกือบเต็มประเทศแล้ว แต่หลักฐานก็ปรากฏออกมาแล้วว่า ฉีดแล้วก็สามารถติดเชื้อได้

เรามีข้อมูลปัจจุบันกันอยู่แค่นี้ บอกตามตรงว่าตอนนี้ไม่มีใครรู้อนาคต และโดยส่วนของเรามองว่าโควิดจะอยู่กับเราไปอีก 4 ปี อย่างไรก็ตาม เมื่อสัก 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา คนในวงการวัคซีนในสวิตเซอร์แลนด์ เขาคาดการณ์ว่าโควิดอาจจะอยู่ไปอีกถึง 8 ปี

แต่ถ้าพูดในมุมความเสียหายทางเศรษฐกิจ จีดีพีโลกจะหายไปราว 10% ทั้งธุรกิจการท่องเที่ยว ธุรกิจกลางคืน ร้านอาหาร หรือคิดง่าย ๆ แค่เรื่องการเว้นระยะห่าง

อาทิ นวดแผนไทย นี่ถือว่าน่ากลัว เพราะในระยะถัดไปที่โควิดยังคงอยู่อีกหลายปี กิจการดังกล่าวอาจจะต้องทำในรูปแบบส่วนบุคคล ไม่สามารถทำแบบเป็นอุตสาหกรรมได้เหมือนที่ผ่านมา

หรือธุรกิจการแพทย์อย่างทันตกรรมก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เช่น อาจต้องตรวจ ATK ก่อนรับบริการ หรือทันตแพทย์ต้องใส่ชุดป้องกันเต็มขั้นเพื่อความปลอดภัย

นั่นย่อมแปลว่า ต้องมีค่าใช้จ่ายมหาศาลเพิ่มเข้ามา หรือความกังวลผู้บริโภคทำให้ไม่กล้ามาหาหมอ แค่ผู้บริโภคใช้บริการลดลงครึ่งหนึ่ง ยอมทนปวดฟันหน่อย แค่นี้เม็ดเงินในอุตสาหกรรมก็หายไปเกินครึ่งแล้ว

Q : ผลกระทบจากโควิดจะทำให้เทรนด์ธุรกิจโรงพยาบาลเปลี่ยนไปอย่างไรหรือไม่

โควิดเปลี่ยนแปลงการแพทย์ในหลายด้าน ทำให้คนไม่ค่อยอยากมา รพ. เพราะกลัวติดเชื้อ ช่วงโควิดแรง ๆ คนไข้จะหายไป 2-3 เดือน แต่สุดท้ายก็ต้องกลับมา รพ.อยู่ดี เทเลเมดิซีน หรือการแพทย์ทางไกลช่วยได้แค่เป็นด่านหน้า ดูอาการทั่วไปแบบพื้นฐาน

แต่สุดท้ายก็ต้องกลับมาตรวจอย่างละเอียดที่ รพ. ประกอบกับการสั่งผ่าตัดต่าง ๆ ไม่สามารถทำได้ในระบบเทเลเมดิซีน

รพ.ใดที่รักษาโรคพื้น ๆ เช่น ปวดหัว ตัวร้อน เป็นไข้ ตรงนี้สามารถแทนที่ด้วยเทเลเมดิซีนได้ ก็จะค่อนข้างลำบาก ขณะที่ รพ.ที่รับเมดิคอลทัวริซึ่ม ลูกค้าต่างประเทศ ยังลำบาก แม้จะมีการเปิดรับชาวต่างชาติเข้ามาแล้ว

แต่การเดินทางปัจจุบันมันยุ่งยาก ถ้าไม่ใช่กลุ่มที่ต้องการรักษาด่วนจริง ๆ ก็จะไม่มา ซึ่งกลุ่มที่รักษาด่วนยังมีอัตราส่วนที่น้อยมาก ๆ แต่เมดิคอลทัวริซึ่มกลับมาแน่ ๆ แต่กลับมาได้ตอนไหนยังไม่ชัดเจน

ส่วนในด้านการสร้าง รพ.ใหม่ ๆ โควิดทำให้มาตรฐาน รพ.เปลี่ยนแปลงไป เช่น รพ.ศิริเวช ในเครือธนบุรี ที่จังหวัดจันทบุรี ได้ลงทุนสร้างตึกใหม่ 700-800 ล้านบาท ต้องปรับห้องไอซียูใหม่ทั้งหมด โดยทำชั้นหนึ่งเป็นไอซียูความดันลบสำหรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด ลงทุนทำถึง 20 ห้อง จากช่วงก่อนเกิดโควิด

ปกติมีห้องไอซียูความดันลบเพียง 2-3 ห้องเท่านั้น เพราะไม่ค่อยได้ใช้กันเท่าไร ประกอบกับราคาการสร้างค่อนข้างสูง

นอกจากนี้ โดยทั่ว ๆ ไป รพ.อาจจะมีการปรับแยกโซนต่าง ๆ ให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น อย่างถ้าคนมีอาการไข้ ไอ จาม เจ็บคอ อาจต้องไปอีกชั้นหนึ่ง เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยทั่วไปที่ไม่มีอาการได้ลดความกลัว และกลับมาเข้า รพ.ได้ตามปกติ

ส่วนด้านการลงทุนขยายเครือข่าย รพ. เชื่อว่า M&A จะเยอะขึ้น แต่เป็นในรูปแบบ รพ.ขนาดเล็กมาคอลแลบ หรือร่วมกันในหลายด้านมากขึ้น ทั้งการจัดซื้อจัดจ้าง การทำตลาดร่วมกัน เช่น เคสจองวัคซีน เป็นต้น หรือกระทั่งแชร์รีซอร์ซิ่งกัน เพื่อช่วยเหลือกัน