เปิด งบการเงิน โรงงานรองเท้าไฟไหม้กิ่งแก้ว ยี่ห้อเก่าแก่ของไทย

เปิดข้อมูล โรงงานไฟไหม้กิ่งแก้ว
ภาพจาก มติชน

เหตุเพลิงไหม้โรงงานกิ่งแก้ว โรงงานผลิตรองเท้าขนาดใหญ่ ในจังหวัดสมุทรปราการ นอกจากมูลค่าความเสียหายและอนาคตของพนักงานที่ยังไม่ชัดเจน อีกเรื่องที่หลายคนไม่ค่อยรู้คือ โรงงานแห่งนี้อยู่ภายใต้การบริหารของบริษัทรองเท้าเก่าแก่ในเมืองไทย 

วันที่ 20 ตุลาคม 2564 กรณี เกิดเหตุเพลิงไหม้โรงงานผลิตรองเท้าขนาดใหญ่ของ บริษัท วัฒนา ฟุตแวร์ จำกัด ในพื้นที่ ตำบลราชาเทวะ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ คืนวานนี้ (19 ต.ค.) คาดเสียหาย 100-300 ล้านบาท ต่อมามีรายงานว่า ทางโรงงานจะขอปิดกิจการ และจะให้ค่าจ้างเดือนนี้เป็นเดือนสุดท้าย

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงาน ได้รับมอบหมายให้ติดตามดูแลให้ความช่วยเหลือลูกจ้างพนักงานโรงงานผลิตรองเท้า บริษัท วัฒนาฟุตแวร์ จำกัด ซึ่งยังไม่แน่ชัดว่าจะมีการเลิกจ้างพนักงานลูกจ้างหรือไม่

“ประชาชาติธุรกิจ” ตรวจสอบข้อมูล บริษัท วัฒนาฟุตแวร์ จำกัด พบว่า มีการจดทะเบียนประกอบธุรกิจ ประเภท การผลิตรองเท้าหนัง โดยจดทะเบียนเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2531 ด้วยทุนจดทะเบียน 45 ล้านบาท

รายชื่อคณะกรรมการทั้ง 6 คน ประกอบด้วย

  1. นายพิชัย จงสถิตย์วัฒนา
  2. นางเสาวณีย์ จงสถิตย์วัฒนา
  3. นายกิตติ จงสถิตย์วัฒนา
  4. นางเกศินี เหลืองรัตนากร
  5. นายก้องเกียรติ จงสถิตย์วัฒนา
  6. นางสาวกายแก้ว จงสถิตย์วัฒนา

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า รายงาน งบแสดงฐานะการเงิน บริษัท วัฒนาฟุตแวร์ จำกัด ระหว่างปี 2561-2563 ดังนี้

  • ปี 2561 มีรายได้รวม 242 ล้านบาท กำไร 1.8 ล้านบาท
  • ปี 2562 มีรายได้รวม 202 ล้านบาท กำไร 1.3 ล้านบาท
  • ปี 2563 มีรายได้รวม 138 ล้านบาท ขาดทุน 6.4 ล้านบาท

ข้อมูลจากเว็บไซต์บริษัท ระบุว่า บริษัท วัฒนาฟุตแวร์ จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่าย รองเท้าผ้าใบบั๊ดดี้ Buddy, รองเท้าคลิ๊กส์ Clicks, รองเท้ากีฬาไดนามิค Dynamic, รองเท้ายาง บอน-แซด Bon-Z, รองเท้าแฟชั่นจัมพ์ Jump, รองเท้าสตุ๊ทการ์ท Stuttgart และ รองเท้าตราอูฐ Camel

เมื่อปี 2531 ผู้จัดการ 360 องศา รายงานว่า ต้นตระกูล จงสถิตย์วัฒนา คือ “จงอิวกวง” ชาวจีนโพ้นทะเลที่หอบเสื่อผืนหมอนใบข้ามทะเลมาหากินในเมืองไทย เขาเริ่มต้นธุรกิจรองเท้าตั้งแต่ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ในย่านเยาวราช ก่อนจะย้ายทำเลไปที่เจริญกรุง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสงครามโลก พร้อมกับเปลี่ยนชื่อแบรนด์รองเท้าจาก 555 เป็น ตราอูฐ เพื่อแสดงถึงความทนทาน

ธุรกิจของครอบครัว จงสถิตย์วัฒนา เริ่มขยายไปต่างจังหวัด โดยการบุกเบิกของ “พิชัย” ลูกชายของจงอิวกวง ซึ่งมีประสบการณ์จากอาชีพเซลส์แมนบริษัทคอลเกต

หลังจงอิวกวงเสียชีวิต พิชัยกับน้อง ๆ ที่เกิดจากแม่เดียวกัน ได้แยกตัวออกมาทำบริษัทรองเท้าตราอูฐ เมื่อปี 2520 ด้วยทุนจดทะเบียน 4 ล้านบาท โดยมีคู่แข่งสำคัญคือ “บาจา”

ต่อมา บริษัท รองเท้าตราอูฐ ได้แตกลูกออกมาอีก 3 บริษัท ได้แก่ เอเอ มาร์เก็ตติ้ง, บริษัทรองเท้าเอเอ และ เอเอ ฟุตแวร์ โดยให้แต่ละบริษัทยืนได้ด้วยตัวเอง ไม่อาศัยเงินทุนจากบริษัทแม่

นี่คือเรื่องราวบางส่วนของโรงงานรองเท้าที่เผชิญมรสุมหลายระลอก ก่อนจะเจอเหตุเพลิงไหม้ครั้งล่าสุด