“อิโตชู” ทุ่ม 4 พันล้านเยน เจาะอีคอมเมิร์ซแดนมังกร

Market Move

เป็นที่ทราบกันดีว่า สินค้าญี่ปุ่นนั้นเป็นที่ชื่นชอบของนักช็อปชาวจีนทุกระดับกำลังซื้อ ด้วยความเชื่อว่ามีคุณภาพและปลอดภัยกว่าสินค้าแบรนด์จีนเอง ทำให้ตลอดช่วงปีนี้แบรนด์ญี่ปุ่นหลายรายเริ่มปรับตัวเพิ่มกำลังผลิต และส่งสินค้าไปขายในจีนกันมากขึ้น เพื่อชิงเม็ดเงินจากดีมานด์นี้

โดยอีคอมเมิร์ซถือเป็นช่องทางที่เติบโตสูงจนคาดว่าในปี 2020 สินค้าญี่ปุ่นจะทำยอดขายในช่องทางนี้ได้มากถึง 2 ล้านล้านเยน แต่ยังมีความท้าทายนั่นคือ ผู้เล่นรายใหญ่เป็นบริษัทจีนทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น อาลีบาบา เจดีดอทคอม และ เน็ตอีส ครองส่วนแบ่งตลาดรวมกันกว่า 60% ทำให้ยากที่ผู้เล่นต่างประเทศจะเข้าร่วมแข่งขัน

เรื่องนี้ทำให้ “อิโตชู” หนึ่งเทรดคอมปะนีรายใหญ่ของญี่ปุ่นที่มีธุรกิจหลากหลายในมือ ทั้งแฟชั่น ค้าปลีก อาหาร ฯลฯ เช่น เชนร้านสะดวกซื้อแฟมิลี่มาร์ท, รองเท้าคอนเวิร์ส, พอล สมิท (Paul Smith), โดล (Dole) ออกมาเคลื่อนไหว โดยตัดสินใจเปิดแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของตนเองในจีน เพื่อเป็นช่องทางนำสินค้าจากญี่ปุ่นเข้าไปขาย และเป็นใบเบิกทางเข้าร่วมกระแสช็อปปิ้งออนไลน์ที่กำลังมาแรงในแดนมังกรอีกด้วย

สำนักข่าว “นิกเคอิ” รายงานว่า“อิโตชู” ทุ่มเงิน 4 พันล้านเยน เพื่อขยับเป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 2 ของบริษัท
สตาร์ตอัพ “อินะโกระ” (Inagora) ผู้สร้างและบริหาร “วานโดว” (Wandou) แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซด้านแฟชั่น ความงาม และอาหารในจีน ซึ่งปัจจุบันมีผู้ใช้กว่า 3 ล้านคน สร้างรายได้ 1.5 หมื่นล้าน
เยน เติบโต 6 เท่าจากปีก่อน อีกทั้งมีจุดแข็งด้านการทำวิดีโอนำเสนอสินค้าญี่ปุ่นได้ตรงใจผู้บริโภคจีน โดยหวังใช้จุดแข็งเหล่านี้เป็นช่องทางนำสินค้าญี่ปุ่นเข้าไปขายในจีน

“มาซาฮิโระ โอกาฟูจิ” ประธานของอิโตชูกล่าวว่า อีคอมเมิร์ซจะเป็นหัวใจสำคัญของแผนธุรกิจระยะกลางในจีนที่จะเริ่มตั้งแต่ปีงบฯ 2561 (เม.ย. 61-มี.ค. 62) เป็นต้นไป ด้วยปัจจัยบวก ทั้งกระแสการเติบโตและโอกาสทางธุรกิจที่หลากหลาย

โดยนอกจากเม็ดเงินลงทุนแล้วอิโตชูเตรียมระดมสรรพกำลังจากบริษัทในเครือมาหนุนแผนการนี้ ทั้งด้านส่งสินค้าแบรนด์ญี่ปุ่นที่จะปูพรมวางขายบนวานโดว ตั้งแต่สินค้าโอท็อปขึ้นชื่อของแต่ละท้องถิ่นจากสต๊อกของแฟมิลี่มาร์ท และยีนส์จาก “เอ็ดวิน” (Edwin) ผู้ผลิตยีนส์รายใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น รวมถึงสินค้าอาหารจาก “นิปปอนแอ็กเซส” (Nippon Access)

ด้านการขนส่งสินค้าจะใช้เครือข่ายของอิโตชู โลจิสติกส์ ที่มีโกดังสินค้ากว่า 100 แห่งกระจายทั่วจีนแผ่นดินใหญ่ และเตรียมสร้างโกดังสำหรับอีคอมเมิร์ซโดยเฉพาะเพิ่มอีก เช่นเดียวกับด้านงานขายซึ่งจะเพิ่มพนักงานพร้อมกับเดินสายจูงใจให้บรรดาบริษัทญี่ปุ่นอื่น ๆ ส่งสินค้ามาขายบนแพลตฟอร์มนี้

เพื่อเสริมแกร่งให้ไลน์อัพ ก่อนจะขยายฐานออกไปยังไต้หวัน มาเลเซีย และประเทศอื่น ๆ ในปี 2561 ที่จะถึงนี้ ซึ่งทางอินะโกระคาดว่าด้วยแรงหนุนจากอิโตชู จะทำให้ยอดขายเพิ่มเป็น 1 แสนล้านเยนในปี 2562 และขยับไปถึง 1.76 แสนล้านเยนในปี 2563

ทั้งนี้ที่ผ่านมา อิโตชูเคยลงทุนด้านค้าปลีกในจีนมาแล้วหลายด้าน แต่ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก รวมถึงอีคอมเมิร์ซด้วย โดยร่วมมือกับ “ซิติก” (Citic) ซึ่งเป็นเครือบริษัทขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของจีน เปิดตัวเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซระดับไฮเอนด์เมื่อช่วงต้นปี แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเช่นกัน ส่งผลให้บริษัทมองหาพันธมิตรมาหนุนด้านการทำตลาดแบบยืดหยุ่นและรวดเร็ว ให้สามารถตามเทรนด์ของผู้บริโภคได้ทัน ซึ่งตรงกับจุดแข็งของอินะโกระ

ด้านนักวิเคราะห์ให้ความเห็นว่า การจะปะทะกับผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดอีคอมเมิร์ซจีนให้ได้อย่าง
สมน้ำสมเนื้อ อิโตชูจะต้องอาศัยแรงหนุนจากพันธมิตรอย่างโนว์ฮาวด้านกระจายสินค้าของแฟมิลี่มาร์ท-ยูนิโฮลดิ้งบริษัทแม่ของแฟมิลี่มาร์ท และฐานลูกค้าของซิติกกรุ๊ป ซึ่งต้องรอดูว่าทั้ง 3 ฝ่ายจะร่วมมือกันได้ราบรื่นมากน้อยเพียงใด