ฮาคูโฮโดฯชี้ปีใหม่ฟื้นกำลังซื้อ จับตาอีสาน-ใต้แชมป์ใช้จ่ายสูงสุด

SALE

 

ฮาคูโฮโดฯเผยผลวิจัย ชี้เปิดประเทศฟื้นความหวัง อาหารเครื่องดื่มยอดจับจ่ายสูงสุด ผลักดันบรรยากาศท่องเที่ยวในเทศกาลเฉลิมฉลองสุดคึกคัก แนะปลุกกำลังซื้อผู้บริโภคผ่าน 2 ข้อหลัก วางแผนแบรนด์ และสร้างแรงกระตุ้นทางอารมณ์ ปลุกมู้ดจับจ่าย ขณะที่ภาคอีสาน-ใต้ แนวโน้มการจับจ่ายสูงสุดเพื่อให้รางวัลตัวเอง

นางสาวชุติมา วิริยะมหากุล ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจ สถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า คนไทยส่วนใหญ่มีความหวังมากขึ้น ถึงแม้จะยังมีความกังวลกับสถานการณ์และการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือพลังใจที่คนไทยทั้งประเทศกำลังเรียกคืนความสุขกลับมานั้นเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก รวมไปถึงพลังแห่งการใช้จ่าย ที่น่าจับตามอง โดยหลังจากประกาศเปิดประเทศบรรยากาศต่าง ๆ และธุรกิจการท่องเที่ยวก็เป็นไปอย่างคึกคักเพื่อรองรับเทศกาลแห่งการเฉลิมฉลอง

โดยผลสำรวจพบว่าคนไทยมีความสุขมากขึ้น 9% และกลุ่มผู้บริโภคเพศหญิงยังคงพร้อมใจช็อปปิ้งรับความสุขซึ่งเพิ่มสูงขึ้น 5% เมื่อเทียบจากผลสำรวจในช่วงเดือนตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา โดยมีข้อเสนอแนะที่สำคัญเกี่ยวกับแนวโน้มความต้องการในการใช้จ่ายของผู้บริโภคอยู่ 2 ข้อ ได้แก่

1.คนไทยเตรียมวางแผน แบรนด์ควรสร้างธีมเฉลิมฉลองในช่วงเทศกาลแห่งความสุข แบรนด์ต่าง ๆ ก็พากันตื่นตัวและอาศัยบรรยากาศในช่วงเทศกาลแห่งการเฉลิมฉลองนี้กระตุ้นให้ผู้บริโภคหันมามอบรางวัลให้แก่ตัวเองด้วยเช่นกัน ถือเป็นตัวกระตุ้นชั้นดีที่จะทำให้ตัวของผู้บริโภคกล้าตัดสินใจที่จะใช้จ่ายมากขึ้น

2.แรงกระตุ้นด้านอารมณ์ ส่งผลต่อการตัดสินใจใช้จ่ายแบบทันที จะเห็นได้ว่าการทำกิจกรรมนอกบ้าน ถือเป็นแรงกระตุ้นอารมณ์ ส่งผลไปสู่การจับจ่าย ไม่ว่าจะเป็นการทานอาหารนอกบ้าน การท่องเที่ยวภายในประเทศ โปรโมชั่นลดแลกแจกแถมที่กระตุ้นให้ผู้บริโภคใช้จ่ายแบบปัจจุบันทันด่วนได้เป็นอย่างดี ธุรกิจท้องถิ่นต่าง ๆ กลับมาเปิดให้บริการได้อีกครั้ง นักการตลาดต่างรีบส่งกลยุทธ์ทางธุรกิจเพื่อเชื่อมโยง
แบรนด์ไปสู่สินค้าชุมชนได้มากขึ้น

ด้านนางสาวณัฐนิกา ตันวงค์ประเสริฐ ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนกลยุทธ์ บริษัท สปา-ฮาคูโฮโด จำกัด กล่าวว่า สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนจากผลวิจัยในครั้งนี้ พบว่ากลุ่มผู้บริโภคผู้หญิงมีความสุขเพิ่มสูงขึ้น วิถีการดำเนินชีวิตได้กลับไปใช้ชีวิตตามปกติ หลายโรงเรียนต่าง ๆ ทั้งในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล รวมไปถึงโรงเรียนในต่างจังหวัดเริ่มกลับมาเปิดทำการเรียนการสอน และหากแบ่งสัดส่วนตามภูมิภาคพบว่า ภาคกลาง มีความหวังว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้น จึงมีความกล้าที่จะใช้จ่ายกับของใช้ส่วนตัว ภาคตะวันออก มีความหวังว่าการเงินจะฟื้นฟูและมีแนวโน้มที่จะใช้จ่ายกับสินค้าฟุ่มเฟือย

ส่วนภูมิภาคที่มีแนวโน้มการใช้จ่ายสูงสุดเท่ากัน คือภาคอีสานและภาคใต้ ที่เตรียมตัวเฉลิมฉลองเทศกาลแห่งความสุขเพื่อเป็นการให้รางวัลแก่ตัวเอง ซึ่งหากจำแนกเป็นช่วงอายุ พบว่าอายุ 40-49 ปี โดยเฉพาะผู้มีรายได้หลักของครอบครัวนั้น มีแนวโน้มที่จะจับจ่ายสินค้าฟุ่มเฟือยเพิ่มมากขึ้น เพื่อความสะดวกสบายและให้รางวัลให้แก่ตัวเอง โดย 5 กลุ่มสินค้าที่ผู้บริโภคจับจ่ายมากที่สุด ได้แก่ อาหารและเครื่องดื่ม 18%, โทรศัพท์มือถือและสมาร์ทโฟน 11%, ของใช้จำเป็นในชีวิตประจำวัน 10%, การท่องเที่ยวภายในประเทศ 8% และเสื้อผ้าและเครื่องประดับ 7%

อย่างไรก็ดี จากการคาดการณ์พฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศไทยประจำเดือนธันวาคม 2564 พบว่าความสนใจของคนส่วนใหญ่หนีไม่พ้นประเด็นทางสังคมที่สะท้อนให้เห็นถึงกรอบความคิดของผู้บริโภคที่เป็นไปในทิศทางที่มีความหวังมากยิ่งขึ้นโดยความสนใจ 3 อันดับแรก ได้แก่ 1.ข่าวสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 27% 2.ข่าวสถานการณ์น้ำท่วม 15% และ 3.ข่าวการเปิดประเทศเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ 9% นอกจากนี้ยังมีข่าวการลงทุนบิตคอยน์ที่มาแรง