“เลเซอร์วิชั่น” ทุ่มงบ 30 ล้าน นำเข้าเทคโนโลยีรักษาดวงตา

เลเซอร์วิชั่น

“เลเซอร์วิชั่น” รับมือตลาดรักษาดวงตา 2,000 ล้านบาทแข่งดุ เดินเครื่องกิจกรรมการตลาดครบวงจรทั้งออฟไลน์-ออนไลน์ ควบคู่กับการให้ความรู้ความเข้าใจลูกค้า พร้อมทุ่ม 30 ล้านบาท นำเข้าเทคโนโลยีใหม่ “นาโนรีเลกซ์ เคลียร์” รักษาสายตาสั้น เอียง และสายตายาว เพิ่มทางเลือกสำหรับผู้มีปัญหาภาวะสายตาผิดปกติ มั่นใจดันเป้าโต 30% ปี’65

รศ.นพ.อนันต์ วงศ์ทองศรี ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ และจักษุแพทย์ประจำศูนย์รักษาสายตา เลเซอร์วิชั่น เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ก่อตั้งมากว่า 25 ปี ในยุคนั้นการแข่งขันในธุรกิจยังไม่สูงมากนัก และเทคโนโลยีเลสิกยังไม่แพร่หลายในไทย จึงเห็นแนวโน้มทางการเติบโตและได้ก่อตั้งศูนย์รักษาตาเลเซอร์วิชั่นขึ้น เน้นเจาะกลุ่มลูกค้าที่มีปัญหาสายตาโดยเฉพาะ ช่วงแรกของการเปิดให้บริการมีศูนย์รักษาสายตาเพียง 2-3 แห่ง ซึ่งปัจจุบันแนวโน้มการแข่งขันรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดยจนปัจจุบันประเทศไทยมีศูนย์รักษาสายตาราว 50 แห่งทั่วประเทศ ในเขตกรุงเทพฯมีศูนย์รักษาตาราว 30 แห่ง และมีมูลค่าตลาดรวมราว 2,000 ล้านบาทต่อปี มีผู้ที่ผ่าตัดรักษาสายตาในไทยราว 4-5 หมื่นตาต่อปี โดยแนวโน้มก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ศูนย์รักษาสายตาทั้งรูปแบบสแตนด์อะโลนและเปิดศูนย์เฉพาะทางในโรงพยาบาลก็มีจำนวนสูงมากขึ้นตามตัวการเติบโต

“ปัจจุบันกลุ่มลูกค้าหลักของบริษัทมีสายตาสั้น เอียง กว่า 80-90% ขณะที่อีก 10% เป็นปัญหาสายตาด้านอื่น ๆ อาทิ สายตาเอียง เป็นต้น โดยมีจำนวนผู้ที่มารักษาต่อปี 2,000 การผ่าตัดต่อปี และมีจำนวนคนมาตรวจราว 5,000 เคสต่อปี มีสัดส่วนลูกค้าชาวต่างชาติ อาทิ ยุโรป ตะวันออกกลาง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 20-30% และคนไทย 70-80% แต่หลังจากการระบาดของโควิด-19 ก็โฟกัสคนไทยมากขึ้น”

ทั้งนี้จากการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นและจำนวนผู้เล่นในตลาดที่มีมากขึ้น และการระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้ศูนย์ต้องมีการปรับแผนการดำเนินงานครั้งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการนำเรื่องของออนไลน์เข้ามาใช้ ควบคู่กับการสื่อสารแบรนด์กับลูกค้า การทำ CRM โปรโมชั่นกับลูกค้าอย่างต่อเนื่อง และการสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ลูกค้า เนื่องจากการรักษาดวงตามีโปรดักต์ใหม่ ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ต้องสื่อสารถึงนวัตกรรมในการสร้างความเข้าใจ

“แม้เราจะมีการนำออนไลน์เข้ามาใช้ควบคู่กับการรักษา แต่ก็ไม่ได้เต็มรูปแบบมากนัก เนื่องจากการรักษาตาจำเป็นต้องติดต่อสื่อสารทางตรง ซึ่งรูปแบบออนไลน์หรือเทเลเมดิซีนที่เรานำมาใช้ที่ผ่านมา ประกอบไปด้วยการให้ความรู้ ความเข้าใจ การดูแลหลังการผ่าตัดผ่านคอลเซ็นเตอร์ต่าง ๆ หรือการถ่ายรูปเพื่อดูแลรักษาดวงตาอย่างต่อเนื่อง”

รศ.นพ.อนันต์เผยว่า ขณะที่แผนงานในช่วงสิ้นปีนี้ไปจนถึงปี 2565 เตรียมใช้งบประมาณ 30 ล้านบาท เพื่อนำเข้าเทคโนโลยีใหม่ในแบบการผ่าตัดแผลเล็กระดับนาโน หรือที่เรียกว่า “นาโนรีเลกซ์ เคลียร์” (NanoRelex CLEAR) ซึ่งคิดค้นขึ้นมาเพื่อรักษาสายตาสั้น เอียง และสายตายาว หรือ NanoRelex ที่มีจุดเด่นใช้ระยะเวลาผ่าตัดน้อย แผลมีขนาดเล็ก นอกจากนี้ยังมีการนำระบบ AI เข้ามาใช้เพื่อวิเคราะห์การรักษา วิเคราะห์ปัญหาสายตา ที่ให้แผลเล็กกว่าการเลสิกทั่วไป

ทั้งนี้เพื่อเสริมแกร่งทางการรักษาดวงตา สร้างทางเลือกให้ลูกค้า ควบคู่กับการให้ความรู้ความเข้าใจแก่ลูกค้าเกี่ยวกับการทำเลสิกอย่างต่อเนื่อง เน้นเจาะตลาดพรีเมี่ยมหรือตั้งแต่ตลาดกลาง-บนเป็นหลัก โดยมีค่าบริการแล้วแต่แพ็กเกจเริ่มตั้งแต่กว่า 50,000-หลักแสนบาทต่อดวงตาสองข้าง

ขณะที่ภาพรวมตลาดในปี 2565 ประเมินว่าการแข่งขันในธุรกิจไม่สูงมากนัก เนื่องจากยังเป็นช่วงของการระบาดของโควิด-19 ที่สถานการณ์ไม่ปกติ และนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติยังไม่เดินทางมากนัก ซึ่งรูปแบบของการแข่งขันก็ขึ้นอยู่กับฐานลูกค้าของแต่ละแบรนด์ที่จะไปในทิศทางไหน เช่น กลุ่มโรงพยาบาล ศูนย์รักษาเฉพาะทาง เป็นต้น

แต่ละแห่งจะมีกลุ่มเป้าหมายของตัวเองและจะมีการทำการตลาด และเรื่องของการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียต่าง ๆ โดยในส่วนของบริษัทเองจะชูจุดเด่นเรื่องความเชี่ยวชาญของแพทย์เฉพาะทาง เทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่นำเข้ามาใช้เพื่อการรักษา และมีประสบการณ์ยาวนานกว่า 25 ปี และใช้เทคโนโลยีที่ชัวร์ในการทำมารักษาคนไข้

“แม้การแข่งขันจะรุนแรงมากขึ้น มีจำนวนศูนย์ที่เปิดให้บริการมากขึ้น แต่ทางบริษัทคงไม่มีการขยายสาขาจำนวนมากแต่อย่างใด เนื่องจากการขยายศูนย์รักษาดวงตาแต่ละแห่งใช้งบฯลงทุนค่อนข้างสูง ไม่ต่ำกว่าหลักร้อยล้านบาท ขณะที่เรื่องของบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญยังค่อนข้างมีจำนวนจำกัดอยู่ ก็ถือเป็นหนึ่งอุปสรรคต่อการขยายสาขา ขณะที่ความท้าทายในการดำเนินธุรกิจคือเรื่องของคน 1 คนเทรนเป็นปี และใช้เวลาสะสมประสบการณ์หลายปีกว่าจะเป็นผู้เชี่ยวชาญ ขณะอีกความท้าทายหลักคือเรื่องของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นแบบไม่คาดคิด วิถี new normal และการปรับตัวของผู้ประกอบการ”

อย่างไรก็ตาม บริษัทวางเป้าหมายยอดการเติบโตในปีหน้าไม่ต่ำกว่า 20-30% หากสถานการณ์กลับมาปกติแล้ว ขณะที่แผนงานระยะยาว 3-5 ปีของบริษัท คือการเป็นศูนย์รักษาสายตาที่อยู่ในใจลูกค้า ที่มีปัญหาเกี่ยวกับดวงตาเป็นลำดับต้น ๆ ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ