โรงพยาบาลสหรัฐไม่ง้อซัพพลายเชน แห่ตั้ง-ซื้อหุ้นโรงงานผลิต N95 ใช้เอง

โรงพยาบาลสหรัฐไม่ง้อซัพพลายเชน แห่ตั้ง-ซื้อหุ้นโรงงานผลิต N95 ใช้เอง
Market-Move

ภาพเหตุการณ์ขาดแคลนอุปกรณ์ป้องกันโรคติดต่ออย่างหน้ากาก N95, ถุงมือยาง, ชุด PPE ฯลฯที่เกิดขึ้นในช่วงต้นของการระบาดของโรคโควิด-19 ยังคงสร้างความกังวลให้กับผู้เกี่ยวข้องในวงการสาธารณสุขทั่วโลกมาจนถึงปัจจุบัน

ความกังวลนี้ทำให้โรงพยาบาล และหน่วยงานสาธารณสุขหลายแห่งในสหรัฐอเมริกา ตัดสินใจเข้าไปเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์จำเป็นเหล่านี้ด้วยตนเอง ไม่ว่าจะด้วยการตั้งโรงงานหรือเข้าซื้อหุ้นในบริษัท-โรงงานผู้ผลิต เพื่อการันตีว่าบุคลากรและผู้ป่วยของตนจะได้รับอุปกรณ์แน่นอน

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานถึงปรากฏการณ์นี้ว่า เครือโรงพยาบาล “โอเอสเอฟ เฮลท์แคร์” (OSF HealthCare), “พรีเมียร์ จีพีโอ” (Premier GPO)และวิซิเอนต์ (Vizient) สองซัพพลายเออร์ด้านการแพทย์รายใหญ่ของสหรัฐ

ซึ่งจัดซื้อและกระจายอุปกรณ์ให้แก่โรงพยาบาลหลายแห่ง ต่างขยายธุรกิจเข้าไปเป็นผู้ผลิตหน้ากาก N95 หวังรับมือความเสี่ยงด้านสต๊อกสินค้า

โดย โอเอสเอฟ เฮลท์แคร์ ลงทุนตั้งโรงงานผลิตอุปกรณ์ป้องกันการระบาด รวมถึงยาของตนเองตั้งแต่ปี 2563 ด้วยการนำเข้าเครื่องจักรผลิตหน้ากากอนามัยและหน้ากาก N95 จากอินเดีย และประเทศอื่น ๆ เพื่อป้องกันความเสียหายจากวิกฤตสินค้าขาดแคลนที่เคยเกิดขึ้นในช่วงต้นของการระบาด

“พินัค ชาร์” หัวหน้าเจ้าหน้าที่ซัพพลายเชนของโอเอสเอฟฯ อธิบายว่า ช่วง 8 เดือนนับตั้งแต่ตัดสินใจลงทุนตั้งไลน์ผลิตหน้ากากนั้น โรงพยาบาลผลิตหน้ากากอนามัยออกมาแล้วกว่า 1 ล้านชิ้น ซึ่งนำมาใช้รองรับทั้งบุคลากรและผู้ป่วย

ขณะเดียวกันยังอยู่ระหว่างนำเข้าเครื่องจักรผลิตหน้ากาก N95 กำลังผลิต 1 ล้านชิ้นต่อปีอีกด้วย โดยเป็นไปตามแผนที่จะให้เครือโรงพยาบาลสามารถพึ่งพาตนเองแบบ 100% แม้จะมีพื้นที่รับผิดชอบครอบคลุมประชากรกว่า 3 ล้านคนก็ตาม

ทั้งนี้แม้โอเอสเอฟฯจะไม่เปิดเผยเม็ดเงินลงทุน แต่เปิดเผยคาดการณ์ว่า เครื่องจักรผลิตหน้ากาก N95 จะสามารถคืนทุนได้ภายใน 2 ปี ส่วนเครื่องจักรผลิตหน้ากากอนามัยจะคืนทุนใน 18 เดือน

“แม้ต้นทุนของการผลิตเองจะสูงกว่าการซื้อจากซัพพลายเออร์รายที่ถูกที่สุดเล็กน้อย แต่ช่วยป้องกันความเสี่ยงต่าง ๆ เช่น สต๊อกสินค้า และความผันผวนของราคาได้”

ด้าน พรีเมียร์ จีพีโอ และ วิซิเอนต์นั้นอาศัยการจับมือเป็นพันธมิตร ร่วมทุนไปจนถึงเข้าซื้อหุ้นในบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์หลายรายในสหรัฐ ตัวอย่างเช่น พรีเมียร์ฯ และโรงพยาบาลสมาชิก 15 แห่ง

เซ็นสัญญาจัดซื้อหน้ากากอนามัยและหน้ากาก N95 จากผู้ผลิตรายหนึ่งเป็นเวลา 6 ปี ส่วนวิซิเอนต์ ทำสัญญาจัดซื้อหน้ากาก N95 จำนวน 9 ล้านชิ้นในเวลา 12 เดือน

โดยรวมแล้วช่วง 18 เดือนที่ผ่านมา วิซิเอนต์ลงทุนไปกว่า 12 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 396 ล้านบาท ส่วนพรีเมียร์ฯไม่เปิดเผยเม็ดเงินลงทุน

“ไมเคิล อัลไคล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของพรีเมียร์ฯ กล่าวว่า การตัดสินใจลงทุนนี้เป็นเพราะช่วงต้นปี 2563 บริษัทได้บทเรียนราคาแพง เมื่อจีนสั่งให้ซัพพลายเออร์ในไต้หวันส่งหน้ากาก N95 ที่บริษัทสั่งซื้อไว้ไปยังแผ่นดินใหญ่แทน

ความเคลื่อนไหวเหล่านี้เป็นตัวอย่างของกลยุทธ์รับมือความท้าทายด้านซัพพลายเชนของวงการแพทย์สหรัฐ