สธ.ห่วงผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ช่วงสงกรานต์ อาจเกิน 5 หมื่นราย

โควิด ATK

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ประเมินสถานการณ์โควิดน่าห่วง เส้นกราฟผู้ป่วยปอดอักเสบ ใส่ท่อช่วยหายใจ เพิ่มขึ้น พร้อมคาดการณ์ผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ ช่วงสงกรานต์ อาจพุ่งเกิน 5 หมื่นราย แนะลูกหลาน พาผู้สูงอายุเร่งฉีดวัคซีน ลดโอกาสเสียชีวิต

วันที่ 4 มีนาคม 2565 นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากประเมินสถานการณ์การระบาดโควิดก่อนสงกรานต์ ให้ดูจากฉากทัศน์ที่มีการนำเสนอที่ผ่านมา สถานการณ์ ขณะนี้น่าเป็นห่วง อย่างเส้นกราฟผู้ป่วยปอดอักเสบและใส่ท่อช่วยหายใจ กำลังขยับเพิ่มขึ้น จากฉากทัศน์ทั้ง 3 ฉากทัศน์ มีโอกาสขึ้นเป็นฉากทัศน์สูงสุดได้

จึงต้องเข้มมาตรการทั้งหมด รวมทั้งการฉีดวัคซีนจะช่วยลดความรุนแรงของโรคได้ และจะทำให้อัตราการเพิ่มของผู้ป่วยปอดอักเสบและใส่ท่อช่วยหายใจไม่มากเกินศักยภาพของระบบรักษาพยาบาล ซึ่งคาดว่า จุดสูงสุดการระบาดที่ทำให้ผู้ป่วยอาการรุนแรงน่าจะอยู่ในช่วงต้นเดือน พ.ค.

เมื่อถามต่อว่า ช่วงก่อนสงกรานต์จะมีแนวโน้มผู้ติดเชื้อเป็นอย่างไร นพ.โสภณ กล่าวว่า จากตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ขณะนี้ ซึ่งเป็นเส้นสีน้ำเงิน เทียบกับฉากทัศน์ทั้ง 3 เราอยู่ในระดับความเสี่ยงที่จะมีผู้ติดเชื้อต่อเนื่อง ซึ่งฉากทัศน์เส้นล่างสุดที่เป็นเส้นสีเขียวจะไม่เป็นจริงแล้ว ถ้าดูจากอัตราการติดเชื้อเพิ่มของไทย มีโอกาสเป็นเส้นสีเหลือง และสีแดง

โดยหากสีเหลืองจะมีผู้ติดเชื้อสูงสุดประมาณ 5 หมื่นกว่ารายต่อวันในช่วงประมาณวันที่ 19 เม.ย. แต่หากเราไม่สามารถคงมาตรการเข้มงวด ทั้งการสวมหน้ากากอนามัย การป้องกันตัวเองแบบเข้มงวด และหากไม่ลดพฤติกรรมเสี่ยง ก็อาจมีโอกาสพบติดเชื้อรายใหม่มากกว่า 5 หมื่นรายต่อวัน หรือเพิ่มอีก 2 เท่า

นายแพทย์โสภณ ผู้สูงอายุฉีดวัคซีนก่อนสงกรานต์ กล่าวต่อว่า สถานการณ์โควิด-19 วันที่ 3 มีนาคม 2565 เป็นสายพันธุ์โอมิครอนทั้งหมด ขณะที่ประเทศเกาหลีใต้ เวียดนาม มีจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่เกินวันละแสนราย ขณะที่ประเทศไทยก็เพิ่มขึ้น ค่าเฉลี่ย 14 วัน 22,000 ราย วันนี้ (4 มีนาคม 2565) ผู้ติดเชื้อตรวจผ่าน PCR จำนวน 28,834 ราย

ขณะที่ตัวเลขที่เพิ่มขึ้น สายพันธุ์โอมิครอนมีความรุนแรงน้อยกว่า ถ้าเทียบกับสายพันธุ์เดลต้า และจากจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น ทำให้มีจำนวนผู้ป่วยรุนแรง เช่น ปอดอักเสบ เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน ในระหว่าง 2 สัปดาห์ เพิ่มขึ้น 1.5 เท่า และใส่ท่อช่วยหายใจเพิ่มขึ้น 2 เท่า แม้ว่าอัตราการป่วยหนัก เสียชีวิต น้อยกว่าปี 2564 แต่ยังมีกลุ่มเสี่ยงผู้สุงอายุที่ยังไม่ได้รับวัคซีน

จากข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-24 กุมภาพันธ์ ตามกลุ่มอายุ พบว่า กลุ่มวัยทำงานและเด็ก มีการติดเชื้อมากสุด คือ อายุ 20-29 ปี ถัดมา อายุ 10-19 และ 0-9 ปี มีอัตราการติดเชื้อมากสุด รองลงมาเป็นกลุ่ม อายุ 30-39 ปี ซึ่งอาจไม่ส่งผลกระทบต่อการป่วยหนักและเสียชีวิต

ขณะที่ผู้สูงอายุ 50-59 ปี มีโอกาสติดเชื้อน้อยกว่าวัยหนุ่มสาว แต่อัตราป่วยแล้วเสียชีวิตสูงกว่า แสดงเห็นว่ายิ่งผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวมีโอกาสเสียชีวิตมากกว่า จากสถิติสูงสุด 2 เดือน ผู้สูงอายุเสียชีวิต 54 ราย ร้อยละ 80 ส่วนใหญ่มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป และยังพอข้อมูลผู้สูงอายุเสียชีวิตจากโควิดวันที่ 1 มกราคม-28 กุมภาพันธ์ ทั้งหมด 928 ราย เกือบครึ่งยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน คิดเป็นสัดส่วน 60% และได้รับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 คิดเป็นสัดส่วนเพียง 8% ถือว่ายังน้อยมาก

ดังนั้น จึงต้องเร่งรัดฉีดวัคซีนให้ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และฉีดเข็มกระตุ้น เข็ม 2, 3,4 ในระยะเวลาที่ครบกำหนด เพื่อลดโอกาสเสียชีวิต ในทางปฏิบัติ ให้หน่วยงานในแต่ละจังหวัด ค้นหาผู้สูงอายุที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน และทำทะเบียน ให้ข้อมูลทุกทาง หากยินยอมแล้วให้รับวัคซีนทันที