สธ.ปรับเพิ่มยาโมลนูพิราเวียร์ -แพกซ์โลวิด รักษาผู้ป่วยโควิดกลุ่มเสี่ยง 608

สธ. เตรียมแนวทางรักษาโควิดสู่โรคประจำถิ่น ปรับเพิ่มยาโมลนูพิราเวียร์-แพกซ์โลวิด รักษาผู้ป่วยโควิดกลุ่มเสี่ยง 608

วันที่ 16 มีนาคม 2565 ตามที่มีการเผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับประเด็นเรื่องปรับเพิ่มยาโมลนูพิราเวียร์ และแพกซ์โลวิด ในการักษาผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มเสี่ยง 608 ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้นเป็นข้อมูลจริง

หลังจากที่กระทรวงสาธารณสุขมีแผนมาตรการในการเปลี่ยนผ่านโควิด-19 สู่การเป็นโรคประจำถิ่นที่จะเริ่มในเดือนกรกฎาคม 2565 ได้มีแนวทางการรักษาที่ต้องเกิดการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องตามสถานการณ์

ซึ่งที่ผ่านมาการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 จากที่ต้องเข้าโรงพยาบาลทุกรายนั้น ก็จะค่อย ๆ ปรับมาสู่ระบบการรักษาตัวที่บ้าน หรือรูปแบบอื่น และหากตัวโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนไม่มีความรุนแรงของโรคที่มากขึ้น

โดยทิศทางการรักษาจะเน้นรักษาแบบผู้ป่วยนอก OPD เป็นหลัก หากเชื้อไม่ได้มีการกลายพันธุ์ที่รุนแรงน่ากังวล หรือส่งผลต่อการเกิดปอดอักเสบเหมือนในช่วงสายพันธุ์เดลต้า ก็อาจจะไม่ต้องมีการกักตัวที่บ้านแต่ต้องมีมาตรการทางสังคมควบคู่ไปด้วย ในส่วนของการฉีดวัคซีนป้องกันก็จะเหมือนกับไข้หวัดใหญ่ที่จะเป็นการฉีดวัคซีนตามฤดูกาลปีละครั้ง เพื่อลดความรุนแรงของโรค

นอกจากนี้ หลักเกณฑ์ในการรักษาโควิดสู่การเป็นโรคประจำถิ่น ได้มีการพิจารณาจากความรุนแรงของโรคเป็นหลักอัตราเสียชีวิตไม่เกินร้อยละ 0.1 ซึ่งสถานการณ์ความรุนแรงในช่วงการระบาดของสายพันธุ์เดลต้าที่มีจำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบและปอดบวมจำนวนมากที่ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ จะเป็นการยากที่ใช้แนวทางนี้ในการพิจารณาให้เป็นโรคประจำถิ่นหรือปรับรูปแบบการรักษาเป็นแบบผู้ป่วยนอก

แต่หากในการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน หรือมีการแพร่เชื้อเร็วแต่ความรุนแรงของโรคลดลง ประสิทธิภาพของการฉีดวัคซีนที่ดีสามารถป้องกันได้ดี จะมีแนวโน้มในการนำไปสู่โรคประจำถิ่น และยังต้องมีองค์ประกอบอื่น ๆ ร่วมด้วยในการควบคุมโรคที่ยังคงต้องเฝ้าระวังในกลุ่มที่มีการระบาดเป็นคลัสเตอร์

ทั้งนี้ การปรับแนวทางการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ฉบับล่าสุด จะมีการปรับเพิ่มยาโมลนูพิราเวียร์และแพกซ์โลวิดเข้าไปด้วยในการรักษาผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง 608 ซึ่งมีความคืบหน้าของยาโมลนูพิราเวียร์ที่ตอนนี้ได้มาถึงประเทศไทยแล้ว และอยู่ระหว่างจัดทำฉลากก่อนเตรียมกระจายไปยังโรงพยาบาลต่าง ๆ ในอาทิตย์หน้า โดยคำแนะนำจากองค์การอนามัยโลก WHO โดยการใช้ยาโมลนูพิราเวียร์ ควรใช้ในกลุ่ม 608 คือ ผู้สูงอายุ และกลุ่มโรคเรื้อรัง

ส่วนความคืบหน้ายาแพกซ์โลวิดนั้นกำลังอยู่ในระหว่างการจัดทำสัญญาซื้อขาย และคาดว่ายาแพกซ์โลวิดจะมาถึงไทยในเดือนเมษายนนี้ ส่วนผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ หรืออาการน้อย ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องรับยาเสมอไป โดยเฉพาะยาฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งอาจจะมีผลข้างเคียงจากตัวยาได้ เช่น ตาสีฟ้า ผิวสีฟ้า เล็บสีฟ้า ซึ่งแพทย์จะใช้ดุลพินิจในการรักษา และถ้ามีอาการก็จะให้ยาตามอาการปกติ