เชนร้านอาหารญี่ปุ่น-สหรัฐ ในไทย แห่ปิดตัวหลังขาดทุนต่อเนื่อง

มารุกาเมะ เซเมง และคาร์ลซ จูเนียร์ ประกาศยุติบริการตามหลังเอแอนด์ดับบลิว ไปในเวลาไม่นาน

วันที่ 16 มีนาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในเดือนมีนาคม 2565 นี้ มีเชนร้านอาหารต่างชาติที่เข้ามาทำธุรกิจในไทย ประกาศปิดกิจการถึง 3 รายในเวลาไล่เลี่ยกัน ไม่ว่าจะเป็น เอแอนด์ดับบลิว (A&W) ตามด้วยคาร์ลซ จูเนียร์ (Carl’s Jr.) และล่าสุดคือ มารุกาเมะ เซเมง (Marugame seimen) ที่ประกาศยุติบริการในวันที่ 31 มีนาคม 2565 ที่จะถึง

โดย มารุกาเมะ เซเมง เป็นเชนร้านอุด้งซึ่งมีสาขากว่า 900 แห่งในญี่ปุ่น ส่วนในไทยบริหารงานโดยบริษัท โนดุ ฟู้ดส์ จำกัด ปัจจุบันมี 3 สาขา คือ สาขาเทอร์มินอล 21 พัทยา, สาขาเดอะ พรอมานาด และสาขาเกตเวย์ เอกมัย ซึ่งจะทยอยปิดให้บริการ สาขาเทอร์มินอล 21 พัทยา มีกำหนดปิดบริการในวันที่ 26 มีนาคม ส่วนสาขาเดอะ พรอมานาด และสาขาเกตเวย์ เอกมัย จะปิดบริการวันที่ 31 มีนาคม

ทั้งนี้ เชนร้านอุด้ง เคยมีสาขาในห้างสรรพสินค้าอื่น ๆ หลายแห่ง เช่น เซ็นทรัล ปิ่นเกล้า, เซ็นทรัลเวิลด์, เดอะมอลล์ บางแค แต่ทยอยปิดบริการไปก่อนหน้าแล้ว

แม้มารุกาเมะ เซเมง จะไม่ได้ระบุเหตุผลของการยุติบริการในประเทศไทย แต่ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท โนดุ ฟู้ดส์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้บริหารสาขาในไทย มีผลประกอบการขาดทุนต่อเนื่อง โดยปี’61 ขาดทุน 41.6 ล้านบาท ปี’62 ขาดทุน 14.15 ล้านบาท และปี’63 ขาดทุน 27.91 ล้านบาท

Advertisment

ไปในทิศทางเดียวกับเชนร้านเบอร์เกอร์ คาร์ลซ จูเนียร์ (Carl’s Jr.) ที่เตรียมปิดสาขาทั้งหมดในไทยในวันที่ 24 มีนาคม 2565 นี้ หลังเปิดดำเนินการในไทยมา 10 ปี

โดยคาร์ลซ จูเนียร์เป็นเชนร้านเบอร์เกอร์ระดับพรีเมี่ยมจากสหรัฐอเมริกา เปิดบริการมานานกว่า 80 ปี มีสาขาใน 28 ประเทศทั่วโลก รวมถึงสิงคโปร์, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย และเวียดนาม ซึ่งเข้ามาปักธงสาขาแรกในประเทศไทยเมื่อปี 2555 ที่เซ็นทรัลเฟสติวัล พัทยาบีช ภายใต้การบริหารของ บริษัท อาร์แอนด์อาร์ เรสทัวร์รองต์ กรุ๊ป จำกัด ก่อนจะขยายสาขาเข้ามาในกรุงเทพฯ ตามยุทธศาสตร์เน้นขยายสาขาในทำเลใจกลางเมือง และพื้นที่ที่มีชาวไทย และชาวต่างชาติอยู่หนาแน่น เช่น พัทยา สุขุมวิท และสีลม

อย่างไรก็ตามช่วงปี 2561-2563 บริษัท อาร์แอนด์อาร์ เรสทัวร์รองต์ กรุ๊ป จำกัด มีผลประกอบการขาดทุนต่อเนื่อง โดยปี’61 ขาดทุน 40.49 ล้านบาท ตามด้วยปี’62 ขาดทุน 46.26 ล้านบาท ส่วนปี’63 ขาดทุน 43.45 ล้านบาท

ขณะที่เอแอนด์ดับบลิวเตรียมยุติการดำเนินกิจการทั้ง 26 สาขาในไทยในวันที่ 20 มีนาคม 2565 เช่นกัน โดยบริษัท โกลบอล คอนซูเมอร์ จำกัด (มหาชน) ผู้รับสิทธิบริหารในประเทศไทย ให้เหตุผลว่าวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ประกอบกับการแข่งขันสูง และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้ผลประกอบการขาดทุนต่อเนื่อง ซึ่งปี 2564 ร้านเอแอนด์ดับบลิว ขาดทุนกว่า 70 ล้านบาท

Advertisment