“พานาโซนิค” รวม 3 บริษัท เสริมทัพชิงงานโครงการ

พานาโซนิค ประเทศไทย ประกาศปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ ควบรวม 3 บริษัท รวมศูนย์ทรัพยากรคน-สินค้า-งบฯการตลาด เสริมเกมรุกชิงเบอร์ 1 โซลูชั่นงานโครงการรัฐ-เอกชน เตรียมประเดิมเปิดตัวโซลูชั่นสำนักงานอัจฉริยะ พร้อมวางเป้ารายได้โตเท่าตัวแตะ 2.8 หมื่นล้านในปี 2573 จากปีที่ผ่านมาที่โกย 1.4 หมื่นล้าน

นายฮิเดคาสึ อิโตะ ซีอีโอกลุ่มบริษัทพานาโซนิคในประเทศไทยกล่าวว่า การปรับโครงสร้างครั้งนี้จะควบรวมบริษัท พานาโซนิค ซิว เซลส์ (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นบริษัทจำหน่ายสินค้ากลุ่มทีวี เครื่องเสียง กล้องดิจิทัล กล้องวงจรปิด อุปกรณ์แสงสว่าง และบริษัท พานาโซนิคแมเนจเม้นท์ (ประเทศไทย)

ที่เป็นสำนักงานส่วนภูมิภาคเข้ากับพานาโซนิค โซลูชั่นส์ (ประเทศไทย) ผู้จำหน่ายระบบระบายอากาศ สวิตช์และเต้ารับไฟฟ้า บริการติดตั้งเครื่องจักร ฯลฯ ทำให้หลังวันที่ 1 เมษายน 2565 กลุ่มบริษัทพานาโซนิคในประเทศไทยจะมีบริษัทขาย 5 บริษัท โรงงาน 9 บริษัท รวมเป็น 16 บริษัท จากเดิม 19 บริษัท

ทั้งนี้ เป็นไปตามแนวทางของบริษัทแม่ที่จะปรับโครงสร้างเป็นแบบบริษัทโฮลดิ้งในชื่อ พานาโซนิค โฮลดิ้ง คอร์ปอเรชั่น เพื่อให้บริษัทต่าง ๆ ในเครือสามารถปฏิบัติงานได้อย่างอิสระและเพิ่มศักยภาพความสามารถในการแข่งขัน มีผลตั้งแต่ 1 เมษายน 2565 เช่นกัน

ซีอีโอกลุ่มบริษัทพานาโซนิคในประเทศไทยกล่าวว่า สำหรับในประเทศไทยการควบรวมนี้เป็นการรวมศูนย์ทรัพยากรทั้งงบประมาณ บุคลากร พอร์ตโฟลิโอสินค้า ทำให้บริษัทสามารถสร้างโซลูชั่นที่หลากหลายและตอบโจทย์ลูกค้าตรงจุดได้มากขึ้น เช่น โซลูชั่นความบันเทิงในบ้าน จากการรวมสินค้าของพานาโซนิค ซิว เซลส์ และพานาโซนิค โซลูชั่นส์

อีกทั้งยังลดความซ้ำซ้อนของการดำเนินธุรกิจ ทำให้รับมือกับสภาพต้นทุนทางธุรกิจที่พุ่งสูงอยู่ในขณะนี้ได้ดีขึ้นอีกด้วย จึงช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันด้านโซลูชั่นสำหรับลูกค้าองค์กรทั้งกลุ่มที่อยู่อาศัย และกลุ่มที่ไม่ใช่ที่อยู่อาศัย อย่างโรงแรม สำนักงาน โรงงาน คลังสินค้า โรงพยาบาล และศูนย์ดูแลผู้สูงอายุไปจนถึงโครงการภาครัฐ

“แม้ปัจจุบันผลกระทบจากการระบาดจะทำให้ตลาดดูซบเซา แต่เชื่อว่าตลาดน่าจะเริ่มฟื้นตัวตามสถานการณ์ที่คลี่คลาย โดยกลุ่มที่อยู่อาศัยและโรงงานอุตสาหกรรมจะกลับมาเติบโต เนื่องจากมีดีมานด์สะท้อนจากผลประกอบการปีงบประมาณ 2564 (เม.ย. 64-มี.ค. 65) ซึ่งกลุ่มโรงงานของบริษัทมีรายได้เพิ่มขึ้นสวนทางกับยอดขายสินค้าสำหรับผู้บริโภคทั่วไปที่ไม่ดีนัก”

นายฮิเดคาสึกล่าวถึงแนวทางการรุกตลาดหลังจาก 1 เมษายนนี้ว่า จะโฟกัสสร้างโซลูชั่นใน 3 แนวทาง คือ โซลูชั่นการประหยัดพลังงานตามเทรนด์สังคมปลอดคาร์บอน, โซลูชั่นเพื่อคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีรองรับกับสังคมผู้สูงอายุและปัญหามลพิษทางอากาศ

โซลูชั่นด้านสมาร์ทโฮมและความปลอดภัยสำหรับตอบรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปในยุค new normal โดยในตลาดกลุ่มที่อยู่อาศัยจะเน้นชู total living solution โดยอาศัยโชว์รูม “Experience Center” ซึ่งเปิดตัวไปเมื่อต้นปี 2564 นำเสนอการออกแบบและการติดตั้งโซลูชั่น อาทิ ระบบประหยัดพลังงาน ระบบควบคุมคุณภาพอากาศ โซลูชั่นเพื่อการพักผ่อนและการนอน โซลูชั่นเพื่อความบันเทิงในบ้าน เป็นต้น

ส่วนกลุ่มที่ไม่ใช่ที่อยู่อาศัย ในปีนี้จะเปิดตัวโซลูชั่นสำนักงานอัจฉริยะที่ยืดหยุ่นตามความต้องการของลูกค้าใน 3 หมวดหลัก คือ stress-free solutions ซึ่งมี smart box หรือตู้รับพัสดุและปลดล็อกด้วยระบบบลูทูท, antivirus solutions สร้างพื้นที่ปลอดไวรัสและแบคทีเรียด้วยอุปกรณ์ เช่น เครื่องฟอกอากาศ “Ziaino” ระบบปรับอากาศ “Air-E” วัสดุต้านแบคทีเรียสำหรับปูพื้นห้อง และ energy saving solutions คลอบคลุมอุปกรณ์แสงสว่างรวมถึงเซ็นเซอร์อัตโนมัติและการบริหารจัดการด้านพลังงาน

นายฮิเดคาสึยังย้ำความมั่นใจว่า ความแข็งแกร่งจากการควบรวมนี้จะช่วยให้ปีงบประมาณ 2565 (เม.ย. 65-มี.ค. 66) รายได้ของพานาโซนิค โซลูชั่นส์ เติบโต 10% จากปีที่แล้วเป็นประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท และในระยะยาวจะทำให้บริษัทสามารถขึ้นเป็นผู้นำในฐานะ professional solution provider ของไทยได้ภายในปี 2573 พร้อมกันนี้ได้วางเป้ายอดขายปี 2573 ไว้ที่ประมาณ 2.8 หมื่นล้านบาท หรือเติบโตขึ้น 200% เมื่อเทียบกับปีงบประมาณ 2564 ที่มีรายได้ประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท