สงคราม”ตู้แช่” โตพรึ่บ 4 พันล้าน แห่เปิดร้านอาหาร-คาเฟ่-โชห่วยทั่วประเทศ

ตลาดตู้แช่เย็น-แช่แข็งปี 2561 เดือด แบรนด์ไทย-จีน-ญี่ปุ่น ขนสินค้าใหม่แย่งเค้ก 4,000 ล้าน หลังกระแสคนแห่เปิดร้านกาแฟ-อาหาร-โชห่วย ดันดีมานด์โตต่อเนื่อง 10-15% ต่อปี ประชันสารพัดจุดขายทั้งนวัตกรรมประหยัดพลังงาน-ราคา-บริการ มัดใจลูกค้า “ซิงเกอร์” ชูผ่อนยาว-บริการหลังการขายเจาะรากหญ้า ด้านไฮเออร์สบช่องเอฟทีเอ นำเข้าสินค้าพรีเมี่ยมราคาย่อมถล่มตลาด

ตลาดตู้แช่เย็นแช่แข็ง มูลค่า 4,000 ล้านบาท เติบโตประมาณ 10-15% ตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา สวนทางกับตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้า และคาดว่าจะรักษาโมเมนตัมนี้ต่อไปในปีหน้า จากความต้องการสินค้าของบรรดาธุรกิจเอสเอ็มอีอย่างร้านกาแฟ-เบเกอรี่และร้านอาหาร รวมไปถึงร้านโชห่วย ที่ผุดขึ้นทุกหนแห่งจากกระแสนิยมเป็นเจ้าของกิจการ ขณะที่ตลาดมีผู้เล่นหลักเพียง 2-3 ราย จึงทำให้แบรนด์ทั้งไทย-เทศหันมาให้ความสนใจตลาดนี้กันมากขึ้น หวังชิงเม็ดเงินที่เพิ่มขึ้น

แหล่งข่าวในวงการตู้แช่เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปีนี้ตลาดตู้แช่เย็นแช่แข็ง มูลค่า 3,500-4,000 ล้านบาท มีโอกาสเติบโตไม่น้อยกว่า 10% ต่อเนื่องเช่นเดียวกับ 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยมีกลุ่มเอสเอ็มอี อาทิ ร้านกาแฟ เบเกอรี่ ร้านอาหารตามสั่ง และมินิมาร์ต เป็นลูกค้าหลัก เนื่องจากพนักงานออฟฟิศนิยมหันมาเป็นเจ้าของกิจการกันมากขึ้น ในขณะที่ด้านครัวเรือนก็มีกระแสเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมแม่ ส่งผลให้มีดีมานด์สูงทั้งตู้แช่เครื่องดื่ม แช่เค้ก แช่เบียร์วุ้น รวมถึงแช่น้ำนม ซึ่งคาดว่ากระแสนี้จะดำเนินต่อเนื่องไปในอนาคต

จากเทรนด์ดังกล่าวดึงดูดให้ผู้เล่นหน้าใหม่กระโดดเข้าสู่ตลาดเพิ่มขึ้น จากเดิมที่มีผู้ประกอบการหลักเพียง 2-3 ราย อาทิ ซันเด้น อินเตอร์คูล ที่เป็นรายใหญ่ของตลาด, พานาโซนิค ซึ่งรับช่วงธุรกิจและลูกค้าต่อมาจากซันโย และซิงเกอร์ที่แข็งแกร่งในเซ็กเมนต์รากหญ้า ส่วนที่เหลือจะเป็นร้านเครื่องเย็นรายย่อยกระจายอยู่ตามพื้นที่ต่าง ๆ

ขณะเดียวกันกลยุทธ์ของผู้เล่นหน้าใหม่ส่งผลให้การแข่งขันเริ่มเปลี่ยนจากราคาไปสู่นวัตกรรมและการบริการมากขึ้น อาทิ ระบบอินเวอร์เตอร์ ระยะเวลารับประกันและดีไซน์ตู้ เป็นต้น เพื่อสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งและรักษาฐานราคา

ตู้แช่เย็นดีมานด์ทะลัก

นายกิตติพงศ์ กนกวิไลรัตน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ร่วม บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) ฉายทิศทางตลาดตู้แช่เย็นแช่แข็งในปี 2561 ว่ามีโอกาสเติบโตสูง ด้วยดีมานด์จากคนรุ่นใหม่ที่นิยมผันตัวจากพนักงานออฟฟิศไปเป็นผู้ประกอบการร้านค้า ร้านอาหาร และร้านกาแฟ เห็นได้จากจำนวนผู้จดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ ที่เพิ่มขึ้นตลอดปี 2560 และธุรกิจเหล่านี้ต่างต้องใช้ตู้แช่สำหรับสินค้า เครื่องดื่ม เบียร์ และวัตถุดิบอื่น ๆเพื่อรองรับแนวโน้มดังกล่าว ต้นปี 2561 ซิงเกอร์จะเพิ่มไลน์อัพให้ครอบคลุมกลุ่มลูกค้ากว้างขึ้น อาทิ ตู้แช่ขนาดใหญ่สำหรับแช่วัตถุดิบในร้านอาหาร และตู้แช่เบียร์วุ้นแบบทึบ ซึ่งประหยัดไฟกว่าแบบประตูใส ที่นิยมในร้านชำต่างจังหวัด รวมถึงเครื่องทำน้ำแข็งอัตโนมัติขนาดเล็ก ตอบโจทย์ร้านกาแฟ-ร้านเบเกอรี่

พร้อมชูจุดแข็งเรื่องราคา และการผ่อนนานสูงสุด 24 เดือน สามารถชำระผ่านบัตรเครดิตด้วยดอกเบี้ยพิเศษในไตรมาสแรกปีหน้า รวมถึงการรับประกันตลอดอายุผ่อน บริการหลังการขายรวดเร็วเนื่องจากมีทีมงานประจำพื้นที่ เชื่อว่ากลยุทธ์นี้จะทำให้ซิงเกอร์สามารถเจาะกลุ่มผู้ประกอบการในต่างจังหวัดได้

หน้าใหม่ดาหน้าบุก

นายสุพจน์ วิรัตน์โยสินทร์ ผู้ร่วมก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ บริษัท เฟรชเชอร์ จำกัด แบรนด์น้องใหม่ที่เพิ่งเปิดตลาดมาได้ปีเศษ ๆ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า นอกจากร้านค้าปลีกและร้านอาหารแล้ว ตลาดนี้ยังมีดีมานด์จากกลุ่มแม่ลูกอ่อนที่ต้องการตู้สำหรับแช่น้ำนม และลูกค้าองค์กร หรือบีทูบี ซึ่งบริษัทมุ่งทำตลาดทั้ง 3 กลุ่ม โดยไตรมาสแรกเตรียมลอนช์สินค้าใหม่หลายกลุ่มเพื่อขยายฐานลูกค้า อาทิ รุ่นอินเวอร์เตอร์ พร้อมจุดขายด้านการประหยัดไฟ ตอบโจทย์ผู้ประกอบการร้านกาแฟ เบเกอรี่ รวมถึงโรงพยาบาลซึ่งต้องการลดค่าใช้จ่าย และรุ่นไฟติ้งแบบ 2 ประตู ราคาไม่เกิน 2 หมื่นบาท เจาะตลาดแมส รวมถึงตู้แช่อาหารแช่แข็งรับดีมานด์มินิมาร์ตท้องถิ่นพร้อมทั้งเน้นทำตลาดตู้แช่นมแม่ โดยบริจาคตู้ให้กับโรงพยาบาลเพื่อสร้างการรับรู้กับกลุ่มแม่ที่มีลูกอ่อน ต่อเนื่องจากปีที่แล้ว นอกจากนี้ยังมุ่งทำตลาดบีทูบีมากขึ้น เนื่องจากมีความพร้อมด้านสินค้าและกำลังการผลิตของโรงงาน และคาดว่ายอดขายปี 2561 จะแตะ 200 ล้านบาท เพิ่มจากปีนี้เท่าตัว โดยสัดส่วนรายได้จากบีทูบี จะเพิ่มเป็น 50-60% จากปัจจุบันที่มีเพียง 10%

นายจาง เจิ้งฮุย ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไฮเออร์ อีเลคทริคอล แอพพลายแอนซ์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ไฮเออร์จะใช้โอกาสที่อัตราภาษีนำเข้าสินค้าลดจาก 30% เป็น 5% ตามข้อตกลงเอฟทีเอไทย-จีน โดยมีแผนจะนำตู้แช่ระดับพรีเมี่ยมเข้ามาทำตลาด ทั้งในช่องทางดีลเลอร์และไฮเปอร์มาร์เก็ต ชูจุดเด่นด้านฟังก์ชั่น เช่น สามารถใช้แช่แข็งและแช่เย็นได้พร้อมกัน และราคาจับต้องได้ เพื่อเจาะกลุ่มเอสเอ็มอีและครัวเรือน

โตชิบา-พานาฯขยับตัวรุกตลาด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากภาพการรุกตลาดของเจ้าตลาดและรายใหม่ ล่าสุดเครื่องใช้ไฟฟ้าแบรนด์ใหญ่ทั้งโตชิบา และพานาโซนิค ต่างก็มีความเคลื่อนไหวในการรุกตลาดตู้แช่เช่นกัน

นายบุนยรัตน์ ไตรสิริสมบัติ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน บริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด กล่าวว่า ปีหน้าจะเพิ่มขนาดใหญ่ขึ้น จากปัจจุบันที่มีตั้งแต่ 142-290 ลิตร พร้อมจุดขายระบบปรับการทำงานให้เป็นได้ทั้งตู้แช่เย็นและแช่แข็ง และดีไซน์ป้องกันหนู ตอบโจทย์ตั้งแต่ร้านค้า ร้านอาหาร ไปจนถึงครอบครัวใหญ่

ด้าน “พานาโซนิค” ซึ่งถือป็นรายเก่าที่รับช่วงต่อจากซันโยนั้น นายได นิชิ รองผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาดสินค้าเครื่องปรับอากาศ บริษัท พานาโซนิค เอ.พี. เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า จะรับมือการแข่งขันโดยชูเรื่องความเชื่อมั่นและบริการหลังการขายที่รวดเร็วภายใน 24 ชั่วโมง จากตัวแทนที่กระจายทั่วประเทศ การประหยัดไฟ รวมถึงไลน์อัพสินค้าครบตั้งแต่ตู้แช่เครื่องดื่ม ตู้แช่แข็งทั้งทึบและใส ไปจนถึงตู้แช่ไวน์ เพื่อทำตลาดกับกลุ่มร้านอาหารและร้านโชห่วยเป็นหลัก