เมดพาร์ค ปั้น ‘เซฟตี้เน็ต-เมดิคอลฮับ’ เครื่องยนต์ใหม่เศรษฐกิจไทย

พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช

สถานการณ์โควิด-19 ที่คลี่คลายลงและในไม่ช้านี้โรคร้ายตัวนี้กำลังจะถูกประกาศให้เป็น “โรคประจำถิ่น”อาจจะกล่าวได้ว่าจากนี้ไปจะเป็นจุดเริ่มต้นของการฟื้นฟูเศรษฐกิจในภาพรวม หลังจากชะลอตัวมานานกว่า 2 ปี

นายแพทย์พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทีพีพี เฮลท์แคร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และกรรมการผู้จัดการโรงพยาบาลเมดพาร์ค โรงพยาบาลขนาดใหญ่และไฮเอนด์ ที่เป็น trend setter ของธุรกิจเฮลท์แคร์ในอนาคต ร่วมเป็นองค์ปาฐก ในงานสัมมนา ในหัวข้อ “New Chapter เศรษฐกิจไทย” ที่จัดโดยหนังสือพิมพ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ดังนี้

ต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเอง

นายแพทย์พงษ์พัฒน์เริ่มต้นด้วยการเท้าความถึงสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ตลอดช่วง 2 ปีว่า ทำให้ธุรกิจได้เรียนรู้อะไรหลาย ๆ อย่าง ช่วงนั้นทุกประเทศกังวลเรื่องโควิด และทุ่มงบประมาณเพื่อแก้ปัญหา และทำให้หนี้สินเกิดขึ้นจำนวนมาก

รวมถึงประเทศไทยเอง แต่ก็เป็นเรื่องที่จำเป็น และประเทศไทยก็ได้รับการยอมรับว่ามีการจัดการโควิดที่ดี แม้จะมีข้อจำกัดหลายอย่าง ทั้ง ๆ ที่ไทยเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง จีดีพีไม่ได้ใหญ่โต เรากล้าหาญและทุ่มในเรื่องเฮลท์แคร์ เพื่อให้ประชาชนเสียค่าใช้จ่ายน้อย ๆ หรือรักษาฟรี

ทั้งนี้ หากพิจารณาจะพบว่าประเทศไทยใช้เงินด้านเฮลท์แคร์ค่อนข้างมาก เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย ซึ่งส่วนใหญ่งบฯดังกล่าวมาจากระบบภาษี คล้าย ๆ ประเทศทางยุโรปที่ใช้เงินเยอะ แต่ว่าจีดีพีเขาใหญ่ เขามีงบประมาณเยอะ แต่ละปีไทยใช้เงินเฮลท์แคร์ประมาณ 15% ของงบประมาณประเทศ และทำให้เป็นภาระมาก

โดยในช่วงที่เกิดโควิด-19 ประเทศไทยไม่มี safety net ไม่มีภูมิคุ้มกันระบบสาธารณสุขของประเทศ ทุกอย่างซื้อหมด ยกเว้นแรงงาน หมอ พยาบาล ขาดหน้ากากอนามัย ขาดวัคซีน ขาดยา ตอนนี้แม้จะมีโรงงานวัคซีนแล้ว

แต่อีกหลาย ๆ อย่างยังไม่มี ผลิตกลูโคสไม่ได้ทั้ง ๆ ที่เป็นผู้ส่งออกน้ำตาล หรือในแง่ของจำนวนแพทย์ต่อประชากร ประเทศไทยมีเพียง 5 คนต่อประชากร 1 หมื่นคน ขณะที่มาเลเซียมี 12 คน สิงคโปร์มี 20 คน

จะเห็นว่าการต่อสู้โควิดของไทยไม่เหมือนกันกับต่างประเทศ แต่สุดท้ายก็ผ่านไปได้ และทำให้ประเทศมีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับ แม้จะบาดเจ็บเพราะใช้เงินเยอะมาก

และสิ่งเหล่านี้สะท้อนว่าหากเราไม่มีกลไกในการพึ่งตัวเองได้ เมื่อเกิดวิกฤตอะไรขึ้นมาสักอย่างก็จะมีปัญหา ดังนั้น เราจะต้องสร้าง safety net เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเองในอนาคต

“เราต้องเปลี่ยนมุมมอง และลงมือทำเพื่อให้มี safety net ให้ได้ ยกตัวอย่าง กรณีของเครื่องมือแพทย์ต่าง ๆ ที่วันนี้บริษัทเหล่านี้จะตั้งอยู่ที่สิงคโปร์ เพราะสิงคโปร์มีระบบภาษีที่รองรับ บ้านเราแม้จะมีคลังสินค้าทัณฑ์บน แต่ในความเป็นจริงกลับพบว่า ต้นทุนแพงกว่าการนำเข้าจากสิงคโปร์ ถ้าเรา turn around ประเทศให้เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคเรื่องนี้ได้ ก็จะสามารถสู้กับประเทศอื่น ๆ ได้”

ขอสนับสนุนไดเร็กชั่นเมดิคอลฮับ

นายแพทย์พงษ์พัฒน์ยังอธิบายเพิ่มเติมด้วยว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยมีระบบหลักประกันสุขภาพ หรือ 30 บาท รักษาทุกโรค เมื่อประมาณช่วงปี 2546 เพื่อดูแลคนจนทั่วประเทศประมาณ 13 ล้านคนซึ่งระบบ 30 บาทก็ใช้งบประมาณค่อนข้างมาก เกือบ ๆ 2 แสนล้านบาท นี่ยังไม่นับรวมถึงงบฯสาธารณสุขอื่น ๆ

รวมแล้วมากกว่า 3-4 แสนล้านบาทแต่ถ้าระบบกำหนดให้ผู้ป่วยมีส่วนร่วมในการจ่ายก็จะมีเงินเพิ่มเข้ามาในกองทุนด้วย แต่ทุกวันนี้ระบบการรักษาไม่ต้องจ่ายเงิน รักษาฟรี และถูกมองว่าเป็นเรื่องสวัสดิการ

“อีกด้านหนึ่งจึงส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจในภาพรวม และนาน ๆ ไป เราคงอยู่ได้หรือไม่ เพราะอะไร เพราะเรากำลังสอนให้ประชาชนให้คนเป็นผู้ขอ ในอนาคตประเทศเราจะยืนอยู่ได้อย่างไร new chapter ของประเทศไทยวันนี้คือจะทำให้ประชาชนไทยเป็นคนขยัน พึ่งตัวเอง ไม่ใช่เป็นคนแบมือขอ สาธารณสุขต้องจัดระบบให้ชัดเจน”

คีย์แมน รพ.เมดพาร์คระบุด้วยว่า นอกจากนี้ ที่ผ่านมาประเทศไทยพูดเรื่องเมดิคอลฮับมานาน ตั้งแต่สมัยรัฐบาลทักษิณ และพูดมาทุกยุคทุกสมัย จนถึงวันนี้ แต่ในความเป็นจริงกลับพบว่า สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)

ยังไม่เคยออกกฎหมายส่งเสริมการลงทุนในเรื่องเมดิคอลฮับของโรงพยาบาลเลย ได้แต่พูด ๆ แต่กฎหมายไม่มีออกมาเพื่อสนับสนุน การที่เอกชนต้องการและอยากจะให้รัฐบาลส่งเสริมเรื่องนี้ จริง ๆ แล้วเอกชนไม่ได้ต้องการเรื่องภาษี สิ่งที่เอกชนต้องการคือ direction ที่ชัดเจนมากกว่า

เมื่อเร็ว ๆ นี้ International Healthcare Resource Center ได้รายงาน Medical Tourism Index 2020-2021 ซึ่งพบว่า ประเทศไทยอยู่อันดับ 17 เป็นรองประเทศในเอเชีย ทั้งไต้หวัน (16) อินเดีย (10) และสิงคโปร์ (2) ซึ่งโดยส่วนตัวมองว่าเกิดจากการไม่ได้รับการส่งเสริมเท่าที่ควรจากภาครัฐ

จึงอยากจะกระตุ้นให้ทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยที่ผ่านมาประเทศไทยมีรายได้จากเมดิคอลฮับประมาณ 4.3 พันล้านเหรียญ หรือประมาณแสนล้านบาท แต่ละปีมีคนไข้ชาวต่างประเทศเดินทางเข้ามารับการรักษาประมาณ 3 ล้านคน แต่ในแง่ของรายได้กลับมีเพียงเท่ากับสิงคโปร์ ที่มีคนไข้ต่างประเทศปีละ 8 แสนคน

สิงคโปร์มีคนไข้ต่างประเทศน้อยกว่าไทยหลายเท่า แต่กลับมีรายได้มากกว่าไทยและสะท้อนว่ารายได้ต่อหัวของไทยน้อยกว่าสิงคโปร์ 30 เท่า ไม่ใช่ว่าสิงคโปร์ราคาแพงกว่าไทย แต่เนื่องจากเขาเน้นการรักษาคนไข้หนัก รักษาโรคยากและโรคซับซ้อน และรัฐสิงคโปร์สนับสนุน ขณะที่บ้านเรามีแต่พูด ๆ แต่ไม่มี direction ที่ชัดเจน

ตั้งเป้าเบอร์ 1 ในอาเซียน

ผู้บริหารเมดพาร์คย้ำในตอนท้ายว่า และเป็นเหตุผลหนึ่งที่บริษัทลงทุนตั้ง รพ.เมดพาร์ค ขึ้นมา และถูกวางตำแหน่งให้เป็นโรงพยาบาลที่มุ่งเน้นการรักษาโรคที่รักษายากและโรคที่มีความซับซ้อนเป็นหลัก เน้นจับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นกลุ่มระดับบน เนื่องจากเมดพาร์คเป็นโรงพยาบาลที่เป็นศูนย์รวมของทรัพยากรทางด้านการแพทย์

ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ พยาบาล เครื่องมืออุปกรณ์ที่ทันสมัย เป้าหมายของเมดพาร์คไม่ต้องการจะแข่งกับ รพ.อื่น ๆ ในประเทศ แต่ต้องการย้ายเซ็นเตอร์การรักษาพยาบาลจากสิงคโปร์มาอยู่ในไทยให้ได้

ตอนนี้ เมดพาร์คไม่ได้ทำแค่เรื่องการรักษา แต่ยังได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา เพื่อทำวอร์ดในประเทศไทยได้ นอกจากนี้ก็จะมีการวิจัยการศึกษาทางวิชาการทางการแพทย์ ที่สำคัญ เมดพาร์คเป็นโรงพยาบาลที่มีห้องไอซียู 30% ไม่มีโรงพยาบาลไหนในประเทศที่มีห้องไอซียูมากแบบนี้ เพราะเราจะแข่งกับสิงคโปร์ เราต้องมีทุกอย่าง

ในอนาคตตั้งเป้าไว้ว่า ด้วยศักยภาพและความพร้อมต่าง ๆ ทั้งความเชี่ยวชาญของแพทย์ เทคโนโลยี รวมไปถึงการบริหารงานที่มีผู้บริหารคร่ำหวอดในวงการ จะผลักดันให้เมดพาร์คเป็นเบอร์ 1 ในภูมิภาคอาเซียน

ถ้ารัฐหรือบีโอไอมีนโยบายที่จะสนับสนุนเรื่องนี้ชัดเจน โดยเฉพาะเรื่องของการรักษาโรคซับซ้อนใน รพ.เอกชน มั่นใจว่าจะช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจของประเทศได้อีกทางหนึ่ง และเหมือนเครื่องยนต์เศรษฐกิจอีกตัวหนึ่ง

นี่คือ new chapter ของเมดพาร์ค ที่มองไปข้างหน้า และอยากให้ทั้งหมดเป็นสิ่งใหม่ในประเทศไทย