รู้หรือยัง กัญชาช่วยแก้ปัญหา “นอนไม่หลับ-อาการผิวหนัง” ได้

กัญชา
Photo : Pixabay

สถาบันกัญชาทางการแพทย์ เผยกัญชาช่วยแก้ปัญหา “นอนไม่หลับ-เบื่ออาหาร-ปวด-อาการทางผิวหนัง” ได้เมื่อใช้อย่างถูกวิธี

วันที่ 13 มิถุนายน 2565 รายงานข่าวจากสถาบันกัญชาทางการแพทย์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า การนำกัญชามาใช้ยังเป็นเรื่องใหม่ที่ต้องมีความระมัดระวัง โดยยึดหลักความปลอดภัย ประยุกต์องค์ความรู้ที่มีในปัจจุบันมาใช้ดังต่อไปนี้

1.ห้ามใช้ในผู้ป่วยที่มีข้อห้ามใช้

2.กรณีจำเป็นต้องใช้ควรใช้ด้วยความระมัดระวัง และปรึกษาบุคลากรทางการแพทย์ที่มีประสบการณ์เพื่อช่วยประเมินประโยชน์และความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น

3.อาการเจ็บป่วยที่ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์จากกัญชาได้ด้วยตนเอง ได้แก่ นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร ปวด และอาการทางผิวหนัง

4.เริ่มใช้ในขนาดยาน้อย ๆ กรณีที่มีอาการปวดร่วมกับการอักเสบอาจพิจารณาใช้ราก (ในรากไม่พบสารเมา THC จึงมีความปลอดภัย)

5.ขณะใช้กัญชา ต้องประเมินผลการรักษาและความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง กัญชาเป็นพืชที่มีคุณสมบัติเยียวยาแบบองค์รวม การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายในร่างกาย จะเป็นตัวบ่งชี้ผลลัพธ์ในการรักษาได้ดี เช่น กินได้ หลับดี ไม่ปวด เป็นต้น แต่ไม่ใช่อาการเคลิ้มสุข ทั้งนี้อาจใช้เครื่องมือที่หาได้ง่ายมาร่วมประเมินผลการรักษาด้วย เช่น นาฬิกาช่วยประเมินคุณภาพการนอนหลับ

6.อาการไม่พึงประสงค์ที่พบบ่อย ได้แก่ ปากแห้ง คอแห้ง ง่วงนอน คลื่นไส้ อาเจียน ใจสั่น ความดันโลหิตลดลง ซึ่งอาการส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นภายใน 3-4 วันแรกที่ได้รับยาหลังจากนั้นอาการจะหายไป

แต่หากอาการดังกล่าวยังเกิดขึ้นต่อเนื่องเกินกว่า 1 สัปดาห์ ให้ติดต่อสถานพยาบาลใกล้บ้าน อาการไม่พึงประสงค์บางอย่างสามารถบรรเทาได้ เช่น ถ้ามีอาการปากแห้ง คอแห้ง ควรจิบน้ำระหว่างวันให้มากขึ้น ถ้ามีอาการง่วงนอน อาจปรับมาใช้ก่อนนอน หากความดันโลหิตลดต่ำลง ควรมีเครื่องวัดความดันโลหิตเพื่อติดตามความรุนแรง หากความดันโลหิตลดต่ำกว่า 100/60 มิลลิเมตรปรอท ให้หยุดการใช้ยามื้อนั้น และปรึกษาสถานพยาบาลใกล้บ้าน ในผู้ป่วยที่ใช้ยาขนาดสูงและระยะเวลาอาจพบเห็นภาพหลอน หูแว่ว ภาวะซึมเศร้า ความจำ การตัดสินใจแย่ลง ให้หยุดยาทันที และปรึกษาสถานพยาบาลใกล้บ้าน

นอนไม่หลับ

อาการนอนไม่หลับ หรือหลับยาก ถือว่าเป็นอาการที่พบได้บ่อย มีสาเหตุมาจากความเครียด วิตกกังวล หรือโรคประจำตัวที่ผู้ป่วยเป็นอยู่ การนอนไม่หลับเป็นครั้งคราว โดยเฉพาะสาเหตุจากความเครียด สามารถใช้กัญชาเป็นครั้งคราวเพื่อช่วยให้นอนหลับได้

วิธีการใช้ เอาใบกัญชามาคั่วไฟอ่อน ๆ จำนวน 1-2 ใบ แล้วชงกับน้ำอุ่น ตั้งทิ้งไว้ 5 นาที ดื่มก่อนนอน ร่างกายจะค่อย ๆ ปรับตัว หาก 3 วันแล้วยังไม่หลับ สามารถปรับเพิ่มได้ครั้งละ 2 ใบ สูงสุด 6 ใบต่อวัน

เบื่ออาหาร

ในอดีตเป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่า กัญชาช่วยให้เจริญอาหาร ทำให้กินข้าวได้มากและอยากกินของหวาน กัญชาจึงเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้ที่มีอาการเบื่ออาหาร

วิธีการใช้ การใช้กัญชาตามข้อบ่งใช้นี้ผู้ป่วยสามารถเลือกกินอาหารที่มีส่วนผสมของใบกัญชาตามที่ได้แนะนำไปก่อนหน้านี้ โดยการปรุงผสมใบกัญชาในอาหารที่มีเครื่องเทศเป็นส่วนผสมหลัก เพื่อปรับธาตุลมภายในกระเพาะอาหารและลำไส้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ตอบสนองได้ดีด้วยวิธีการนี้ หรือผู้ป่วยอาจจะเลือกใบกัญชาแห้ง 1-2 ใบชงกับน้ำอุ่น ดื่มก่อนอาหาร 30-45 นาที

ปวด

อาการปวดเป็นอาการที่พบได้บ่อย แต่อาจมีสาเหตุที่แตกต่างกัน อาการปวดที่ใช้กัญชาแล้วได้ผลดี คืออาการปวดจากความผิดปกติของระบบประสาท กับอาการชาตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย หรือมีอาการนอนไม่หลับร่วมด้วย

วิธีการใช้ ใช้ใบกัญชามาคั่วไฟอ่อน ๆ 1-2 ใบ ชงกับน้ำอุ่น ตั้งทิ้งไว้ 5 นาที ดื่มก่อนนอน อาจปรับเพิ่มความถี่ในการกินได้ทุก 3 วัน เป็นวันละ 2, 3 และ 4 ครั้งตามลำดับ (ช่วงที่ใช้ยาควรห่างกัน 6-8 ชั่วโมง) ผู้ป่วยควรสังเกตตนเองว่ามีอาการง่วงนอนระหว่างวันจนรบกวนกิจวัตรประจำวันหรือไม่ หากง่วงมากให้ปรับลดขนาดยาลงในผู้ป่วยที่มีอาการปวดไม่รุนแรง อาจพิจารณาใช้รากกัญชาที่โตเต็มที่มาหุงกับน้ำมันใช้เป็นยาทาภายนอก หรือผสมสมุนไพรชนิดอื่นทำเป็นยาลูกประคบก็ได้

อาการทางผิวหนัง

มีการวิจัยพบว่า กัญชงที่มีสารต้านเมา CBD สูง มีฤทธิ์ลดการอักเสบได้ดีจึงมีการนำกัญชาและกัญชงมาใช้เพื่อบรรเทาอาการทางผิวหนัง เช่น คัน บวม หัวสิว และรังแคอักเสบได้

วิธีการใช้ ใช้ใบกัญชง หรือกัญชาแห้งที่ผ่านการคั่วแล้ว หุงกับน้ำมันมะพร้าว ด้วยไฟปานกลาง ใช้ยาน้ำมันที่ได้ทาบริเวณที่มีอาการ วันละ 3-4 ครั้ง