หมอธีระวัฒน์ย้ำป้องกันฝีดาษลิงต้องไม่มีตราบาป ไม่แบ่งแยก ไม่เลือกปฏิบัติ

ฝีดาษลิง ฝีดาษวานร

หมอธีระวัฒน์หวั่นซ้ำรอยยุค HIV ย้ำต้องไม่มีตราบาป ไม่แบ่งแยก ไม่แยกปฏิบัติ เพราะแม้ฝีดาษลิงจะเกิดในคนกลุ่มหนึ่งก่อน แต่สุดท้ายก็เป็นได้ทุกคน ไม่ใช่เป็นโรคที่ต้องกลัวคนรังเกียจ

วันที่ 2 สิงหาคม 2565 ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กกล่าวถึงความท้าทายในการป้องกันการแพร่ระบาดของฝีดาษลิง

โดยระบุว่า การป้องกันการแพร่ระบาดและประเมินความรุนแรงของฝีดาษลิงที่ดีที่สุดคือ สามารถรู้เร็วตั้งแต่ต้นที่คนติดเริ่มมีการแพร่ของไวรัสแล้ว ซึ่งสามารถรู้ได้จากข้อมูลอาการทางร่างกายและทางผิวหนัง

หมอธีรวัฒน์

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันวิธีการนี้เริ่มมีข้อจำกัด อาทิ ผู้ป่วย 14% มีแต่ผื่น แผล ตุ่มที่ผิวหนังไม่มีอาการทางร่างกาย และอาการที่ผิวหนังอาจมีจุดเดียวหรือตำแหน่งเดียว และอาจเป็นที่ซ่อนเร้น ดังนั้นตนเองอาจไม่รู้ และไม่มีอาการเตือนว่าติดแล้ว

และแม้ผู้ป่วย 86% จะมีอาการทางร่างกายและที่ผิวหนัง โดยในกลุ่มที่มีอาการทางร่างกายนี้ 39% อาการที่ผิวหนังเกิดก่อน อย่างไรก็ตาม ลักษณะของผื่น แผล ตุ่มที่ผิวหนังนี้ไม่เป็นไปตามตำราที่เรียงจากผื่นราบ นูนขึ้น ตุ่มน้ำใส ตุ่มหนองแตกเป็นแผล ตกสะเก็ด เช่นเกิดเป็นตุ่มก่อนก็ได้

นอกจากนั้นมีลักษณะผื่น แผล ตุ่ม หลายระยะนี้เกิดขึ้นได้พร้อมกัน polystage polymorphic ก็ได้

ส่วนลักษณะอาการทางร่างกายอาจไม่ได้มีครบทุกอย่าง และไม่ได้มีพร้อม ๆ กัน ได้แก่ ไข้ ปวดเมื่อย ปวดหัว ปวดหลัง เหนื่อยล้า ต่อมน้ำเหลืองโต

ดังนั้น การวินิจฉัยได้เร็ว ต้องใช้ทุกอย่างประกอบกัน และมีความจริงใจในการให้ประวัติ และรวมทั้งความเสี่ยงในการมีกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อตนเองและคนที่เกี่ยวข้อง และกันไม่ให้โรคลุกลามระบาดเป็นวงกว้าง
ไม่ใช่เป็นโรคที่ต้องกลัวคนรังเกียจ