ฝีดาษลิง : ไวรัสปริศนากลายมาเป็นวัคซีนที่ไว้ใช้ป้องกันฝีดาษลิง

  • ซาเรีย กอร์เว็ท
  • บีบีซีฟิวเจอร์

ในอดีต แพทย์กลุ่มเล็ก ๆ ได้วิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับขั้นตอนการรักษาแบบบุกเบิก ซึ่งรวมถึงการใช้ไวรัสที่คิดว่าแพร่ระบาดในวัว และนำมันมาใช้เพื่อป้องกันผู้คนจากโรคฝีดาษ

เทคนิคนี้มีชื่อว่า “การฉีดวัคซีน” ตามภาษาละติน “vaccinus” ซึ่งหมายถึง “ของวัว” และหลักฐานเบื้องต้นชี้ให้เห็นว่าวิธีนี้มีประสิทธิภาพพิเศษ ปกป้องผู้คนจากการติดเชื้อได้ 95% ซึ่งมีอัตราการชีวิตของผู้ป่วยประมาณ 30% และแม้จะไม่เสียชีวิต แต่ก็อาจเสียโฉมอย่างถาวร

Person holding injection

ที่มาของภาพ, Getty Images

ต่อมาไม่นาน ผู้คลางแคลงใจเรื่องวัคซีนได้ปรากฏตัวขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แพทย์ที่รักษาโรคเหล่านี้เชื่อว่าฝีดาษวัว ไม่สามารถติดในมนุษย์ได้ และมีผู้กล่าวอ้างว่าเด็กที่ได้รับการฉีดวัคซีน เริ่มพัฒนาคุณลักษณะของวัว เช่น รอยด่างที่อยู่บนตัวโคนม

อันที่จริง จนถึงทุกวันนี้ยังไม่มีใครรู้ว่าไวรัสที่ใช้ผลิตวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษได้นั้นมาจากไหน แต่ก็ยังคงใช้ไวรัสลึกลับนี้อยู่ รวมถึงในวัคซีนที่ใช้กับโรคฝีดาษลิง ซึ่งขณะนี้องค์การอนามัยโลกได้ประกาศเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพระดับโลก

A sample of early smallpox vaccine

ที่มาของภาพ, Science Museum London

จากเดิมที่ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่อยู่ในทวีปแอฟริกาในช่วงห้าทศวรรษที่ผ่านมา แต่เมื่อ พ.ค. ที่ผ่านมา ไวรัสฝีดาษลิงได้เริ่มแพร่กระจายไปทั่วโลก และเพื่อต่อสู้กับโรคนี้ นักวิทยาศาสตร์ได้หันมาใช้วัคซีนป้องกันไข้ทรพิษ 2 ชนิดก่อนหน้านี้ ได้แก่ ACAM2000 และ JYNNEOS ซึ่งสหรัฐอเมริกาเป็นเพียงประเทศเดียวที่ได้รับอนุญาตให้ใช้เพื่อป้องกันการระบาดของฝีดาษลิง โดยวัคซีนทั้งสองชนิดนี้มีความปลอดภัยเป็นพิเศษและเชื่อว่ามีประสิทธิภาพสูง

เป็นเวลานานกว่าศตวรรษ ที่ชุมชนวิทยาศาสตร์เชื่อว่าวัคซีนฝีดาษเป็นวัคซีนที่สกัดมาจากไวรัสฝีดาษวัว แต่ในปี 1939 หรือเกือบ 150 ปีหลังการคิดค้นวัคซีน การทดสอบระดับโมเลกุลพบว่าไม่ใช่

เมื่อเร็ว ๆ นี้การจัดลำดับทางพันธุกรรมได้ยืนยันการค้นพบเหล่านี้ ว่าวัคซีนที่ใช้จัดการกับฝีดาษและวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษในปัจจุบันมีพื้นฐานมาจากไวรัสที่ไม่มีใครรู้จัก และไม่มีใครสามารถระบุได้

แม้จะทำการค้นหามาหลายทศวรรษ แต่ก็ไม่มีใครรู้ว่าในวัคซีนฝีดาษไข้ทรพิษมีไวรัสตัวไหนอยู่ และมันมีที่มาจากไหน มีเพียงสิ่งเดียวที่ชัดเจนคือผู้คนนับล้านที่มีชีวิตอยู่ในสมัยที่ฝีดาษระบาดเป็นหนี้ชีวิตต่อไวรัสปริศนาตัวนั้น หากไม่มีมัน การระบาดของฝีดาษของลิงในปัจจุบันอาจมีแนวโน้มจะแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้นไปอีก

“จนถึงปี 1939 ผู้คนคิดว่าสิ่งที่เราเรียกว่าวัคซีนฝีดาษ คือเชื้อไวรัสตัวเดียวกันกับโรคฝีดาษวัว” โฮเซ เอสพาร์ซา นักไวรัสวิทยาและนักวิจัยของสถาบัน โรเบิร์ต โคช ประเทศเยอรมนี กล่าว “จากนั้นมีการพบว่ามันต่างกัน และตั้งแต่นั้นมา เราก็ยอมรับว่าโรคฝีดาษวัวเป็นไวรัสตัวหนึ่ง และวัคซีนก็สกัดมาจากไวรัสอีกชนิดหนึ่งที่ไม่ทราบที่มา”

เอ็ดเวิร์ด เจนเนอร์ เป็นผู้ได้รับการยกย่องในระดับสากลว่าเป็นผู้คิดค้นวัคซีนฝีดาษ โดยประกาศการค้นพบของเขาในปี 1796

เจนเนอร์สังเกตเห็นว่าคนรีดนมวัวมักมีผิวที่ใสอย่างผิดปกติ และไม่มีรอยหลุมแผลเป็นบนใบหน้า ที่มักกระทบต่อประชากรที่เคยติดเชื้อฝีดาษส่วนใหญ่มากถึง 85%

เขาตระหนักว่าผู้ที่เคยป่วยด้วยโรคฝีดาษวัว ซึ่งมีความรุนแรงน้อยกว่าฝีดาษ จะมีโอกาสติดโรคฝีดาษลดลง โดยเขาได้ทดลองกับเด็กชายวัย 8 ปี พบว่าเด็กชายที่เคยติดเชื้อฝีดาษมาก่อน ไม่มีอาการป่วยและเสียชีวิตจากการติดเชื้ออีกรอบ

Racoons

ที่มาของภาพ, Getty Images

กลุ่มใหญ่

มนุษย์ไม่ได้อยู่เพียงลำพังในการต่อสู้กับไวรัสโรคฝีดาษ เพราะครอบครัวไวรัสที่กว้างใหญ่และครอบคลุมนี้ประกอบด้วยไวรัสหลายสิบตัว ซึ่งแต่ละตัวมีเฉพาะในสัตว์หลากหลายชนิด แม้แต่แมลงปีกแข็งก็มีไวรัสในรูปแบบของตัวเอง

ภายในนี้มีกลุ่ม Orthopoxvirus ซึ่งเป็นไวรัสฝีดาษซึ่งน่าจะเรียกว่า “ฝีดาษมนุษย์” (humanpox) ควบคู่ไปกับไวรัสของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่น ๆ รวมทั้งโรคฝีดาษม้า ฝีดาษอูฐ ฝีดาษกระบือ ฝีดาษกระต่าย ฝีดาษหนู ฝีดาษลิง และฝีดาษแรคคูน

ในเอกสารต้นฉบับของเจนเนอร์เกี่ยวกับการฉีดวัคซีน เขาอธิบายความสงสัยของเขาว่าโรคฝีดาษอาจมาจากม้า

ตัวอย่างหนึ่งมาจากผู้ดูแลสวนของเอิร์ลแห่งเบิร์กลีย์ เขาสังเกตว่าม้าที่เขาทำงานด้วยป่วยเป็นโรคนี้ และต่อมาก็แพร่ไปยังฝูงวัวที่เขากำลังรีดนมอยู่และตัวเขาเองโดยไม่ได้ตั้งใจ จากนั้น 25 ปีต่อมา ชายคนเดิมกลับมาหาครอบครัวของเขา ไม่นาน ครอบครัวของชายผู้นี้ล้มป่วยด้วยโรคฝีดาษ แต่เขากลับไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ จากโรคฝีดาษ

ความพยายามในการฉีดวัคซีนในช่วงต้นของเจนเนอร์ในครั้งต่อ ๆ มานั้น เป็นการถ่ายโอนไวรัสป้องกันจากคนสู่คน ผู้ป่วยรายใหม่แต่ละรายที่ติดเชื้อจะกลายเป็นแหล่งผลิตน้ำเหลืองที่สามารถนำมาสกัดเป็นวัคซีนให้คนอื่นได้

อีกวิธีการที่ซับซ้อนกว่านั้น คือ การจุ่มด้ายในวัสดุที่ติดเชื้อแล้วและทำให้แห้ง วิธีนี้ทำให้สามารถแพร่กระจายวัคซีนไปยังที่ต่าง ๆ ได้ทั่วโลกได้อย่างรวดเร็ว โดยในปี ค.ศ. 1800 เจนเนอร์ได้ส่งเส้นด้ายเคลือบน้ำเหลืองเดินทางไกล 3,656 กม. ไปยังนิวฟาวด์แลนด์ ในแคนาดา และใช้มันฉีดวัคซีนให้กับคนหลายร้อยคนได้สำเร็จ

Landmine rat

ที่มาของภาพ, Getty Images

การพลิกผันที่คาดไม่ถึง

แม้จะเป็นเวลาหลายศตวรรษแล้ว ตั้งแต่การฉีดวัคซีนฝีดาษในระยะแรก แต่ยังคงมีไวรัสเก่า ๆ ที่ซ่อนอยู่ในพิพิธภัณฑ์และของสะสมต่าง ๆ ทั่วโลก ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรูปของสะเก็ดและน้ำเหลืองจากชุดฉีดวัคซีน

ย้อนกลับไปในปี 2017 ทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติที่นำโดยเอสพาร์ซา ได้ค้นพบวัคซีนที่ผลิตขึ้นในรัฐฟิลาเดลเฟียในปี 1902

Orthopoxviruses มีจีโนมขนาดใหญ่กว่าปกติ ซึ่งประกอบด้วยดีเอ็นเอแบบสองสาย นักวิจัยได้รวบรวมจีโนมที่เกือบสมบูรณ์จากตัวอย่างประวัติศาสตร์ที่พวกเขามี “วัคซีนเหล่านี้ถูกเก็บไว้ที่อุณหภูมิห้องมานานกว่า 100 ปี” เอสพาร์ซา กล่าว โดยการค้นพบนี้เป็นไปได้ ด้วยเทคนิคสมัยใหม่ที่จัดลำดับสารพันธุกรรมที่เสื่อมโทรมได้นั่นเอง

สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์พบ เพิ่มน้ำหนักในทฤษฎีที่สงสัยมาเป็นเวลานาน โดยค้นพบว่าไม่มีหลักฐานของโรคฝีดาษในสายพันธุ์ที่พวกเขาทำการทดสอบ และกลับมีความเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับไวรัสโรคฝีดาษในประเทศมองโกเลียในปี 1976

ตั้งแต่นั้นมา ทีมงานก็ได้จัดลำดับวัคซีนประวัติศาสตร์อื่น ๆ มากมาย “ในตัวอย่าง 31 ตัวอย่าง เราไม่พบไวรัสฝีดาษวัวในตัวอย่างใด ๆ” เอสพาร์ซา กล่าว

งานวิจัยชิ้นอื่นที่ทำสำเร็จโดยทีมนักวิจัยอีกทีมหนึ่ง พบผลลัพธ์ที่คล้ายคลึงกัน นอกจากโรคฝีดาษม้าแล้ว วัคซีนของพวกเขาตั้งแต่กลางถึงปลายศตวรรษที่ 19 ในฟิลาเดลเฟีย ยังเข้ากันได้ดีกับไวรัสประจำถิ่นของบราซิล ไวรัส Cantaglo ซึ่งทำให้เกิดการระบาดเป็นระยะในวัว โดยนี่ไม่ใช่ไวรัสฝีดาษวัว แต่เชื่อกันว่ามันสืบเชื้อสายมาจากวัคซีนฝีดาษที่หลบหนีไปอยู่ตามธรรมชาติเมื่อหลายปีก่อน

ดังนั้น ดูเหมือนว่าวัคซีนในคริสต์ศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20 ส่วนใหญ่ทำมาจากโรคฝีดาษม้าจริง ๆ และไม่เคยใช้ไวรัสฝีดาษวัว อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่จุดจบของปริศนา

Old illustration depicting fears over smallpox

ที่มาของภาพ, Wellcome Trust

“มีเรื่องลึกลับที่เรายังไขปริศนาไม่ได้” เอสพาร์ซา กล่าว ทีมของเขาเพิ่งค้นพบหลักฐาน (ที่ยังไม่ได้เผยแพร่) สำหรับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในวัคซีนที่ใช้ป้องกันฝีดาษ ซึ่งเกิดขึ้นราวปี 1930

“เรากำลังตรวจสอบเรื่องนี้อยู่” เขากล่าว

เมื่อทีมวิจัยจัดลำดับพันธุกรรมวัคซีนป้องกันฝีดาษล่าสุด พวกเขาพบว่าแทนที่ไวรัสเหล่านี้ที่จะประกอบไปด้วยโรคฝีดาษม้าเป็นส่วนใหญ่ แต่ไวรัสส่วนใหญ่ที่พบกลับมีพื้นฐานมาจากไวรัสลึกลับที่พบในวัคซีนในปัจจุบัน

ไวรัสที่หายไป

ในมุมมองของเอสพาร์ซา การก้าวกระโดดอย่างกะทันหันจากวัคซีนฝีดาษชนิดหนึ่งไปเป็นอีกชนิดหนึ่งน่าจะมาจากวิธีการแจกจ่ายวัคซีน

“ในช่วง 100 ปีแรก (ของวัคซีน) พวกมันถูกเก็บไว้ใกล้มือมนุษย์” เอสพาร์ซา กล่าว

“ในปี พ.ศ. 1860 นักวิทยาศาสตร์ในอิตาลีและฝรั่งเศสได้ให้วัคซีนสำหรับสัตว์ แทนที่จะเป็นการติดไวรัสจากคนสู่คน พวกเขาสามารถนำวัคซีนกลับเข้าไปไว้ในตัววัวและเก็บรักษาไว้ในวัวได้” ก่อนที่จต่อยอดสู่การใช้วิธีเก็บรักษาเดียวกันนี้ในแกะ ม้า และลา

เมื่อถึงจุดหนึ่ง ไวรัสที่มนุษย์ไม่รู้จักเริ่มถูกใช้เป็นวัคซีนฝีดาษ ไม่มีบันทึกว่าใครทำสิ่งนี้ เมื่อไหร่ ทำไม หรืออย่างไร แต่เป็นไปได้ว่ามันเป็นเพียงอุบัติเหตุ โดยมีคนเก็บตัวอย่างจากสิ่งที่พวกเขาคิดว่าเป็นโรคฝีดาษม้าหรือโรคฝีดาษจากปศุสัตว์ชนิดอื่น ๆ ทั้งที่จริง ๆ แล้ว มันเป็นการสุ่มเลือกไวรัสปลอมที่ไม่ระบุชื่อ และมันก็ทำงานได้ดี

Edward Jenner

ที่มาของภาพ, Getty Images

หลังปี 1930 ไวรัสลึกลับนี้กลายเป็นวัคซีนที่พบได้บ่อยที่สุด และในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 มีวัคซีนหลายร้อยชนิดแพร่กระจายไปทั่วโลก จากนั้นในปี 1966 องค์การอนามัยโลกได้ประกาศรณรงค์กำจัดโรคฝีดาษ และเลือกวัคซีนเพียง 6 สายพันธุ์ที่จะใช้เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย เมื่อเวลาผ่านไป การแพร่กระจายวัคซีนที่ผลิตจากไวรัสที่ไม่มีใครรู้จัก ก็ยิ่งขยายวงกว้างขึ้น

มีคนคิดว่าครั้งหนึ่ง โรคฝีดาษม้าเคยทำให้เกิดการระบาดเป็นประจำในประเทศต่าง ๆ ทั่วยุโรป และอาจพบได้ทั่วไปด้วยซ้ำ แต่ไม่มีการจำแนกโรคที่เกิดขึ้นในธรรมชาตินี้จนกระทั่งปี 1976 เมื่อม้าเริ่มล้มป่วยด้วยแผลและอาการคล้ายไข้ในมองโกเลีย โดยมีผู้เสนอข้อแนะนำว่า การเลี้ยงสัตว์ในสภาพที่ดีขึ้น และการวินิจฉัยโรคที่ดีขึ้นอาจทำให้ไวรัสนี้สูญพันธุ์ได้

“เราได้คาดการณ์เกี่ยวกับความเป็นไปได้นั้นแล้ว” เอสพาร์ซา อธิบายว่าไวรัสลึกลับที่ใช้ในวัคซีนฝีดาษสมัยใหม่อาจพบกับชะตากรรมเดียวกันก็เป็นได้

….

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว