กว่าจะมาเป็น Vespa โรงบ่ม Scooter of Emotional

Vespa
คอลัมน์ : เยี่ยมชมโรงงาน

“วีพีพีดับเบิลยู ซัพพลายส์” ผู้จัดจำหน่ายรถมอเตอร์ไซค์ในกลุ่ม “พิอาจิโอ” หรือรู้จักกันในนาม เวสป้า ไทยแลนด์ ทำตลาดในบ้านเรามา 13 ปีแล้ว

ต้นสัปดาห์ก่อน “พรนฎา นิวาตวงศ์” พาสื่อหลายสำนักไปบุกชมโรงงานผลิตรถจักรยานยนต์ เวสป้า ที่เรียกว่าใหญ่ที่สุดในอาเซียน และเป็น “ฮับ” สำคัญของ พิอาจิโอ ภายใต้อาณาจักรของ “Vespa’s factory visit in Vietnam” ณ เมืองหวิงฟุก ประเทศเวียดนาม

Vespa

สำหรับโรงงานแห่งนี้ผลิตรถจักรยานยนต์ทั้ง 3 แบรนด์หลัก ได้แก่ Vespa, Piaggio, Aprilia

ส่วนแบรนด์ Moto Guzzi นั้น ฐานผลิตยังอยู่ที่ประเทศแม่ คือ “อิตาลี”

จากตัวเมืองฮานอย นั่งรถต่อไปอีกราวชั่วโมงกว่า เราก็เข้าเขตโรงงานผลิต Vespa “เวสป้า”

โรงงานแห่งนี้ถือเป็นฐานผลิตรถสกู๊ตเตอร์ เวสป้า ที่ใหญ่ที่สุดในโลก จากโรงงานทั้งหมดทั่วโลกที่มีอยู่ 12 แห่ง (อิตาลี 5 แห่ง, อินเดีย 3 แห่ง, เวียดนาม 2 แห่ง, จีน และอินโดนีเซีย ที่ละ 1 แห่ง) และยังมีศูนย์วิจัยและพัฒนา หรืออาร์แอนด์ดี 1 ใน 7 แห่งทั่วโลก โดยที่นี่ถือเป็นแห่งแรกนอกยุโรปด้วย

การเยี่ยมชมโรงงานครั้งนี้ยังได้ ผู้นำทัวร์โรงงานชั้นยอด อย่าง “เดเนียลเล่ แลนดินี่” ผู้อำนวยการโรงงาน สายงานกลุ่มธุรกิจสองล้อ ภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก บริษัทพิอาจิโอ เวียดนาม เปิดอาณาจักรให้เราได้ชมกระบวนการสายการผลิตรถจักรยานยนต์เวสป้ากัน

Vespa

“พิอาจิโอ” ขนานนามว่า โรงงานแห่งนี้คือ Laboratory of Emotion หรือ ห้องทดลองความรู้สึก เพราะ “พิอาจิโอ” เป็นแบรนด์สินค้าที่มุ่งเน้นสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า และผู้ที่ชื่นชอบ โดยมี “สินค้า” เป็นตัวเชื่อม ผลิตรถเพื่อส่งไปจำหน่ายยัง 100 ประเทศทั่วโลก ทั้งสกู๊ตเตอร์ในท็อปคลาสอย่าง Vespa GTS ที่เริ่มผลิตมาตั้งแต่ในปี 2004 รวมทั้ง Aprillia SR GT 200

โรงงานแห่งนี้ตั้งอยู่บนพื้นที่ขนาด 265,000 ตารางเมตร มี 12 ไลน์ผลิต แบ่งเป็นไลน์ เครื่องยนต์ 2 ไลน์ ไลน์เชื่อม 3 ไลน์ ไลน์สี 3 ไลน์ และไลน์ประกอบ 3 ไลน์ และยังมีในส่วนของไลน์สำหรับตรวจสอบคุณภาพ หรือ QC อีกด้วย

กำลังผลิตอยู่ที่ 200,000-300,000 คันต่อปี ผลิตรถจักรยานยนต์ 3 แบรนด์ ได้แก่ Vespa, Piaggio, Aprilia

โดยกำลังผลิตหลัก 75% กับ เวสป้าส่วนที่เหลือ 25% เป็นของแบรนด์อื่น

“หัวใจ” หลักในการออกแบบและพัฒนาสกู๊ตเตอร์ Vespa นั้น ยังคงจะเน้นแนวทางดั้งเดิมในการออกแบบ เพื่อให้ผู้ขับขี่ได้สัมผัสความเป็น Vespa มากที่สุด คือความเป็น Scooter of Emotional ที่ให้อารมณ์ร่วมในการขับขี่ และเติมแต่งสีสันที่เข้ากับไลฟ์สไตล์ของผู้ใช้ให้ได้มากที่สุด ชนิดที่เรียกว่า มีทั้งกลิ่นอายของความคลาสสิกและความมีรสนิยมที่บ่งบอกถึงความเป็นตัวของตัวเอง

Vespa

“แลนดินี่” พาเราเดินเข้าไปชมในส่วนของกระบวนการเชื่อมตัวถัง โรงงานแห่งนี้ยังคงใช้ “คน” ในการเชื่อมตัวถังโดยใช้โครงสร้างเหล็กขึ้นรูปเป็นส่วนหนึ่งของตัวถัง แบบ Monocoque หรือ Unibody ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สกู๊ตเตอร์จากแบรนด์ Vespa มีความทนทาน โดยจะมีจุดยึดมากกว่า 330-360 จุดในการเชื่อมต่อ แล้วแต่บอดี้ของรถแต่ละรุ่น

จากไลน์เชื่อม ตัวถัง (เฟรม) ของรถจักรยานยนต์จะถูกส่งไปยังไลน์การชุบสีกันสนิม โดยจะนำ “บอดี้” ของรถทั้งคันแช่ผ่านลงไปในถังน้ำยา ใช้ระยะเวลาประมาณ 30 นาที เพื่อให้ทำปฏิกิริยาทางไฟฟ้า เพื่อให้รถกันสนิม และใช้งานได้ทนทาน หลังจากการทำสีแล้ว ก็จะส่งเข้าไปสู่กระบวนการประกอบตัวรถ ไลน์การประกอบเครื่องยนต์ ทุก ๆ ขั้นตอนจะมีการตรวจสอบคุณภาพอย่างต่อเนื่อง โรงงานแห่งนี้ประกอบเครื่องยนต์ตั้งแต่ 125, 150 และ 175 ซีซี

ส่วนรุ่นที่ใช้เครื่องยนต์ใหญ่กว่านั้น โรงงานแห่งนี้จะนำเข้าเครื่องยนต์มาจากโรงงานที่ฐานผลิตในประเทศอื่น ๆ

ส่วนกำลังผลิต ในโรงงานผลิตเฉลี่ยมีกำลังผลิตที่สามารถทำได้ 700 คันต่อวัน

และเมื่อรถทั้งคันผลิตเสร็จแล้ว จะถูกส่งมายังไลน์สุดท้าย เพื่อตรวจสอบระบบต่าง ๆ เติมน้ำมัน ระบบไฟฟ้า การสตาร์ตเครื่อง เพื่อตรวจสอบให้แน่ใจว่า “พิอาจิโอ” จะส่งมอบรถสกู๊ตเตอร์คุณภาพ ไปถึงมือลูกค้าทั่วโลก

สุดท้าย… “แลนดินี่” ได้กล่าวสั้น ๆ แต่ได้ใจความว่า

“พนักงานในไลน์ผลิตไม่ได้ผลิตแค่รถจักรยานยนต์ หรือสกู๊ตเตอร์เท่านั้น แต่พวกเขากำลังเจียระไนอัญมณีชิ้นหนึ่ง เพื่อส่งมอบให้กับลูกค้า”

Vespa Vespa Vespa