ยักษ์ประกันเปิดเกมชิงตลาด EV “วิริยะ” เพิ่มรถเข้าพอร์ต 100%

รถอีวี

รถยนต์ไฟฟ้า หรือรถอีวี นับวันยิ่งได้รับความนิยมมากขึ้น ในงานมอเตอร์โชว์ 2023 ที่ผ่านมา รถอีวีสามารถกวาดยอดจองได้ 9,234 คัน คิดเป็นสัดส่วน 21.53% จากยอดจองทั้งหมด 45,983 คัน

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี (ttb analytics) ชี้ว่า ยอดจดทะเบียนรถอีวีในไทยเพิ่มขึ้นถึง 17 เท่าภายในเวลาเพียง 3 ปี และคาดว่าในปี 2566 ยอดจดทะเบียนรถยนต์นั่งอีวีจะสูงถึง 40,812 คัน หรือขยายตัว 321.7%

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ธุรกิจประกันวินาศภัยในปี 2566 เบี้ยรับรวมจะอยู่ที่ 285,000-288,000 ล้านบาท เติบโต 4-5% จากปีก่อน โดยพอร์ตหลักที่หนุนการเติบโตมาจากการรับประกันภัยรถยนต์ คาดว่าปีนี้จะมีเบี้ยแตะ 165,500-166,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.8-7.5% ตามผลบวกด้านยอดขายรถใหม่ การท่องเที่ยว และการขนส่งที่ดีขึ้น นอกจากนี้ ยังมีผลของอัตราเบี้ยประกันที่เพิ่มขึ้นตามการแข่งขันที่ลดลง

โดยพอร์ตประกันรถอีวีช่วงปลายปีนี้ คาดว่าจะมีความชัดเจนเรื่องอัตราเบี้ยประกันและเงื่อนไขเฉพาะของการรับประกันรถอีวี ประกอบกับปริมาณรถอีวีที่ออกสู่ตลาดและผู้ให้บริการประกันที่เพิ่มขึ้น น่าจะทำให้อัตราเบี้ยมีความเหมาะสมและสามารถสนับสนุนการใช้รถอีวีได้ดีขึ้น

ทั้งนี้ อัตราเบี้ยประกันรถอีวีในปัจจุบันเฉลี่ยยังสูงกว่ารถทั่วไปในประเภทเดียวกันประมาณ 20% ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลสะท้อนจากตลาดที่ยังไม่สมบูรณ์ ทั้งในมุมปริมาณรถยนต์อีวีที่ยังอยู่ในหลักหมื่นคัน และข้อมูลสถิติการเคลมสินไหมยังไม่ชัดเจน รวมทั้งมีประเด็นเรื่องความเสียหายของแบตเตอรี่จากอุบัติเหตุทั่วไปที่อาจถึงขั้นคืนทุน ประกอบกับจำนวนผู้ให้บริการที่ยังมีน้อย

วิริยะฯ ตั้งเป้าโกยเบี้ยอีกหมื่นคัน

“อมร ทองธิว” กรรมการผู้จัดการ บมจ.วิริยะประกันภัย เปิดเผยว่า ในปีนี้ บริษัทตั้งเป้าเบี้ยรับรวม 43,000 ล้านบาท เติบโต 6% มาจากเบี้ยประกันรถยนต์ 37,600 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% และเบี้ยประกันที่ไม่ใช่รถอีก 5,700 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11% โดย 2 เดือนแรกของปีนี้มีเบี้ยเป็นไปตามแผนโตกว่า 5% และยังคงครองแชมป์ตลาดประกันรถอีวี มีรถอีวีที่อยู่ในความคุ้มครอง 5,286 คัน

ซึ่งสำหรับการประกันรถอีวี ปีนี้คาดว่าจะเติบโต 100% จากปีก่อน หรือมีจำนวนรถอีวีเพิ่มขึ้นอีก 1 หมื่นคัน โดยพอร์ตงานในมือส่วนใหญ่ยังเป็นรถอีวีจากพาร์ตเนอร์ค่ายเกรท วอลล์ มอเตอร์ ในส่วนอัตราความเสียหาย (loss ratio) ยังมีไม่มาก บางกรณีที่เกิดเหตุกระทบตัวแบตเตอรี่ส่วนใหญ่แล้วจะคืนทุนประกัน เพราะค่าแบตเตอรี่คิดเป็น 70-80% ของราคารถ ทำให้ปัจจุบันจำเป็นต้องทำให้เบี้ยแพงกว่ารถสันดาปประมาณ 10% แต่หากความเสียหายไม่กระทบตัวแบตเตอรี่เปลี่ยนเฉพาะบางชิ้นส่วนได้

“เรามีความมั่นใจมากที่จะรับประกันรถอีวี เพราะได้มีการศึกษาและทำงานร่วมกับผู้ผลิตรถมาอย่างต่อเนื่อง 4-5 ปีแล้ว โดยเข้าใจตั้งแต่กระบวนการตรวจสอบอุบัติเหตุ การยก หรือลากรถ และการซ่อมแซมรถ”

“กรุงเทพฯ” ชิงส่วนแบ่ง 2,000 คัน

ขณะที่ “อภิสิทธิ์ อนันตนาถรัตน” ประธานคณะผู้บริหารและกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.กรุงเทพประกันภัย กล่าวว่า ในปีนี้บริษัทตั้งเป้าเบี้ยรับรวม 3 หมื่นล้านบาท เติบโต 12.5% มาจากเบี้ยประกันรถยนต์ 13,096 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 43% และมาจากเบี้ยประกันที่ไม่ใช่รถอีก 16,904 ล้านบาท

โดยปีนี้คาดว่าจะมีรถอีวีจดทะเบียนใหม่ในตลาด 40,000 คัน และบริษัทจะมีสัดส่วนรับประกันรถอีวีประมาณ 2,000 คัน หรือมาร์เก็ตแชร์ราว 6% ของรถอีวีจดทะเบียนใหม่

ทั้งนี้ คาดว่าจะมีเบี้ยประกันรถอีวีเข้ามา 120-140 ล้านบาทได้ โดยบริษัทมีแผนจะพัฒนาความคุ้มครองใหม่ ๆ พร้อมเพิ่มจำนวนรุ่นรถอีวีที่รับประกันจากปัจจุบันที่ครอบคลุมถึง 33 รุ่น จาก 20 แบรนด์ชั้นนำ

“รถอีวีทั้งหมดจะเป็นการซ่อมศูนย์ เพราะยังไม่มีใครรับซ่อม ความเชี่ยวชาญคือศูนย์ ซึ่งศูนย์ค่าแรงค่อนข้างแพง ส่วนใหญ่ใช้วิธีการเปลี่ยนอะไหล่ ขณะนี้เราจึงได้ส่งทีมเข้าไปพัฒนาอู่ในกลุ่มของบริษัท เพื่อให้มีความเชี่ยวชาญในการซ่อมรถอีวี มีความรู้เกี่ยวกับแบตเตอรี่และชิ้นส่วนอะไหล่ ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถขยับขยายการเติบโตรถอีวีได้มากขึ้นในอนาคต”

“ธนชาตฯ” เจาะอีวีค่ายยุโรป

“พีระพัฒน์ เมฆสิงห์วี” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ธนชาตประกันภัย กล่าวว่า ในปีนี้ตั้งเป้าเบี้ยรับรวม 12,000 ล้านบาท เติบโต 16% มาจากการโตของเบี้ยประกันรถยนต์ 17% และเบี้ยประกันภัยที่ไม่ใช่รถโต 34% โดยบริษัทประเมินว่า ปีนี้จะมีรถอีวีจดทะเบียนใหม่ 50,000 คัน จึงตั้งเป้าจะเป็นผู้นำรับประกันรถอีวี เพิ่มมาร์เก็ตแชร์เป็น 20% จากปีที่แล้วมีเบี้ยรถอีวีที่อยู่ในความคุ้มครองกว่า 2,000 คัน คิดเป็นเบี้ยรับกว่า 200 ล้านบาท เติบโตกว่า 1,363% จากปีก่อนหน้า

“ตอนนี้งานในมือของเราส่วนใหญ่กว่า 80% เป็นรถอีวียุโรป ซึ่งปีนี้อยู่ระหว่างเจรจาผู้ผลิตรถยุโรปเพื่อเป็นพันธมิตรรับประกันเพียงรายเดียว (exclusive partner) อีกด้วย โดยเรามีจุดเด่นจากค่าเบี้ยใกล้เคียงกับรถยนต์สันดาป มีบริการรถยกไปยังจุดชาร์จที่ใกล้ที่สุดในรัศมี 20 กิโลเมตร และมีแผนขยายตลาดผ่านผู้ให้บริการสินเชื่อ, ผู้ผลิตรถยนต์, โบรกเกอร์ประกันภัย และออนไลน์มาร์เก็ตติ้ง”

เมืองไทยฯซุ่มเจรจารถแบรนด์ดัง

ด้าน “วาสิต ล่ำซำ” รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บมจ.เมืองไทยประกันภัย กล่าวว่า แผนการรับประกันรถอีวีปีนี้ตั้งเป้าไว้ประมาณ 1,000 คัน จากเดิมที่มีรถอีวีในความคุ้มครองอยู่ประมาณ 200 คัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรถอีวีจีน แต่บริษัทสามารถรับงานได้ทุกรุ่นและทุกแบรนด์ แต่ต้องอยู่บนเงื่อนไขและราคาของบริษัท โดยตอนนี้เบี้ยประกันรถอีวียุโรปจะแพงกว่ารถสันดาปราว 20-30% ส่วนรถจีนเบี้ยแพงกว่าประมาณ 10-15%

“ตอนนี้บริษัทกำลังเข้าไปเจรจากับรถแบรนด์ดังค่ายหนึ่งอยู่ บนเงื่อนไขที่เราทั้งคู่รับได้ และจะมีการทำดีล exclusive partner ซึ่งกำลังพูดคุยกันอยู่ คาดว่าปีนี้จะมีความคืบหน้าที่ชัดเจนเกิดขึ้น สำหรับประกันรถอีวี เราคงไม่ตกรถไฟในการเข้าไปรับงาน แต่ไม่ได้เป็นผู้นำ โดยนอกจากช่องทางดีลเลอร์แล้ว ก็จะขยายงานผ่านไฟแนนซ์และโบรกเกอร์ด้วย คือยังใช้ความระมัดระวังอยู่ เพราะยังมีปัจจัยที่เรายังไม่มั่นใจหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องที่สำคัญมาก คือความรู้ของดีลเลอร์ที่ยังไม่มีความเข้าใจที่ถ่องแท้ เวลาซ่อมส่วนใหญ่จะเปลี่ยนหมด ซึ่งบางทีซ่อมได้”

จากภาพทั้งหมดนี้ การประกันภัยรถอีวีนับได้ว่ามีทิศทางการเติบโตที่น่าสนใจเลยทีเดียว