ไตรมาส 4 โอกาสทองซื้อรถ จีนทุบราคา-สินเชื่อจัดเต็ม

แบงก์มั่นใจธุรกิจเช่าซื้อโค้งท้ายฟื้นตัว อานิสงส์ค่ายรถยนต์แห่หั่นราคา โดยเฉพาะแบรนด์จีนกระตุ้นยอดขายปลายปี-งานใหญ่ “มอเตอร์เอ็กซ์โป” ปลุกตลาด “ทีเอ็มบีธนชาต” คาดเปิดตัวรถใหม่-ค่ายผู้ผลิตแบรนด์ดังเร่งอัดแคมเปญดูดลูกค้า ช่วยกระตุ้นยอดขายได้ 8.5 หมื่นคันต่อเดือน หนุนทั้งปีแตะ 8.2-8.3 แสนคัน ขณะที่ “เกียรตินาคินภัทร” ชี้โอกาสทองลูกค้าที่มีความพร้อม-มีกำลังซื้อ ต่อรองส่วนลด-ดอกเบี้ยได้ ฟาก “กรุงศรี ออโต้” เตรียมอัดแคมเปญรับยอดขายปลายปี

นายชัชฤทธิ์ ตั้งเถกิงเกียรติ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ผลิตภัณฑ์ธุรกิจสินเชื่อรถยนต์ ธนาคารทีเอ็มบีธนชาต หรือทีทีบี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมยอดขายรถยนต์ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา มีตัวเลขอยู่ที่ประมาณ 5.8-5.9 แสนคัน และคาดว่าทั้งปียอดขายน่าอยู่ที่ประมาณ 8.2-8.3 แสนคัน ต่ำกว่าปีก่อนที่มียอดขายราว ๆ 8.5 แสนคัน หรือคิดเป็นการหดตัวราว 3-4%

รถใหม่-ลดราคา ปัจจัยหนุน

โดยช่วงไตรมาสที่ 4/2566 นอกจากจะเป็นฤดูกาลขายรถยนต์แล้ว ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ช่วยกระตุ้นยอด เช่น มหกรรมมอเตอร์เอ็กซ์โป การมีรถยนต์รุ่นใหม่เข้ามาในตลาดเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ที่จะมีการเปิดตัวใหม่ในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนนี้อีกหลายรุ่น

หลังจากก่อนหน้านี้ลูกค้าบางกลุ่มตัดสินใจชะลอการซื้อพอสมควร ประกอบกับมีความเคลื่อนไหวของค่ายรถยนต์ที่เริ่มอัดแคมเปญโปรโมชั่นกระตุ้นการขายอย่างต่อเนื่องแล้ว เช่น ค่ายรถ MG Tesla หรือ NETA เป็นต้น จัดแคมเปญลดราคารถยนต์ ตั้งแต่ 5 หมื่นบาท รวมถึงของแถมต่าง ๆ เนื่องจากทุกค่ายจะเริ่มปิดยอด

สำหรับไฟแนนซ์หรือสถาบันการเงิน อาจจะไม่ได้เห็นการแข่งขันแคมเปญลดดอกเบี้ยมากนัก เพราะตอนนี้ดอกเบี้ยช่วงขาขึ้น แต่จะเน้นร่วมมือกับค่ายรถยนต์ ซึ่งดอกเบี้ยพิเศษขึ้นอยู่กับการ subsidize ของค่ายรถด้วย เนื่องจากธนาคารต้องบริหารต้นทุนในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นและผลตอบแทน และทุกแห่งยังคงให้ความระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อเป็นสำคัญ

เนื่องจากคุณภาพลูกค้าอ่อนไหวเปลี่ยนแปลงไปตามภาวะเศรษฐกิจโดยรวม ส่วนทีทีบีเองจะเน้นการบริหารความเสี่ยงพอร์ตสินเชื่อ โดยกระจายพอร์ตไปเน้นรถแลกเงิน รถใหม่ รวมถึงแพลตฟอร์ม “Roddonjai” แทนตลาดรถใช้แล้ว รวมถึงการให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่มีปัญหาในการปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อให้ลูกค้าสามารถเดินหน้าต่อไปได้

นายชัชฤทธิ์ย้ำว่า จากภาพของการที่ค่ายรถหันมาเล่นแคมเปญลดราคามากขึ้น และบวกกับปัจจัยบวกต่าง ๆ ที่กล่าวมา คาดว่าน่าจะทำให้ยอดขายรถยนต์ในภาพรวมสำหรับไตรมาสที่ 4 นี้สามารถทำได้ประมาณ 8.5 หมื่นคันต่อเดือนจากก่อนหน้าอยู่ที่ 6.0-6.5 หมื่นคันต่อเดือน ขณะที่พอร์ตสินเชื่อทีทีบีอยู่ที่ราว 4 แสนล้านบาท เป็นอันดับหนึ่งในตลาด 4 ล้อ

ลูกค้าชั้นดีต่อรองเงื่อนไขได้

นายเตชินท์ ดุลยฤทธิรงค์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร หรือ KKP กล่าวในเรื่องนี้ว่า ภาพรวมสินเชื่อเช่าซื้อในช่วงไตรมาสที่ 4/2566 อาจจะยังไม่ได้ปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจโดยรวมยังฟื้นตัวไม่ทั่วถึง ค่าครองชีพที่สูงขึ้น แต่รายได้ไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้น ทำให้ความสามารถในการชำระหนี้น้อยลง

ส่งผลให้สถาบันการเงินเพิ่มความเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อมากขึ้นประกอบกับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ที่มีทิศทางเพิ่มขึ้น ธนาคารจึงเน้นลูกค้าที่มีศักยภาพมากขึ้น ซึ่งมีผลต่อยอดขายรถยนต์ที่ลดลงเนื่องจากยอดการอนุมัติสินเชื่อ (approval rate) ลดลง

คาดว่ายอดขายรถยนต์ทั้งปี 2566 จะอยู่ที่ราว 8 แสนคัน ซึ่งเป็นการปรับลดลงจากเป้าเดิมที่เคยตั้งไว้ โดยช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมามียอดขายกว่า 4.2-4.3 แสนคัน คาดว่าในช่วงที่เหลือของปี ผู้ประกอบการและค่ายรถยนต์จะมีออกแคมเปญพิเศษมาช่วยกระตุ้นยอดขาย รวมถึงมีงานมหกรรมใหญ่ที่จะมีขึ้นในช่วงปลายปีก็จะช่วยหนุนยอดขายได้

นายเตชินท์ยังระบุด้วยว่า อย่างไรก็ตาม ในภาวะที่กำลังซื้อถดถอย และรถยนต์สต๊อกไม่ได้ขาดแคลนเหมือนในอดีต จึงเป็นโอกาสของลูกค้าที่มีความพร้อมและกำลังซื้อที่จะสามารถต่อรองเงื่อนไขที่ดีขึ้นจากผู้ประกอบการได้ เช่น ราคาส่วนลด และของแถม เช่น จากเดิมเคยลดให้ 1 หมื่นบาท อาจจะเสนอเพิ่มเป็น 2-3 หมื่นบาท รวมถึงอัตราดอกเบี้ยพิเศษ ซึ่งขึ้นกับรุ่นและยี่ห้อรถยนต์ แต่จะเห็นการแข่งขันเสนอแคมเปญเพื่อกระตุ้นยอดขายมากขึ้น

“ภาพรวมสินเชื่อเช่าซื้อคงนิ่ง ๆ ไม่ได้โตมาก เพราะคนมีความสามารถจ่ายน้อยลง กำลังซื้อหด สะท้อนจากคนซื้อรถด้วยเงินสดน้อยลงเหลือเพียง 10% และ 90% ผ่อนแบงก์ ตอนนี้แบงก์เองก็เข้มเลือกลูกค้ามากขึ้น ทำให้คนกู้ผ่านน้อยลง ยอดขายก็ลดลง ส่วนเกียรตินาคินภัทร ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อเฉลี่ยเดือนละ 5,000-6,000 ล้านบาท เน้นลูกค้าที่มีคุณภาพ”

นายคงสิน คงคา ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านธุรกิจสินเชื่อยานยนต์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า สำหรับแนวโน้มภาพรวมธุรกิจสินเชื่อยานยนต์ในไตรมาส 4 ของปีนี้ น่าจะมีสัญญาณที่ดีขึ้นจากความชัดเจนของนโยบายภาครัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายด้าน

โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวรวมถึงเป็นช่วงที่ค่ายรถหลากหลายแบรนด์ทยอยเปิดตัวรถรุ่นใหม่ออกสู่ตลาด ซึ่งแคมเปญการตลาดของกรุงศรี ออโต้ ในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปีนี้ ได้แก่ แคมเปญพิเศษสำหรับลูกค้าเก่ากรุงศรี ออโต้ ในทุกผลิตภัณฑ์และแคมเปญสมัครสินเชื่อผ่านช่องทางออนไลน์และแอปพลิเคชั่น GO by Krungsri Auto เป็นต้น

รับอานิสงส์อีเวนต์ใหญ่ปลายปี

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับตลาดรถยนต์ในช่วงไตรมาสสุดท้ายถือเป็นไฮซีซั่น เพราะมีอีเวนต์ขายรถ “มอเตอร์เอ็กซ์โป” ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนต่อเนื่องเดือนธันวาคม ซึ่งช่วยสร้างบรรยากาศและกระตุ้นการขายให้คึกคักดีมาก และปีนี้กระแสการเข้าร่วมงานดีมาก เนื่องจากมีรถอีวีแบรนด์จีนเจ้าใหญ่ 2 ราย นอกเหนือไปจาก BYD, MG, เกรท วอลล์ฯ และเนต้า พร้อมขายในงาน

อาทิ ฉางอาน ออโต้ ซึ่งกำลังจะเปิดตัวแบรนด์ใหม่ “ดีพอล” (Deepal) ราว ๆ ต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ และกว่างโจว ออโตฯ (GAC) ซึ่งมีแบรนด์ Aion เปิดตัวมาระยะหนึ่งแล้ว รวมถึงบรรดารถจักรยานยนต์แบรนด์ใหม่พร้อมทำตลาดอีกหลายรุ่น โดยผู้จัดงานประเมินว่ายอดจองรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในงานน่าจะใกล้เคียงกับปี 2565 ที่ผ่านมา หรือประมาณ 4.5 หมื่นคัน

นายขวัญชัย ปภัสร์พงษ์ ประธานจัดงานมอเตอร์เอ็กซ์โป เคยให้สัมภาษณ์ถึงความสำเร็จของการจัดงานปี 2565 ที่ผ่านมาว่า สามารถทำยอดจองรถในงานทั้งหมด 42,768 คัน แบ่งเป็นรถยนต์ 36,679 คัน จักรยานยนต์ 6,089 คัน โดยราคาเฉลี่ยของรถที่ขายได้ในงานประมาณ 1.35 ล้านบาท รถจักรยานยนต์เฉลี่ย 2.5 แสนบาท ทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในงานราว 5 หมื่นล้านบาท

ปีนี้ขายรถถึง 8 แสนคัน

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า เป้าผลิตรถยนต์เพื่อขายในประเทศปีนี้ 800,000 คัน ลดลงเล็กน้อย เพราะภาวะการขายหดตัวมาตั้งแต่ต้นปี โดยเฉพาะรถปิกอัพ เนื่องจากสินเชื่อไม่ได้รับการอนุมัติจากปัญหาหนี้ครัวเรือน สถาบันการเงินเข้มงวดมากขึ้น อัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้น ค่าครองชีพที่สูงจึงส่งผลให้เศรษฐกิจในประเทศยังฟื้นตัวไม่มาก