“วู่หลิง” โยกโรงงานผลิตไปชลบุรี ลั่นขยายตลาด EV ทั้งขาย-เช่าครบวงจร

WULING

อีวี ไพรมัส ชูแผนธุรกิจขยายตลาดยานยนต์อีวี เต็มรูปแบบ เผยตัดสินใจย้ายโรงงานผลิต ปักหมุดนิคมแหลมฉบังขึ้นโรงประกอบรถอีวี พร้อมลุยตลาด “ขาย-เช่าใช้” เล็งส่งรถอีวีเพื่อพาณิชย์อีวี บุกตลาด หวังกินมาร์เก็ตแชร์รถอีโคคาร์ 10-15% ในอีก 3 ปี

นายพิทยา ธนาดำรงศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีวี ไพรมัส จำกัด เปิดเผยถึงแผนธุรกิจและความคืบหน้า การขึ้นไลน์ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ทั้งสองแบรนด์ VOLT และ WULING (วู่หลิง) ในประเทศไทยว่า ขณะนี้แผนงานดังกล่าวได้ล่าช้ากว่ากำหนดการเดิมราว ๆ 6 เดือน เนื่องจากบริษัทเปลี่ยนโรงงานประกอบจากเดิมที่จะลงทุนเช่าโรงงานกับทางบริษัท สกุลฎ์ซี อินโนเวชั่น จำกัด ในจังหวัดสุพรรณบุรีบนพื้นที่ขนาด 80 กว่าไร่ และกำหนดเริ่มผลิตในเดือนตุลาคม 2566 ไปเป็นโรงงานประกอบแห่งใหม่ ซึ่งตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง จ.ชลบุรี แทน

และขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงพื้นที่ ขนาด 5 ไร่ ส่วนโรงงานประกอบมีพื้นที่ 10,000 ตร.ม. โดยมีทีมงานจากบริษัทแม่ประเทศจีนมาดูแลการขึ้นไลน์ประกอบอย่างใกล้ชิด

“WULING เป็นรถขนาดเล็ก ดังนั้นไลน์ผลิตจึงสามารถติดตั้งและทำได้อย่างรวดเร็ว และคาดว่าภายในเดือนมีนาคมปี 2567 จะสามารถเดินเครื่องผลิตทั้ง WULING และ VOLT ได้ เบื้องต้นคาดว่าจะเป็นการผลิต WULING AIR เป็นโมเดลแรก”

สำหรับโรงงานแห่งนี้บริษัทได้ใช้งบประมาณกว่า 200 ล้านบาท ซึ่งจะมีศักยภาพการผลิต 6,000 คันต่อปีก่อนและในช่วงไตรมาส 2 ตามแผนจะเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่อีกอย่างน้อย 2 รุ่น และหนึ่งในนั้นน่าจะเป็น WULING BINGO ออกสู่ตลาด ขณะที่แบรนด์ VOTL ก็มีแผนจะแนะนำรถรุ่นใหม่ออกสู่ตลาดด้วย

ทั้งนี้บริษัทตั้งเป้าว่า ภายใน 3-4 ปีจากนี้สามารถแย่งส่วนแบ่งตลาดอีโคคาร์ในไทยได้ 10-15% หรือคิดเป็นรถอีวีประมาณ 8,000-10,000 คัน จากตลาดอีโคคาร์ที่มีประมาณ 80,000 คัน/ปี

ล่าสุดบริษัทได้ประกาศเดินหน้าพัฒนาใน 3 ธุรกิจหลัก เพื่อมุ่งสู่การเป็นองค์กรที่เติบโตอย่างยั่งยืน ได้แก่

1.EV Distribution : ธุรกิจประกอบและจัดจำหน่ายยานยนต์ไฟฟ้า

2.EV B2C Solution : ธุรกิจให้เช่ายานยนต์ไฟฟ้าสำหรับบุคคลทั่วไปและนักท่องเที่ยว

3.EV B2B Solution : ธุรกิจให้เช่ายานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์สำหรับลูกค้าแบบธุรกิจ

สำหรับ EV B2C Solution ธุรกิจให้เช่ายานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์นั้น บริษัทมีแผนจะเป็นผู้ให้บริการเช่ารถยนต์ไฟฟ้าเพื่อการพาณิชย์แบบครบวงจร ที่มีระบบ Battery Swap เพื่อลดต้นทุนการขนส่งของธุรกิจไปพร้อม ๆ กับการไม่ต้องจอดรอชาร์จ ซึ่งถือเป็นการแก้ Pain Point ของธุรกิจในสาขาต่าง ๆ ที่กำลังประสบปัญหาค่าขนส่งที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ และยังได้จับมือกับ Lesso Group ผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์ และชุด Power Storage ติดตั้งในโรงงานหรือที่จอดรถ เพื่อชาร์จไฟให้รถยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ จะช่วยลดต้นทุนค่าขนส่งให้ธุรกิจได้ มาให้บริการในส่วนนี้ด้วย

“เราจะเป็นผู้ขายโซลูชั่นด้วยการปฏิวัติวงการขนส่งในสเต็ปต่อไป ดังนั้นมีโอกาสจะได้เห็นรถยนต์เชิงพาณิชย์แบบ 4 และ 6 ล้ออีวีจากเราได้ ถ้าตามแผนงานอย่างเร็วก็ราว ๆ กลางปี 2567 และเรากำลังจะทำเอ็มโอยูกับบริษัทอีคอมเมิร์ซสำหรับแบรนด์ใหม่นี้ด้วย”

ด้านนายสุรพล สุประดิษฐ์ ประธานกรรมการ บริษัท อีวี ไพรมัส จำกัด กล่าวเพิ่มเติมถึงแนวโน้มของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยว่า เติบโตแบบก้าวกระโดด ทั้งนี้เป็นเพราะนโยบายการสนับสนุนการเข้าถึงรถยนต์ไฟฟ้าของรัฐบาลที่เริ่มตั้งแต่ปีที่แล้ว รวมถึงการลงทุนของค่ายรถยนต์ไฟฟ้าจากจีนหลายค่าย ทำให้ประชาชนมั่นใจและเลือกใช้รถอีวีมากขึ้น สิ่งที่จะตามมาคือ Supply Chain ของรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย