โรงงานบางชันขู่เรียกค่าปรับทาทา เบรกไลน์ผลิต “ซีนอน-ซูเปอร์เอซ” หันนำเข้า

“พีเอ็นเอ กรุ๊ป” จ้องเรียกค่าเสียหายจากทาทา หลังประกาศยุติไลน์ผลิตใน ปท. เลิกใช้โรงงานบางชันฯ ย้ำสัญญาระบุจ้างผลิตปีละ 1,200 คัน ด้านทาทายันแผนรุกตลาดยังเหมือนเดิม ทั้งเซอร์วิสและงานขายอยู่ครบ โปรดักต์ใหม่เน้นซีบียูจากอินเดีย

แหล่งข่าวระดับบริหารกลุ่มพระนครยนตรการ หรือพีเอ็นเอ กรุ๊ป (PNA) เปิดเผย”ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กระแสข่าวรถยนต์ทาทายุติไลน์การผลิตในเมืองไทยหันไปใช้วิธีนำเข้าแทน ตามที่นายพี บาลาจี ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน (ซีเอฟโอ) ของกลุ่มบริษัท ทาทา มอเตอร์ส ประเทศอินเดีย ประกาศนั้นมีสัญญาณมาระยะหนึ่งแล้วหลังจากช่วงกลางปี 2560 ที่ผ่านมา บริษัททาทา มอเตอร์ ได้เจรจาใช้โรงงานบางชันเยนเนอเรลเอเซมบลี ประกอบรถยนต์ทาทา ซีนอน ซึ่งได้มีการทดลองประกอบ แต่เป็นจำนวนไม่มากนัก เช่นเดียวกับก่อนหน้านี้ ผู้บริหารทาทามีแผนจะขึ้นไลน์ประกอบรถยนต์ทาทา ซูเปอร์เอซ มินต์ ที่โรงงานแห่งนี้ ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2561 ที่ผ่านมา แต่ปรากฏว่าขณะนี้ยังไม่ได้ดำเนินการแต่อย่างใด

“เรามีข้อตกลงร่วมกันผลิตปีละ 1,200 คัน นี่ผ่านมาเกือบ12 เดือนเพิ่งประกอบไปได้เพียง 100-200 คันเท่านั้นยิ่งช่วงหลังผลิตน้อยลงอย่างเห็นได้ชัดช่วงย้ายจากโรงงานธนบุรีฯ มาอยู่โรงงานบางชันฯ ทาทาประกาศว่าใช้เงินกว่า 500 ล้านบาท”

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า หากทาทาตัดสินใจไม่ประกอบรถยนต์ที่โรงงานบางชันฯ ทาทาต้องรับผิดชอบค่าขนย้ายอุปกรณ์ซึ่งคิดเป็นมูลค่ามหาศาล รวมทั้งจะต้องมีการจ่ายค่าเช่าพื้นที่ของโรงงานให้กับทางพีเอ็นเอกรุ๊ปด้วย ซึ่งรายละเอียดคงต้องไปว่ากันอีกที

สำหรับโรงงานประกอบรถยนต์บางชันเยนเนอเรลเอเซมบลี ปัจจุบันผลิตรถยนต์ 2 ยี่ห้อ คือ ทาทาจากอินเดีย และโฟตอนจากจีน

แหล่งข่าวจากบริษัท ทาทา มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ”ว่า การดำเนินธุรกิจของทาทา ในประเทศไทย ยังเหมือนเดิมทุกอย่างโดยในปีที่ผ่านมา ทาทามียอดขายประมาณ1,200 คัน ส่วนขณะนี้การดำเนินงานทุกอย่างยังเป็นไปตามแผนงาน ปัจจุบันยังคงมีโชว์รูมและศูนย์บริการ 39 แห่งทั่วประเทศ

สำหรับทาทาเข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 โดย “ดิ อิโคโนมิกส์ ไทม์ส อินเดีย” รายงานตัวเลขขาดทุนในไทยปีที่แล้ว ราว 1,700 ล้านรูปี หรือคิดเป็นราว 800 ล้านบาทไทย แต่อย่างไรก็ตาม ทาทาจะยังคงทำตลาดรถบรรทุกขนาดเล็กในไทยและประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อไป โดยใช้วิธีส่งออกจากอินเดียแทน พร้อมยืนยันว่าตลาดไทยยังมีความสำคัญต่อบริษัทอยู่มาก เพียงแต่การยุติการผลิตนั้นจำเป็นต้องทำเพื่อเอาตัวรอด