“รถจีน-ญี่ปุ่น” ถล่ม ไฮบริด-อีวี กระตุกกำลังซื้อโลว์ซีซั่น

MG VS HEV

ค่ายรถยนต์รับมือโลว์ซีซั่น ตบเท้าส่งทั้งโมเดลใหม่-ไมเนอร์เชนจ์ กระทุ้งกำลังซื้อ คาดเวที “บิ๊ก มอเตอร์เซล” เดือด โตโยต้าส่ง “รีโว่-ฟอร์จูนเนอร์” รุ่นฉลอง 60 ปี ลั่น 9 ต.ค.ดีเดย์ “ยาริส เอทีฟโมเดลเชนจ์” ฮอนด้าหลังปูพรมไฮบริด ได้เวลาปลุกตลาดบี-เอสยูวีอีกครั้ง ค่ายจีนยกพลทั้งอีวี-ไฮบริด เสริมทัพ แบรนด์ใหม่ “บีวายดี” บาย “พรประภา” พร้อมกระหึ่ม ด้านสภาอุตฯจับตาปัจจัยเสี่ยงครึ่งปีหลัง

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานสถานการณ์ตลาดรถยนต์ในช่วงครึ่งปีหลังว่า แม้จะเริ่มเข้าสู่ช่วงโลว์ซีซั่น แต่ผู้ประกอบการกลับคึกคักกันเต็มที่ โดยเฉพาะการตบเท้าส่งรถโมเดลใหม่เอี่ยมและรุ่นปรับโฉม (ไมเนอร์เชนจ์) ลงตลาด ประกอบกับสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย ปัญหาเซมิคอนดักเตอร์และซัพพลายอื่น ๆ เริ่มเบาบาง

โตโยต้าลั่นปีนี้โตทะลุ 15%

นายโนริอากิ ยามาชิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า ยอดขายรถยนต์โดยรวมในช่วง 6 เดือนแรกเพิ่มขึ้น 14.5% มียอดขาย 427,303 คัน ส่วนทั้งปีมั่นใจว่าจะทะลุ 880,000 คัน หรือโตราว ๆ 16% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ ช่วงครึ่งปีหลังโตโยต้าพร้อมส่งโปรดักต์ใหม่ลงตลาดอีกหลายรุ่น

ผู้สื่อข่าวรถรุ่นใหม่ของโตโยต้า อาทิ ยาริส เอทีฟ นิวโมเดล ซึ่งจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 9 ส.ค.นี้ โดยแนะนำเป็นเครื่องยนต์ เบนซิน ขนาด 1.0 ลิตร ส่วนใครที่รอลุ้นรุ่นไฮบริด ซึ่งจะใช้เครื่องยนต์เบนซิน 1.5 ลิตร ผสมมอเตอร์ไฟฟ้า มีแนวโน้มว่าอาจจะต้องรอปีหน้า นอกจากนี้ยังได้ส่งรถรุ่นปรับปรุงใหม่ของฟอร์จูนเนอร์และรีโว่ออกสู่ตลาดเพิ่มเติม หลังจากได้แนะนำรุ่นพิเศษเพื่อฉลองในโอกาสครบ 60 ปี โตโยต้า ประเทศไทย ทั้งยาริส เอทีฟ, อัลติส, คัมรี่, ครอส, ฟอร์จูนเนอร์ และรีโว่ ออกสู่ตลาดด้วย ด้วยจำนวนจำกัดเพียง 6,000 คันเท่านั้น

ไฮบริดตบเท้าลงตลาด

ค่ายฮอนด้าหลังจากส่ง ซีวิค ไฮบริด ออกสู่ตลาดเมื่อช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ในวันที่ 19 สิงหาคม ในงานบิ๊ก มอเตอร์เซล ซึ่งเป็นอีเวนต์ขายรถกระตุ้นตลาดในช่วงโลว์ซีซั่น ฮอนด้าเตรียมเปิดตัว ฮอนด้า BR-V อย่างเป็นทางการ ราคาไม่น่าเกิน 930,000 บาท ซึ่งน่าจะทำให้ตลาดรถยนต์กลุ่มนี้มีความคึกคักไม่น้อย เพราะก่อนหน้านี้ นิสสันได้ปรับใหญ่ให้กับ “คิกส์ อีเพาเวอร์” โดยเพิ่มขนาดแบตเตอรี่พร้อมทั้งกดราคาขายลงมา 150,000-190,000 บาท

ขณะที่ค่ายเอ็มจี เตรียมสร้างเซอร์ไพรส์กับ MG VS HEV ไฮบริดที่ตั้งใจเอามาแทรกกลางระหว่างรุ่น ZS และรุ่น HS เพิ่มทางเลือกกับลูกค้า โดยจะมีการเปิดราคาอย่างเป็นทางการในวันที่ 8 ส.ค.นี้ โดยคาดว่าราคาขายไม่น่าเกินล้านบาท มาพร้อมขุมพลังเบนซิน 4 สูบ 1.5 ลิตร 16 วาล์ว VTi-TECH พร้อมมอเตอร์ไฟฟ้า 177 แรงม้า ทำงานร่วมกับเกียร์อัตโนมัติแบบ E-CVT ใช้แบตเตอรี่ Lithium-Ion มีระบบช่วยชาร์จพลังงานกลับสู่แบตเตอรี่ (Kinetic Energy Recovery System) 3 ระดับ ระบบความปลอดภัยมาตรฐานยุโรป ถึง 12 ระบบ และระบบปฏิบัติการอัจฉริยะ i-SMART ที่เป็นเอกลักษณ์ของเอ็มจี เพื่อเชื่อมต่อทุกไลฟ์สไตล์ในยุคดิจิทัล

BYD จัดใหญ่ทั้งอีวี-ไฮบริด

อีกแบรนด์ที่กำลังตกเป็นเป้าสายตา ได้แก่ แบรนด์ BYD (Build Your Dream) โดยกลุ่มพรประภา เตรียมเปิดบริษัท เร-เว่ ออโตโมทีฟ จำกัด ในวันที่ 8 ส.ค.นี้ หลังจากได้รับความไว้วางใจจากบริษัท บีวายดี ออโต้ อินดัสทรี จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่สัญชาติจีน ให้เป็นผู้จัดจำหน่ายและให้บริการหลังการขายสำหรับกลุ่มรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ซึ่งมีรายงานว่า BYD พร้อมเปิดตัวหลากหลายรุ่น อาทิ BYD TANG, BYD SONG และที่จะทำตลาดโมเดลแรกบ้านเรา ได้แก่ BYD Dolphin

ขณะที่ค่ายเนต้า มีแผนจะเปิดตัวบริษัทพร้อมทั้งรถยนต์ไฟฟ้าเนต้าวี ในวันที่ 24 ส.ค.นี้ หลังจากได้เข้าร่วมโครงการสนับสนุนรถอีวีกับรัฐบาลไทย และจะเซ็นเอ็มโอยูกับกรมสรรพสามิตภายในเดือนสิงหาคมนี้ โดยเนต้าจะจ้างบริษัท อรุณพลัส ประกอบภายในประเทศ

ด้านนายพิทยา ธนาดำรงศักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อีวี ไพรมัส จำกัด ผู้จัดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าแบบมัลติแบรนด์อย่าง แบรนด์ DFSK หรือ DONGFENG และ SERES แต่ผู้เดียวในประเทศไทย ก็มีแผนเปิดอีวีแบรนด์ใหม่ ได้แก่ VOLT ในเซ็กเมนต์ City EV เป็นครั้งแรกอย่างเป็นทางการในประเทศไทย ในวันที่ 4 ส.ค.นี้

ส.อ.ท.กังวลปัจจัยเสี่ยงครึ่งปีหลัง

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทางกลุ่มอยู่ระหว่างการพิจารณาทบทวนตัวเลขเป้าหมายการส่งออกในปี 2565 จากที่ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 1 ล้านคัน เพราะตัวเลขดังกล่าวประเมินก่อนที่จะเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน กระทบต่อราคาพลังงาน ประกอบกับภาพรวมสถานการณ์การส่งออกในครึ่งปีแรกลดลง 11% ในเชิงปริมาณ ส่วนในเชิงมูลค่าลดลง 6.3% เป็นผลต่อเนื่องมาจากปัญหาการขาดแคลนชิปที่ใช้ในการผลิตและประกอบยานยนต์ยังไม่คลี่คลาย และล่าสุดตลาดส่งออกเมียนมาก็ประสบปัญหาการเมืองภายในประเทศ ทำให้ตัวเลขหายไป 2,000-3,000 คัน ทั้งนี้ ตัวเลขเป้าหมายใหม่คาดว่าจะใกล้เคียงกับปีก่อน 9.59 แสนคัน จะสรุปในช่วงกลางเดือนสิงหาคมนี้

สำหรับตลาดส่งออกยานยนต์ในปีนี้ ตลาดหลักอันดับ 1 กลายมาเป็นตลาดเอเชียนับตั้งแต่ปีก่อน มีสัดส่วนคิดเป็น 30% เบียดคู่คี่มากับตลาดออสเตรเลีย ซึ่งเป็นตลาดอันดับ 2 สัดส่วนใกล้เคียงกัน แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าปีนี้ ตลาดตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นตลาดอันดับ 3 ปรับตัวดีขึ้นมากมาเป็น 25% จากที่ย้อนไปในอดีตก่อนมีปัญหาวิกฤตพลังงานเคยมีสัดส่วนถึง 26% แล้วก็ปรับลดลงเรื่อย ๆ จนถึง 10-12% และพลิกมาดีขึ้นอย่างมากในปีนี้ โดยเฉพาะตลาดซาอุดีอาระเบีย ซึ่งคาดว่าจะเป็นผลมาจากกำลังซื้อกลุ่มนี้ดีขึ้น หลังจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น

“ขณะที่ตลาดในประเทศช่วงครึ่งปีแรกปรับตัวเติบโตดีขึ้น 4.58% สวนทางกับตลาดส่งออกที่หดตัว 11% แต่อย่างไรก็ตาม ตลาดในประเทศช่วงครึ่งปีหลังยังต้องจับตาปัจจัยที่จะกระทบกำลังซื้อ โดยเฉพาะการปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อลดปัญหาเงินเฟ้อ ส่วนเป้าหมายการผลิตที่ 1.8 แสนคัน เป็นการส่งออกตามเป้าหมายที่วางไว้ 1 ล้านคัน ที่เหลือเป็นการขายภายในประเทศ 8 แสนคัน จากปีก่อนที่ขายในประเทศ 7.59 แสนคัน หากปัญหาขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ลดลง”