นิสสัน ลีฟ ไม่ว่าจะสูงแค่ไหนก็ไปถึง

Nissan Leaf

คอลัมน์ เทสต์ คาร์ โดย วุฒิณี ทับทอง

ถือเป็นการชิงไหวชิงพริบในเชิงการทำตลาดสำหรับรถยนต์อีวี หรือรถยนต์ไฟฟ้าในบ้านเราที่วันนี้มี 2 ค่ายรถยนต์ผู้เล่นหลัก หันมาสนับสนุนและทำตลาดของรถยนต์อีวีอย่างจริงจังในระดับโลก นิสสันถือเป็นเจ้าตลาดรถยนต์ประเภทนี้ ด้วยยอดขายสูงสุดในโลกกับ นิสสัน ลีฟ

ส่วนบ้านเรา นิสสัน ไทยแลนด์ ปักธงวางโพซิชั่นให้ตัวเองเป็นผู้นำการตลาดรถยนต์ประเภทนี้เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะการเดินหน้าให้ความรู้สร้างความเข้าใจในเรื่องของระบบ รวมทั้งผลิตภัณฑ์ เพื่อหวังให้คนไทยได้ใช้รถอีวีให้แจ่มแจ้ง

ส่วนยอดขายนั้น นิสสัน ลีฟ ดูจะยังไม่เปรี้ยงปร้างเท่าที่ควร เมื่อเทียบกับอีกค่ายที่เเนะนำรถอีวีออกสู่ตลาดไปในเชิงตัวเลขการตอบรับ และจำนวนรถที่วิ่งบนท้องถนนนั้นบ่อยตากว่า

ทีมผู้บริหารนิสสันเองยอมรับความตั้งใจในการทำตลาดจะมุ่งเน้นเชิงคุณภาพ สร้างความรู้และความเข้าใจในผลิตภัณฑ์ นิสสันจะเดินหน้าสร้างดีมานด์คุณภาพให้เกิดขึ้น

ส่วนตลาดหลักที่นิสสันตั้งใจเดินหน้าสร้างให้กับ นิสสัน ลีฟคือ กลุ่มตลาดฟลีต หรือลูกค้าองค์กร หน่วยงานราชการเป็นเป้าหมายแรก ส่วนผู้ใช้ทั่วไป นิสสันก็ไม่ได้มองข้าม

Advertisment

ดังนั้น เพื่อปักธงให้เห็นสมรรถนะของรถอีวีคันนี้ นิสสันเลือกจัดทริปทดสอบโดยเลือกเส้นทางขึ้นสู่ยอดเขาที่สูงสุดในสยาม ยอดดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่

งานนี้ “ชยภัค ลายสุวรรณ” ผู้จัดการทั่วไปแผนกสื่อสารผลิตภัณฑ์ นิสสัน มอเตอร์ ประเทศไทย ยอมรับว่า จุดเริ่มต้นของทริปนี้คือการที่นิสสันฟังเสียงของลูกค้าเสมอ จากจุดเริ่มต้นของการเข้าไปอ่านคอมเมนต์ลูกค้า ผู้ที่สนใจรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งพบว่าส่วนใหญ่หลายคนยังมีความกังวล และคาใจในเรื่องของอัตราเร่ง พละกำลังการขับเคลื่อนของมอเตอร์ว่าจะเพียงพอไหมในการใช้งานจริง

Advertisment

ไม่รอช้า นิสสันจัดทริปทดสอบอีกครั้ง จากจุดสตาร์ต อ.หางดง ขบวนรถนิสสัน ลีฟมุ่งหน้าสู่ยอดอินทนนท์ รวมระยะทางไปกลับ 200 กิโลเมตร

จับจองที่นั่งในฐานะผู้โดยสาร ทันทีที่ผู้นั่งในตำแหน่งคนขับเอื้อมมือไปกดสวิตช์ การทำงานของมอเตอร์แสดงความพร้อมที่หน้าปัดเสียงเงียบกริบ

ช่วงจาก อ.หางดงนั้น การจราจรค่อนข้างหนาตา ไม่สามารถทำความเร็วได้มากนัก จนกระทั่งออกนอกเขตเมือง พี่คนขับมีจังหวะกดแป้นเรียกความเร็ว การทำงานของมอเตอร์ตอบสนองทันที ยิ่งจังหวะที่มุดซ้ายขึ้นขวา นิสสัน ลีฟ ทำได้อย่างคล่องตัว ช่วงล่างเงียบกริบ

ที่ห้องโดยสารด้านหลังไม่ได้มีเเรงเหวี่ยงแรงกระแทกเท่าไรนัก ความเร็วช่วงวิ่งไปแตะ 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง บางช่วงที่ต้องไต่ระดับความสูงแอบลุ้นว่า พละกำลังของรถคันนี้จะเพียงพอหรือ

สรุปว่าไม่ต้องลุ้นให้เหนื่อย นิสสัน ลีฟ คันนี้ไต่ระดับความสูงขึ้นไปจนอยู่ที่ยอดดอยอินทนนท์ได้แบบสบาย ๆ

ส่วนความกว้างขวางภายในห้องโดยสารของรถคันนี้มีให้พอประมาณ ช่วงขากลับ ทางลงเขา ก่อนเดินทาง แอบมองเปอร์เซ็นต์พลังงานไฟฟ้าที่เหลือให้วิ่งลงมาได้อยู่ที่ 18% ลีฟสามารถวิ่งได้อีกระยะทาง 30 กม. ดังนั้นต้องพยายามเรียกพลังงานกลับมาให้ได้มากที่สุด

เส้นทางจากจุดนี้ไปถึงตีนดอยประมาณ 35 กม. ทีมงานนิสสันมั่นใจว่าอย่างไรเสีย นิสสัน ลีฟ จะพาเรากลับมายังจุดหมายปลายทางได้ เพราะรถคันนี้สามารถใช้กำลังไฟฟ้ากลับมาสะสมในแบตเตอรี่ ที่จะถูกชาร์จกลับไปจนสามารถขับถึงจุดหมายปลายทางระยะทางรวม 100 กม. ได้อย่างแน่นอน

โดยเฉพาะทางลงเขาลาดชันยาว ๆ ทั้งตัวเลขเปอร์เซ็นต์ และระยะทางที่วิ่งได้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงทางราบกำลังไฟถูกเรียกออกมาใช้งานมากกว่าชาร์จระยะทางยังเหลืออีกประมาณ 60 กม. เหลือบตามองหน้าจอแจ้งว่าวิ่งได้อีก 85 กม.

จนท้ายสุดถึงจุดหมายที่ปลายทาง เหลือระยะทางขับต่อไปได้อีก 20 กิโลเมตร นับรวมระยะทางที่ขับไปอยู่ที่ 205.9 กม. แบตเตอรี่เหลือ 4% ขณะที่ก่อนออกเดินทาง ชาร์จไฟเต็ม 100% ระยะแจ้งว่าสามารถขับได้ระยะทาง 297 กม.

ถือเป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ที่เเสดงให้เห็นว่ารถยนต์ไฟฟ้าคันนี้สามารถไปได้ทุกที่ ด้วยพลังขับเคลื่อนเหลือเฟือ เพียงเเต่เราต้องคำนวณพลังงานและระยะทางของการใช้งานให้ชัดเจน หรือพูดชัด ๆ คือต้องวางแผนการเดินทางให้ดี แล้วรถคันนี้ (จะ) น่าใช้ยิ่งขึ้น