นิสสัน คิกส์ อี-เพาเวอร์ รถ (อีวี) พลังดี…มั่นใจไปได้ทุกที่

รีวิว ทดลองขับจริง นิสสัน คิกส์
เทสต์ คาร์ วุฒิณี ทับทอง

นิสสันตั้งความหวังกับรถยนต์คิกส์ อี-เพาเวอร์ไว้ เรียกว่ามากโข… จากคำบอกเล่าถึงแผนงานและความตั้งใจ หลังจากเปิดตัวรถรุ่นนี้ไปเมื่อช่วงเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด

ล่าสุด “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสร่วมทริปทดสอบรถรุ่นนี้เมื่อสัปดาห์ก่อน ซึ่งนำทีมโดยนายใหญ่ ค่ายนิสสัน ไทยแลนด์ “ราเมช นาราสิมัน” ที่บอกเล่าถึงความตั้งใจของนิสสันว่า “ตั้งความหวังไว้พอสมควร และยังมุ่งมั่นจะเดินหน้าสร้างแบรนด์ให้มีความแข็งแกร่ง ได้รับการยอมรับจากลูกค้าชาวไทยอย่างต่อเนื่อง”

ทริปทดสอบ คิกส์ อี-เพาเวอร์ เป็นเส้นทางออนโรด ขับกันแบบชิลจากย่านสาทรมุ่งหน้าสู่ อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ก่อนไปสิ้นสุดที่ตัวเมืองกาญจน์

ทดสอบ รถอีวี นิสสัน

เพื่อให้เราได้สัมผัสประสบการณ์กับรถคันนี้บนสภาพเส้นทางและภูมิประเทศที่หลากหลาย นิสสันได้ใส่ความอัจฉริยะเข้ามาในรุ่นนี้ ทั้ง “การควบคุมความเร็วอัตโนมัติ” โดยรถจะสามารถชะลอความเร็วตามความเร็วของรถคันหน้า และยังรักษาระยะห่างได้ตามค่าที่เรากำหนดไว้

“ระบบช่วยเตือนก่อนการชน” ซึ่งรถจะมีการส่งเสียงพร้อมสัญลักษณ์เตือนหากพบว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุจากการชนด้านหน้า “เบรกฉุกเฉินอัจฉริยะ” ซึ่งจะทำงานร่วมกับระบบช่วยเตือนก่อนการชน ฯลฯ เรียกว่านิสสันใส่เทคโนโลยีเข้ามาในรถคันนี้แบบไม่มียั้ง

CarPlay นิสสัน

ส่วนเรื่องความแตกต่างของระบบการขับเคลื่อนของเทคโนโลยีอี-เพาเวอร์กับเครื่องยนต์ธรรมดา, เครื่องยนต์ไฮบริดหรือพลังงานอีวีนั้นมีความแตกต่างอย่างไร เริ่มจากเทคโนโลยีอี-เพาเวอร์ของนิสสันนั้น หากจะสรุปให้พอเข้าใจได้ง่าย ๆ คือ เครื่องยนต์ ขนาด 1.2 ลิตร 12 วาล์ว 3 สูบ เป็นคล้าย ๆ ตัวปั่นไฟ ส่วนพลังงานในการขับเคลื่อน คือ มอเตอร์ไฟฟ้า ที่ถูกส่งผ่านจากเครื่องยนต์ปั่นไฟ สร้างประจุไปเก็บไว้ในแบตเตอรี่

สำหรับมอเตอร์ไฟฟ้าเป็นแบบ EM57 ให้กำลังสูงสุด 129 แรงม้า (PS) มีแรงบิดสูงสุด 260 นิวตันเมตร (Nm) ใช้แบตเตอรี่ลิเทียมไอออนขนาด 1.57 กิโลวัตต์-ชั่วโมง (kWh) มีจำนวน 4 โมดูล

มอเตอร์ไฟฟ้าขนาดใหญ่ทำให้การเติมความเร็วเป็นไปอย่างราบรื่น การขับขี่เงียบและประหยัดน้ำมันสุด ๆ เพราะเครื่องยนต์ทำหน้าที่แค่สร้างพลังงาน (ไฟฟ้า) เท่านั้น

ภายในห้องโดยสาร

โดยส่วนตัวแล้วถือว่าเทคโนโลยีอี-เพาเวอร์ดี เพราะอย่างน้อย ๆ ก็สามารถเข้ามาช่วยตอบโจทย์คนที่ต้องการใช้รถยนต์อีวี

แต่ยังมีความกังวลว่าพลังงานไฟฟ้าจะหมดระหว่างการใช้งาน เปรียบเทียบก็คล้าย ๆ กับรถปลั๊ก-อิน ไฮบริดที่ใช้ทั้งไฟฟ้าและน้ำมัน เพียงแต่เราต้องจอดเพื่อชาร์จไฟฟ้าเข้าไป

แต่สำหรับอี-เพาเวอร์ไม่ต้องจอดชาร์จไฟฟ้าให้ยุ่งยาก เพราะเรามีเครื่องปั่นไฟฟ้าไปกับเราตลอดการเดินทาง น้ำมันที่เราเติมเข้ามาก็ใช้ในการช่วยปั่นไฟฟ้านั่นเอง ไม่ได้ยุ่งยากหรือซับซ้อน

นิสสัน คิกส์ อี-เพาเวอร์ที่เรามาทดสอบครั้งนี้เป็นรุ่นท็อป รุ่น VL ตั้งแต่กระจังหน้าแบบ V-motion ไฟหน้าและไฟท้ายทรงบูมเมอแรง ซุ้มล้อสีดำ สีทูโทน หลังคาดำ ช่วยทำให้รถคันนี้มีความสปอร์ตมากขึ้น

ขนาดรถ นิสสัน คิกส์ อี-เพาเวอร์

เมื่อเข้ามาภายในห้องโดยสาร ตกแต่งด้วยโทนสีทูโทน ซึ่งโดยส่วนตัวยังขัดใจกับการให้สีของนิสสันที่นำสีส้มตัดกับสีดำ ซึ่งยังดูขาด ๆ เกิน ๆ ไม่สวย…หากปรับการใช้โทนสีน่าจะดูดีขึ้น หรือใช้โทนสีดำไปเลยก็น่าจะเหมาะสมกว่า

ส่วนอุปกรณ์อำนวยความสะดวกในรถคันนี้ครบครัน พวงมาลัยสปอร์ตทรง D-shape แบบมัลติฟังก์ชั่น ควบคุมระบบการทำงานของเครื่องเสียงและระบบเชื่อมต่ออื่น ๆ ได้ง่าย

ส่วนของเกียร์ขนาดเล็ก ลักษณะคล้ายจอยสติ๊กขนาดเล็ก สั่งการง่ายเพียงผลักเบา ๆ ลงมาด้านล่าง สั่งการเกียร์ D เพี่อให้รถขับเคลื่อน

ทดสอบ นิสสัน คิกส์

เลือกโหมดการขับขี่เพียงกดปุ่ม driver mode เลือกการขับขี่ได้ถึง 4 โหมด

normal mode การขับขี่ในแบบปกติจะให้อัตราเร่งความเร็ว และการหยุดรถที่ดีเยี่ยม เทียบเท่ากับการหยุดของรถที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในทั่ว ๆ ไป

S (smart) mode เมื่อต้องการเพิ่มสมรรถนะในการขับเคลื่อนและตอบสนองอัตราเร่งให้ดียิ่งขึ้น, ECO mode ปรับการทำงานของระบบอี-เพาเวอร์ ลดการใช้พลังงานที่สิ้นเปลืองลง ทำให้เครื่องยนต์และระบบมีการใช้เชื้อเพลิง
และพลังงานไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดและ EV mode ซึ่งเมื่อพลังงานเพียงพอก็สามารถปรับเปลี่ยนให้รถขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าที่เหลือภายในแบตเตอรี่ โดยเครื่องยนต์จะไม่ทำงานจนกระทั่งแบตเตอรี่อยู่ในระดับต่ำ
สัมผัสถึงความเงียบและอีกขั้นของความประหยัด

รีวิว ทดลองขับจริง นิสสันคิกส์

ทัศนวิสัยของนิสสัน คิกส์คันนี้ถือว่าจัดวางตำแหน่งที่นั่งได้ค่อนข้างลงตัว มองผ่านกระจกหน้าไปได้ชัดเจน

ความคล่องตัวและความแม่นยำของพวงมาลัย นิสสันทำออกมาได้ค่อนข้างดี แต่มีบางจังหวะที่เราวิ่งไปด้วยความเร็วสูง กลับมีความรู้สึกว่าน้ำหนักของพวงมาลัย “เบา” ไป และตัวรถค่อนข้างเบา แต่ไม่ถึงกับ “หวิว”

จังหวะการออกตัวและกดคันเร่ง ให้ความรู้สึกของการขับรถไฟฟ้าอัตราเร่งตอบสนองทันทีไม่ต้องรอรอบเหมือนใช้เครื่องยนต์

เมื่อเข้าสู่ช่วงเส้นทางโล่ง ๆ ขอกดแป้นคันเร่ง ดูช่วงวิ่งที่ระดับความเร็ว 90-120 ถือว่ารถตอบสนองค่อนข้างดี
แต่เมื่อเค้นคันเร่งลงไประดับมากกว่านั้น กลับรู้สึกว่ามอเตอร์และเรียกความเร็วนั้นอาจจะต้องรอ และรถมีความ
เครียดเล็กน้อย

ปุ่มสตาร์ทรถไฟฟ้า

คันเร่งอัจฉริยะวัน-เพดัล (one-pedal) ที่เข้ามาทำงานในโหมดนี้ และ ecomode ช่วยทำให้รถคันนี้มีความสนุก หากจะชะลอความเร็วเพียงแค่ยกเท้าออกจากคันเร่ง รถและระบบทำงานร่วมกัน

ระบบวัน-เพดัลจะเข้ามาจับให้รถชะลอตัวไปเรื่อย ๆ จนถึงหยุดสนิท (ถ้าเราต้องการ) หรือเมื่อเราต้องการเพิ่มความเร็วก็เเตะไปที่คันเร่งเบา ๆ ตรงนี้ “ชอบมาก” เพราะเราไม่ต้องเสียเวลาไปแตะเบรกในบางจังหวะ

แต่ในจังหวะที่จะเข้าจอดแบบเข้าซองการทำงานของเจ้าวัน-เพดัลที่มาช่วยจังหวะที่เราชะลอเข้าที่จอด บางคราวก็มีหัวทิ่มหัวตำกันไปบ้าง

ขับขึ้นเขา

ตลอดเส้นทางของการขับขี่มีทั้งขับผ่านเขตเมือง นอกเมือง ขึ้นเขา นิสสัน คิกส์ อี-เพาเวอร์ ช่วยสร้างความเพลิดเพลินที่หลังพวงมาลัย โดยเฉพาะช่วงล่างที่เนียนกริบ เผลอแผล็บเดียวเรามาถึงที่หมายรวมระยะทางกว่า 300 กิโลเมตร

ถือเป็นอีกรุ่นที่อยากให้ไปลอง…แล้วคุณ (อาจ) จะหลงรักเทคโนโลยีอี-เพาเวอร์ ยิ่งนิสสันได้เพิ่มความอุ่นใจด้วยการรับประกันแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนสูงสุด 10 ปี หรือ 200,000 กม.

ระบบไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้ารับประกัน 5 ปี หรือ 100,000 กม.กับราคาค่าตัวในรุ่นเริ่มต้น 889,000 บาท ส่วนรุ่นท็อป รุ่น VL ราคา 1.049 ล้านบาท

น่าสนใจทั้งคู่