“ตื่น ฟื้น ฝัน และทำ”

ดันส่งออก
คอลัมน์ : สามัญสำนึก
ผู้เขียน : ดิษนีย์ นาคเจริญ

ในเวทีเสวนา “ไทยรัฐฟอรัม 2022-ตื่นฟื้นฝัน” เชิญกูรูเศรษฐกิจแถวหน้าของเมืองไทยมาแลกเปลี่ยนความเห็น และร่วมกันคิดต่อหาทางออกเศรษฐกิจ และประเทศไทยว่าอะไรคือสิ่งที่จะขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้าได้ ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจโลก และโรค (โควิด) ที่แม้จะคลี่คลายแล้ว แต่ก็ทิ้งบาดแผลไว้ไม่ใช่น้อย

ผู้ร่วมเสวนาบนเวทีเห็นตรงกันว่าประเทศไทยมีปัญหาเรื้อรังที่จำเป็นต้องเร่งแก้ไขโดยเฉพาะเรื่องความเหลื่อมล้ำ

“บรรยง พงษ์พานิช” ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจการเงิน เกียรตินาคินภัทร บอกว่า ประเทศไทยเจริญช้า เพราะ “รัฐ” ใหญ่เกินไป ทั้งในแง่ขนาด และบทบาท จึงต้องลด “ขนาด” ลด “บทบาท” กระจายอำนาจ และ “ทรัพยากร”

“รัฐยุ่งทุกเรื่อง พวกเราเองมีปัญหาอะไรก็อยากให้รัฐแก้ เป็นสังคมอุปถัมภ์ เป็นปัญหาที่อยู่ในทัศนคติที่ฝังลึก ขณะที่รัฐมีอำนาจมาก มี กม.แสนกว่าฉบับที่ประชาชนต้องปฏิบัติตาม มีใบอนุญาตกว่า 5 พันชนิด ประเทศอื่นมีแค่ 300 ก็พอแล้ว”

ข้อเสนอ คือต้อง “กระจาย อย่ากระจุก” แต่จะพลิกฟื้นประเทศไม่ง่าย ต้องอดทน เข้าใจปัญหา และวางรากฐานระยะยาว มีกฎ กติกา ที่เกิดประโยชน์ต่อคนในสังคมอย่างทั่วถึง ไม่กระจุกอยู่เฉพาะกลุ่ม โดยผลักดันให้ทุกภาคส่วนมาช่วยกันปฏิรูปประเทศ

“บรรยง” ย้ำว่า ในยามวิกฤต หนีไม่พ้น “รัฐ “ ต้องแทรกแซง แต่จะต้องแทรกแซงอย่างฉลาด และชั่วคราวเท่านั้น

“เศรษฐา ทวีสิน” ประธานอำนวยการ และคณะกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) มองว่า ปัญหาของประเทศในปัจจุบันเป็นเรื่องของปากท้อง และความเหลื่อมล้ำ ยิ่งมีโควิด ยิ่งชัด ตั้งแต่การเข้าถึงวัคซีน ระบบสาธารณสุข ไปจนถึงการเข้าถึงการเรียนที่บ้าน ซึ่งต้องแก้ไข

“ก่อนอยากเห็นประเทศไทยในอีก 5 ปีข้างหน้าแบบไหน ต้องโฟกัสปัจจุบันควบคู่ไปกับการยอมรับความจริงก่อนว่า ปัญหาปากท้อง คือสิ่งที่ต้องเร่งแก้ ทั้งค่าครองชีพ ค่าเชื้อเพลิง ไปจนถึงการปรับขึ้นดอกเบี้ย”

ถึงเวลาที่ต้องลงมือทำสิ่งที่ถูกต้อง แม้อาจไม่ถูกใจคนบางกลุ่ม โดยใช้เครื่องมือทางการคลังอย่างระบบภาษีมาช่วยลดความเหลื่อมล้ำ เช่น ภาษีความมั่งคั่ง ภาษีมรดก หรือภาษีหุ้น เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศ

“พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล บอกว่า สังคมไทยตื่นขึ้นมาใกล้เคียงกันแล้ว ในแง่ที่ว่าต้องการความเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่มีโควิด คนเริ่มเข้าใจคำว่า รัฐสวัสดิการ การกระจุกตัวของเศรษฐกิจ งบประมาณต่าง ๆ ต้องการ move on อยากเห็นกติกาใหม่ ๆ

“ตัวเลขจีดีพีเป็นตัวชี้วัดที่อาจไม่มีค่าอะไร หากสังคมยังเหลื่อมล้ำ ทั้งทางรายได้ ทรัพย์สิน และการเข้าถึงทรัพยากร”

ในมุมของ ม.ล.ชโยทิต กฤดากร ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ผู้แทนการค้าไทย มองว่าไทยอยู่ในวิกฤตโลก ทั้งเศรษฐกิจ สงคราม และโควิด ในแง่จีดีพีอาจฟื้นตัวสู้ประเทศเพื่อนบ้านไม่ได้ แต่มีศักยภาพมหาศาล มีโอกาสจากอุตสาหกรรมใหม่ ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และด้านดิจิทัล

จากนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ล่าสุดได้ อเมซอน เว็บ เซอร์วิส เข้ามาลงทุน 15 ปี 1.9 แสนล้านบาท

“AWS ไม่ได้ลอยมาเอง แต่ต้องไปแข่งไปแย่งประเทศเพื่อนบ้าน ขณะที่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ต้องแข่งกับเวียดนามที่ค่าแรงถูกกว่า จึงต้องดึงอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูงที่เกี่ยวข้องกับหุ่นยนต์เข้ามา”

ด้านการท่องเที่ยวมีการออกวีซ่าให้ผู้ที่เข้ามาพำนักระยะยาว 10 ปี ถ้าทำได้ตามเป้า 1 ล้านคนจะมีเงินเข้าประเทศอีก 1.7 ล้านล้านบาท

เรื่องพลังงาน ถ้าเทียบเป็นกระต่ายกับเต่า “ไทย” นำหน้าเป็น “กระต่าย” ของอาเซียน เรื่องการใช้พลังงานสะอาด

“สิ่งที่ผมพูดไม่ใช่เรื่องเพ้อฝันว่าเขาจะมา แต่มาแล้ว หากทำสำเร็จจะได้ถึง 10% ของจีดีพี ที่เป็นการจัมป์สตาร์ตประเทศไทย ส่วนเรื่องความเหลื่อมล้ำที่คงต้องฝากนายกรัฐมนตรีในอนาคต”

พร้อมกับทิ้งท้ายว่า “การทำมากกว่าพูด เป็นสิ่งที่ประเทศไทยต้องทำจริง ๆ ที่ผ่านมา เราพูดมากกว่าทำ”