ฟื้นใจเมืองรอง ครีเอทีฟ อีโคโนมี

ฟื้นใจเมือง
คอลัมน์ : สามัญสำนึก
ผู้เขียน : สมถวิล ลีลาสุวัฒน์

หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ หรือ บพท. ที่สนับสนุนทุนวิจัยงานมหกรรม “ฟื้นใจเมือง” ด้วยคีย์ซักเซส “เศรษฐกิจสร้างสรรค์ บนฐานทุนทางวัฒนธรรมชุมชน” ถือเป็นมหกรรมอันทรงคุณค่า

ในการใช้ฐานทุนวัฒนธรรมท้องถิ่นพัฒนาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และเพิ่มคุณภาพชีวิตให้แก่คนในพื้นที่

การจัดมหกรรมในลักษณะนี้กำลังขยายวงกว้างและสร้างการรับรู้มากขึ้นเรื่อย ๆ ในหลายจังหวัด ประจวบเหมาะกับธุรกิจท่องเที่ยวของประเทศไทยกำลังดีดตัวกลับ คือ ตลาดเริ่มเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด

นับเป็นโอกาสของ “เมืองรอง” ที่จะได้ลืมตาอ้าปาก เพราะประเทศไทยไม่ได้มีแค่เชียงใหม่ หาดใหญ่ ภูเก็ต

อย่างก่อนหน้านี้ ฐิติรัตน์ คำพา รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ก็ใช้พื้นที่ศาลเจ้าฉื่อปุยเนี้ยว-ขอเล่งเนี้ยว ที่อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี เปิดงานมหกรรมฟื้นใจเมืองด้วยเศรษฐกิจสร้างสรรค์บนฐานทุนทางวัฒนธรรมชุมชน

หมุดหมายสำคัญเพื่อช่วยยกระดับชุมชนและทุนวัฒนธรรมดั้งเดิมเอาไว้ และยึดพนัสนิคมให้เป็นต้นแบบให้กับพื้นที่อื่น ๆ ในการร่วมกันสืบสานความรู้ภูมิปัญญาของผู้คน ทั้งช่วยฟื้นฟูย่านเก่าแก่ให้มีชีวิตชีวาอยู่คู่กับประเทศต่อไปนาน ๆ

คุณค่าวัฒนธรรมเดิมเป็นมรดกสำคัญที่สะท้อนวิถีชีวิตของชาวพนัสนิคมที่มีความหลากหลายของสังคมพหุวัฒนธรรม สมควรจะได้รับการฟื้นฟูและสนับสนุนเผยแพร่ให้กับประชาชนได้รับรู้มากยิ่งขึ้น ไม่เพียงแต่เป็นที่รู้จักกันแค่เพียงแต่ในพื้นที่เท่านั้น

แต่เป็นโครงการสำคัญที่ทุกคนจะได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาและฟื้นฟูย่านของตนเองให้เป็นที่รู้จักและกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งหนึ่ง เป็นการนำเสนอย่านของตนเองสู่ระดับประเทศ หรือแม้กระทั่งในระดับโลกต่อไป

มหกรรมฟื้นใจเมือง ณ พนัสนิคม จังหวัดชลบุรี ถือเป็นพื้นที่นำร่องในการจัดมหกรรมการพัฒนาในเชิงวัฒนธรรมทั้งหมด 53 พื้นที่ ที่ทำเป็นรูปธรรมแล้ว 18 พื้นที่ โดยสามารถสร้างผู้ประกอบการเชิงวัฒนธรรมไปแล้วจำนวนหนึ่งประมาณ 6,000 ราย ที่สร้างผลิตภัณฑ์และบริการเชิงวัฒนธรรมที่สะท้อนถึงเอกลักษณ์ท้องถิ่นจนสำเร็จ

จะว่าไปเราจะเห็นการจัดกิจกรรมเปิดพื้นที่ทางวัฒนธรรมนับเป็นร้อย ๆ ครั้ง เหมือนเปิดงานในรูปแบบเดิม ๆ รวม ๆ 757 ครั้ง ซึ่งจะมีความต่างก็ตรงตัวพื้นที่และเอกลักษณ์ของทำเลนั้น ๆ

งานที่พนัสนิคมก็เช่นกันที่พัฒนาพื้นที่ด้วยการนำเสนอทุนทางวัฒนธรรมดั้งเดิมผ่านอีเวนต์หลายรูปแบบที่สะท้อนวิถีชีวิต ประเพณี และวัฒนธรรมของชาวพนัสนิคมได้เป็นอย่างดี

จุดเด่นคือ “ดงดอกจักสาน” งานศิลปกรรมขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ใจกกลางภายในงาน แนวคิดการสร้างผลงานชิ้นนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากการนำงานจักสาน ซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นดั้งเดิมของพนัสนิคม มาประยุกต์และพัฒนาต่อยอดให้มีความร่วมสมัยมากขึ้น ถือเป็นจุดไฮไลต์ของงาน นอกเหนือจากซุ้มหน้ากากเอ็งกอ งานศิลปะร่วมสมัยที่คนมางานชอบมาถ่ายรูปเป็นที่ระลึก

หน้ากากเอ็งกอ
หน้ากากเอ็งกอ

ซึ่งโชว์พิเศษจากคณะเอ็งกอพนัสนิคม ศิลปะการแสดงของชาวจีนที่ได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในพนัสนิคมมาร่วม 100 ปี กินลมชมหนังกลางแปลง เกี่ยวกับวัฒนธรรมชุมชนของเมืองพนัสฯ การละเล่นทายโจ๊ก และพื้นบ้านเก่าแก่ของเมืองนี้

ที่ศิลปินแห่งชาติมาร่วมบรรเลงเพลงของวงออร์เคสตราด้วย ทั้ง อาจารย์สุกรี เจริญสุข และ ศาสตราจารย์ปรีชา เถาทอง มาร่วมวาดภาพ อาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ มาร่วมขับกลอน และ คุณธนิสร์ ศรีกลิ่นดี มาเป่าขลุ่ยให้ฟัง ซึ่งถือเป็นเกียรติกับคนท้องถิ่นมากถึงมากที่สุด ไม่รวมการเขียนหน้าลายเอ็งกอ และการฝึกทำงานจักสาน

โครงการวิจัยโดยมหาวิทยาลัยศิลปากรก็นำเสนอเมืองพนัสนิคม ชลบุรี จัดทำซุ้มพนัสเด็ดเจ็ดย่าน 7 ซุ้มด้วย แต่ละซุ้มก็เสนอของเด็ดที่ต่างกันออกไปในแต่ละมิติ อาทิ หอพระพนัส งานจักสาน ร้านของฝาก ร้านอาหารสุดเด็ด กิจกรรมฝึกทักษะทำตุ๊กตาเอ็งกอ และที่พักผ่อนหย่อนใจ เพื่อแนะนำให้เป็นจุดเช็กอินในโลกโซเชียล