ศิษย์วังบางขุนพรหม “ไม่ทน” นโยบายหาเสียง

ธาริษา วัฒนเกส-ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ-ดร.วิรไท สันติประภพ
ธาริษา วัฒนเกส-ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ-ดร.วิรไท สันติประภพ
คอลัมน์ : สามัญสำนึก
ผู้เขียน : สุดใจ ชาญชาตรีรัตน์

นับถอยหลัง เข้าสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้ง 14 พ.ค. 2566 แคมเปญหาเสียงก็ยิ่งดุเดือดมากขึ้น

แบบเกทับ ทั้งรัฐสวัสดิการ แจกเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ เรียกว่าต้องใช้เงินมหาศาล แถมนโยบายจำนวนมากก็อาจไม่ช่วยแก้ปัญหา ทั้งจะสร้างปัญหาให้ประเทศในระยะยาว

กระทั่งบรรดาเทคโนแครตออกมาส่งเสียงเตือน โดยเฉพาะ 2 อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แห่งวังบางขุนพรหม และผู้ว่าการแบงก์ชาติคนปัจจุบันที่ส่งสัญญาณอันตราย จากนโยบายหาเสียงที่เสี่ยงจะกระทบต่อเสถียรภาพหลาย ๆ ด้านของประเทศ

เริ่มจาก นางธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่า ธปท. เขียนเรื่อง “ภาระการคลังของการแจกเงิน” โดยพุ่งเป้าไปที่นโยบายแจกเงิน 10,000 บาท ของพรรคเพื่อไทย ที่แจกให้กับประชาชนอายุ 16 ปีขึ้นไปทุกคน โดยตั้งคำถามว่า จะเอาค่าใช้จ่ายส่วนนี้มาจากไหน ซึ่งมาตรการเดียวต้องใช้เงินกว่า 5 แสนล้านบาท

และจัดหนักว่า “แจกเงิน” เพื่อหวังกระตุ้นเศรษฐกิจ ถือเป็นนโยบายไร้ความรับผิดชอบ สร้างหนี้ ทำประชาชนขาดวินัย ไม่มีผลในการสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจในระยะยาว

ขณะที่ ดร.วิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการ ธปท. อีกท่านออกมาแสดงความคิดเห็นว่า ยังไม่เห็นข้อเสนอนโยบายเศรษฐกิจของพรรคการเมือง จะเห็นแต่มาตรการประเภทสัญญาว่าจะให้เพื่อเอาใจฐานเสียงกลุ่มต่าง ๆ มากกว่าที่จะบอกถึงเป้าหมายเศรษฐกิจไทย และจะทำอย่างไรให้เกิดผลได้จริง

ทั้งเสนอว่า การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจจะต้องให้ความสำคัญกับคำสามคำ คือ productivity (ผลิตภาพ) immunity (การสร้างภูมิคุ้มกัน) และ inclusivity (การกระจายผลประโยชน์อย่างทั่วถึง) เพราะทั้งสามเรื่องถือเป็นปัญหาใหญ่ของระบบเศรษฐกิจไทย ที่มีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้น

ดร.วิรไทสะท้อนว่า “ต้องเลิกทำนโยบายประเภทสัญญาว่าจะให้แบบเหวี่ยงแห โดยเฉพาะพวกนโยบายที่ใช้งบประมาณแบบปลายเปิด จนควบคุมได้ยาก หรือนโยบายที่ทำให้ประชาชนเสพติดเงินอุดหนุนรูปแบบต่าง ๆ”

ในทางตรงกันข้าม ต้องเร่งทำนโยบายเพิ่มศักยภาพการจัดหารายได้ของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูประบบภาษี การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ และการหารายได้จากทรัพย์สินของรัฐบาล โดยเฉพาะที่ดินของรัฐ และสัมปทานต่าง ๆ เพราะรายจ่ายสวัสดิการของรัฐมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามโครงสร้างสังคมสูงอายุ

อดีตผู้ว่าการแบงก์ชาติระบุว่า เรื่อง inclusivity สำคัญมาก เพราะปัญหาความเหลื่อมล้ำในระบบเศรษฐกิจไทยสูงขึ้นเรื่อย ๆ ปัญหาคนจนข้ามรุ่นจะเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทย

ขณะที่ธุรกิจขนาดใหญ่ของไทยเข้มแข็งมากขึ้น ความสามารถทำกำไรสูง แต่ SMEs แหล่งจ้างงานใหญ่ของประเทศมีแนวโน้ม “ฝ่อลง”

และโจทย์สำคัญพบว่า ต้นทุนทำธุรกิจของ SMEs สูงกว่าต้นทุนของธุรกิจใหญ่ เพราะกฎเกณฑ์หลายเรื่อง กำหนดมาตรฐานไว้สูง จนทำให้กลายเป็นการกีดกันผู้ประกอบการรายใหม่ โดยเฉพาะ SMEs

นี่คือโจทย์ประเทศไทย ที่อดีตผู้ว่าการ ธปท.ที่ชื่อ ดร.วิรไท ฝากถึงพรรคการเมืองและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีทั้งหลาย

และอีกเสียงจากวังบางขุนพรหม ก็คือ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท. ให้สัมภาษณ์ถึงความเป็นห่วงนโยบายหาเสียงที่จะส่งผลต่อฐานะการคลังของประเทศว่า บริบทเศรษฐกิจไทยตอนนี้เรื่อง “เสถียรภาพ” สำคัญมากกว่า “กระตุ้นเศรษฐกิจ” เพราะแม้เศรษฐกิจจะฟื้นช้าแต่ก็ฟื้น

นโยบายที่สำคัญกว่ากระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น คือการเสริมสร้างศักยภาพเศรษฐกิจระยะยาว โครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อให้เศรษฐกิจไปได้ในอนาคต

เพราะนโยบายกระตุ้นระยะสั้น จะได้ผลชั่วคราวในแง่ตัวเลข แต่มีผลข้างเคียง เช่น หนี้สิน ตามมา และยังมีค่าเสียโอกาสของงบประมาณที่มีจำกัด

ผู้ว่าธปท.ยืนยันว่า รัฐบาลไม่ควรดำเนินนโยบายแบบ “ทอดแห” เพราะทำให้เงินไม่ไปในจุดที่ควรไป เช่น บางนโยบายที่คนรวยอาจจะได้ด้วย การช่วยเหลือควรเป็นนโยบายแบบ targeted เฉพาะกลุ่มเปราะบาง ทั้งย้ำว่า นโยบายอะไรที่มาบั่นทอน “เสถียรภาพ” เป็นความเสี่ยงที่จะนำไปสู่วิกฤตได้

นี่คือการส่งสัญญาณเตือนจากคนวังบางขุนพรหม