จ่ายค่าตำแหน่ง สำคัญยังไง ?

คอลัมน์ : SD Talk
ผู้เขียน : ธำรงศักดิ์ คงคาสวัสดิ์
https://tamrongsakk.blogspot.com

มีคำถามว่า…เดิมบริษัทจ่ายค่าตำแหน่งให้กับพนักงาน แต่เมื่อบริษัทย้ายพนักงานออกจากตำแหน่งเดิมไปดำรงตำแหน่งใหม่ที่สำคัญ แต่ไม่มีค่าตำแหน่ง บริษัทจะไม่จ่ายค่าตำแหน่งได้ไหม ?

ถามแล้วก็บอกต่อว่า…แต่พอแจ้งพนักงานว่าตำแหน่งใหม่ที่ย้ายไปไม่มีค่าตำแหน่ง พนักงานก็ไม่อยากจะย้าย บริษัทควรทำไงดี ?

ผมจึงถามกลับไปว่า…แล้วระเบียบเรื่องค่าตำแหน่งของบริษัทเขียนไว้ว่ายังไงล่ะครับ ?

คำตอบคือ “ไม่มีระเบียบนี้ค่ะ”

เรื่องทำนองนี้ยังพบเห็นได้เสมอในหลายบริษัทที่ไม่มีการเขียนระเบียบหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน แล้วก็ใช้วิธีปฏิบัติแบบบอกเล่าปากต่อปากต่อ ๆ กันมา พอเกิดปัญหาขึ้นก็ใช้ดุลพินิจของผู้บริหารคือใช้ “หลักกู” แทนที่จะใช้ “หลักเกณฑ์” ก็เลยกลายเป็นแก้ปัญหา แล้วสร้างปัญหาใหม่ขึ้นมาอีก

ปกติแล้วบริษัทควรมี “ระเบียบด้านการบริหารงานบุคคล” ในเรื่องต่าง ๆ ไว้เป็นหลักเกณฑ์อ้างอิง เช่น ระเบียบการว่าจ้าง, ระเบียบการเลื่อนตำแหน่ง, ระเบียบการจ่ายสวัสดิการประเภทต่าง ๆ ของบริษัท, ระเบียบการเบิกจ่ายค่าพาหนะ, ระเบียบค่าน้ำมัน, ระเบียบการเบิกจ่ายค่าล่วงเวลา ฯลฯ ซึ่งระเบียบการจ่ายค่าตำแหน่งนี้ถือว่าเป็นหนึ่งเรื่องในระเบียบการบริหารงานบุคคลครับ

ซึ่งระเบียบการด้านการบริหารงานบุคคลต้องแจ้งให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้น ๆ ในบริษัทได้รับทราบ จะได้ยึดถือเป็นแนวปฏิบัติด้วยความเข้าใจที่ตรงกัน และจะได้เกิดแรงงานสัมพันธ์ที่ดีในองค์กร

แต่ถ้าบริษัทไหนไม่มีระเบียบหลักเกณฑ์ด้านการบริหารงานบุคคลที่ชัดเจนอย่างที่ผมเล่ามานี้ คงจะต้องใช้ “หลักกู” กันต่อไปแหละ

กรณีปัญหาข้างต้นก็เช่นเดียวกัน บริษัทควรมองทั้งกระดานเลยครับว่าตำแหน่งไหนที่มีความสำคัญมีค่างาน (job value) ที่เหมาะสมจะได้รับค่าตำแหน่งบ้าง ซึ่งการที่เราจะรู้ได้ว่าตำแหน่งไหนมีค่างานมากน้อยแค่ไหน หรือตำแหน่งไหนสำคัญมาก หรือน้อยกว่าตำแหน่งไหนควรจะต้องมีการประเมินค่างาน (job evaluation) ให้ชัดเจนเสียก่อน แล้วค่อยนำข้อมูลอ้างอิงจากตลาดแข่งขันมาพิจารณาว่าค่าตำแหน่งในแต่ละตำแหน่งควรจะจ่ายเท่าไหร่ดี

เมื่อทำอย่างนี้แล้ว เราจะรู้ว่าตำแหน่งเดิมที่พนักงานครองอยู่ควรจะได้รับค่าตำแหน่งเท่าไหร่ และตำแหน่งใหม่ที่พนักงานจะย้ายไปนั้นมีความสำคัญ (หรือมีค่างาน) ที่มากพอจะได้รับค่าตำแหน่งหรือไม่

ถ้าตำแหน่งใหม่สำคัญมากพอ บริษัทจะจ่ายค่าตำแหน่งให้เท่าไหร่ หรือถ้าตำแหน่งใหม่ที่พนักงานจะถูกย้ายไปยังไม่สำคัญพอที่จะได้รับค่าตำแหน่ง บริษัทจะไม่จ่ายค่าตำแหน่งให้

หลังจากนั้น ก็มาทำระเบียบการจ่ายค่าตำแหน่ง โดยระบุหลักเกณฑ์ให้ชัดเจนว่าบริษัทจะจ่ายค่าตำแหน่งให้กับตำแหน่งใดบ้าง และสงวนสิทธิ์เอาไว้ว่าเมื่อบริษัทย้ายพนักงานออกจากตำแหน่งที่มีค่าตำแหน่งไปปฏิบัติงานในตำแหน่งที่ไม่มีค่าตำแหน่ง บริษัทก็จะไม่จ่ายค่าตำแหน่งให้

เมื่อบริษัทย้าย หรือเลื่อนตำแหน่งพนักงานไปปฏิบัติงานในตำแหน่งที่มีค่าตำแหน่ง ก็ให้พนักงานอ่านระเบียบหลักเกณฑ์ดังกล่าว (HR ต้องพร้อมชี้แจงอธิบายหากพนักงานมีข้อสงสัย) แล้วให้พนักงานเซ็นรับทราบหลักเกณฑ์นี้ บริษัทก็ปฏิบัติตามระเบียบนี้ด้วย

ทั้งหมดที่เล่ามาคงจะตอบคำถามข้างต้นได้แล้ว และหวังว่า HR ของแต่ละบริษัทควรจะต้องมีระเบียบการบริหารงานบุคคลให้ครอบคลุมในแต่ละเรื่องที่ชัดเจน เพื่อแจ้งให้พนักงานเข้าใจตรงกันจะได้ลดปัญหาการใช้ “หลักกู” ลงนะครับ