สร้างวัฒนธรรม “อยากรู้ (อยากเห็น)” ในองค์กร

คอลัมน์ : SD Talk
ผู้เขียน : พิชญ์พจี สายเชื้อ

วันนี้อ่าน Harvard Business Review เรื่อง Curiosity Culture ว่าเป็นการสร้างวัฒนธรรมพื้นฐานเพื่อนำไปสู่การสร้าง innovation culture คิดว่าน่าสนใจน่าจะนำมาเล่าต่อ เริ่มจากภาษาอังกฤษว่า curiosity culture คือการสร้างวัฒนธรรม ที่มีแต่ความอยากรู้อยากเห็น ซึ่งเป็นสิ่งดี ที่เป็นรากฐานในการเกิดการเปิดรับ หรือ open culture ในองค์กรจะเป็น ที่พนักงานจะสร้าง critical skills ต่าง ๆ ได้อย่างการตัดสินใจ การบริหารความขัดแย้ง การสร้างความผูกพันในองค์กร

ที่สำคัญสุดคือการสร้าง innovation culture ก่อนคุยเรื่อง เคล็ดลับในการสร้าง มาคุยถึงผลการวิจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องนิดนึงค่ะ 1) ผลการสำรวจโดย Harvard Business Review พบว่า พนักงานมากกว่า 70% จากพนักงาน 3,000 คน บอกว่าพวกเขามีอุปสรรคทุกครั้งที่ถามคำถาม (ด้วยความอยากรู้จริง ๆ)

ทั้ง ๆ ที่การถามคำถามเป็นการทำให้เราเกิดปัญญา แต่เพื่อนร่วมงานไม่เข้าใจ และ (อาจจะ) ไม่พอใจ 2) นอกจากนั้นผลการศึกษาจากการทำการตลาดบอกว่า 759 บริษัท ทั่วโลกบอกว่า การสร้างนวัตกรรมมาจากวัฒนธรรม “การอยากรู้อยากเห็น” ในองค์กร

โดยในบทความให้คำแนะนำว่า มีประโยค 4 ประโยคที่เราควรใช้เป็นประจำในองค์กรเพื่อสร้างวัฒนธรรมดังกล่าว ได้แก่

1.“I don’t know” (ฉันไม่รู้) เราไม่จำเป็นต้องรู้ทุกเรื่อง บางทีผู้นำเข้าใจผิดว่าตอบว่าไม่รู้ไม่ได้ แต่ผลการวิจัยบอกว่าการที่เราพูดว่าเราไม่รู้ แสดงความจริงใจให้ทุกคนเห็นจะดีกว่ารู้ไปหมด และผู้นำแบบนี้ ลูกน้องอยากทำงานด้วยมากกว่า ผู้นำที่ไม่รู้ทุกเรื่อง ทำให้ลูกน้องรู้สึกว่าผู้นำมีความอ่อนน้อมถ่อมตัวน่าเข้าหา ไม่เกร็ง

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือหลังจากพูดว่าไม่รู้แล้ว ควรต้องมี action ตามมา เช่น เอ๊ เราจะไปหาข้อมูลจากไหนกันดี หรือใครมีความรู้เรื่องนี้มาแชร์กันบ้าง เป็นต้น เพื่อทำให้ทีมมีส่วนร่วม และช่วยแก้ไขปัญหาร่วมกันได้อย่าพูดว่าไม่รู้ อย่างเดียวนะคะ เดียวลูกน้องงง เพราะ ไม่มี solution ให้พวกเขา

2.“Tell me more !” (บอกฉัน (อีก) หน่อยสิ) จริง ๆ หลักการนี้มาจากเรื่องความรัก (ฮา) นักจิตวิทยาชื่อ “John Gottman and Julie Schwartx” ทำการศึกษาว่า เราจะสร้างความรักให้เข้มแข็งได้อย่างไร ผลที่ได้รับคือการให้ความสนใจในสิ่งที่คู่รักอีกฝ่ายพูด

ซึ่งเรื่องนี้เรานำมาปรับใช้ในการทำงานได้ค่ะ ในการทำงานเมื่อทีมงานค้นพบ หรือทำอะไรสำเร็จ เราสามารถให้ความสนใจเพิ่ม ด้วยการพูดว่า “ไหนเล่าให้ฟังหน่อยสิ” “ทำอะไรมาบ้าง” ซึ่งแน่นอนนอกจากเป็นการสร้างกำลังใจให้ทีมงานแล้ว ยังทำให้เขารู้สึกว่าตัวเขามีคุณค่า (จน) ผู้นำใส่ใจ หรือแคร์ในผลงานของเขาอีกด้วย มีแต่ข้อดีค่ะ คำพูดสั้น ๆ ของเรา ??

3.“I understand that you are more than your job” (ฉันเข้าใจว่าคุณมีเรื่องอื่น (นอกจากเรื่องงาน) อีกในชีวิต) สิ่งสำคัญสำหรับประโยคนี้คือเราต้องให้ความสนใจในเรื่องอื่นในชีวิตของลูกน้องเราด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องครอบครัว งานอดิเรก สัตว์เลี้ยง เป็นต้น

การใช้คำพูดแบบนี้ ทำให้เราเข้าใจว่าเราจะบริหารทีมงานอย่างไร จะมีอะไรมาเป็นอุปสรรคในการทำงานของเขาหรือไม่ เพราะบางทีชีวิตส่วนตัวของเขาอาจจะทำให้เขาทำงานได้ไม่ราบรื่นก็ได้ เช่น ตอนนี้เขาต้องเลี้ยงลูกที่กำลังโต ต้องให้เวลากับลูก งานก็ยุ่ง ลูกก็ต้องดู ทำไงดี มันกลายเป็น work conflict ไปได้ง่าย ๆ เลย

ผลการวิจัยบอกว่าการแก้ไขปัญหา work conflict ได้ จะช่วยให้เกิด productivity ในการทำงานที่เพิ่มขึ้นด้วยค่ะ

4.“Who Else” (มีใคร (มีความเห็น) อีกมั้ย) หมายถึงทุกคนมีสิทธิมีเสียงในการแสดงความเห็นในองค์กร ไม่ว่าบริษัทจะเล็กใหญ่ ผู้นำสามารถ สร้างวัฒนธรรม อยากรู้อยากเห็นได้ ด้วยการถามคำถามง่าย ๆ ใครอื่นมีความเห็นอีกมั้ย ใครช่วยเราได้อีกมั้ย เราถามใครได้อีกมั้ย เป็นต้น

ทั้งหมดนี้ เพื่อให้ได้รับความเห็นหลากหลายมุมมอง ซึ่งอาจนำมาซึ่งนวัตกรรมใหม่ ๆ ได้อีกด้วย ถ้าเราสามารถ สร้างวัฒนธรรมในประโยคทั้ง 4 ในองค์กรให้เป็นนิสัย หรือความเคยชินได้ จะช่วยให้ ตัวเรา ทีมเรา และองค์กรเปลี่ยนไปสู่วัฒนธรรมแห่งการอยากรู้ (อยากเห็น) (ที่ไม่ใช่การเผือก) ที่ยั่งยืน

ซึ่งเป็นการแสดงออกให้ทุกคนเข้าใจว่าความอยากรู้อยากเห็นเป็นสิ่งดี และเป็นพื้นฐานในการสร้างนวัตกรรมในองค์กรของเราด้วยค่ะ