สภาพการจ้าง สิ้นสุดด้วยวิธีใดบ้าง ?

คอลัมน์ : SD Talk
ผู้เขียน : ธำรงศักดิ์ คงคาสวัสดิ์
https://tamrongsakk.blogspot.com

เมื่อมีการเริ่มเข้าทำงาน ย่อมต้องมีวันสิ้นสุดการทำงาน วันนี้เลยขอเอามะพร้าวห้าวมาขายสวนอีกสักครั้ง ซึ่งผมเชื่อว่ายังมีคนที่ยังไม่ทราบเรื่องนี้ จะได้เข้าใจตรงกัน ส่วนท่านที่เป็นเจ้าของสวนมะพร้าวก็เลื่อนผ่าน ๆ ไปได้นะครับ

การสิ้นสุดสภาพการจ้างเกิดได้ 3 วิธีครับ

1.เมื่อนายจ้างแจ้งเลิกจ้าง : นี่จะเป็นการบอกเลิกสภาพการจ้างจากฝั่งนายจ้าง ซึ่งสามารถแจ้งเลิกจ้างได้ทั้งด้วยวาจา และลายลักษณ์อักษร (คือการทำหนังสือเลิกจ้าง) แต่ผมแนะนำให้แจ้งเลิกจ้างเป็นลายลักษณ์อักษรจะดีกว่าการแจ้งเลิกจ้างด้วยวาจา เพื่อป้องกันปัญหาวุ่นวายขายปลาช่อนที่จะตามมาในภายหลังครับ

การแจ้งเลิกจ้างจะต้องระบุเหตุผลในการเลิกจ้างเอาไว้ด้วย ถ้าไม่ระบุเหตุผลในการเลิกจ้างเอาไว้ นายจ้างจะยกเหตุผลในการเลิกจ้างมาอ้างภายหลังไม่ได้นะครับ อันนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องระวังให้ดี และจะต้องมีในหนังสือเลิกจ้าง

ถ้าจะมีคำถามว่า เมื่อนายจ้างแจ้งเลิกจ้างแล้วจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างหรือไม่ ?

ตอบได้ว่า

1.1 ถ้าลูกจ้างกระทำความผิดร้ายแรงตามมาตรา 119 นายจ้างสามารถเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยใด ๆ ทั้งสิ้น

1.2 ถ้าลูกจ้างไม่ได้กระทำความผิดร้ายแรงตามมาตรา 119 นายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยตามอายุงานให้แก่ลูกจ้างตามมาตรา 118

การเลิกจ้างแบบนี้มีสิ่งที่นายจ้างต้องระวังคือ การเลิกจ้างลูกจ้างแบบไม่เป็นธรรม ซึ่งลูกจ้างอาจไปฟ้องศาลแรงงานเรื่องถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรมได้ครับ โดยนายจ้างควรจะต้องมีพยานหลักฐานเอกสารต่าง ๆ (Document Support) ที่หนักแน่นพอที่จะทำให้ศาลแรงงาน (กรณีถูกลูกจ้างฟ้องเรื่องการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม) เชื่อได้ว่าการเลิกจ้างนั้นมีเหตุผลที่เป็นธรรม

2.เมื่อลูกจ้างยื่นใบลาออก : อันนี้จะเป็นการบอกเลิกสภาพการจ้างจากฝั่งลูกจ้างครับ เมื่อลูกจ้างระบุวันที่มีผลลาออกเอาไว้วันไหนในใบลาออก เมื่อถึงวันที่ระบุจะมีผลทันที โดยไม่ต้องให้ผู้บริหาร หรือใครมาอนุมัติแต่อย่างใดทั้งสิ้น เช่นยื่นใบลาออกวันนี้ แล้วระบุวันที่มีผลคือวันรุ่งขึ้นก็สามารถทำได้ครับ แต่ต้องถามว่าวิญญูชนคนที่มีความรับผิดชอบควรทำอย่างนี้ดีหรือไม่

บริษัทส่วนใหญ่มักจะมีระเบียบว่า พนักงานที่ประสงค์จะลาออกจะต้องยื่นใบลาออกล่วงหน้า 30 วัน ซึ่งพนักงานควรทำตามระเบียบดังกล่าว โดยคิดแบบใจเขา-ใจเรา เพราะบริษัทจะต้องหาคนมาทำงานแทนซึ่งต้องใช้เวลาในการหาคน

ในกรณีที่พนักงานไม่ยื่นใบลาออกตามระเบียบของบริษัท แล้วทำให้เกิดความเสียหายขึ้นกับบริษัท บริษัทยังมีสิทธิไปฟ้องศาลแรงงานได้ ว่าพนักงานฝ่าฝืนระเบียบดังกล่าว ทำให้บริษัทเกิดความเสียหายกี่บาทกี่สตางค์ ตรงนี้อยู่ที่ศาลท่านจะพิจารณา ว่าเห็นสมควรให้พนักงานชดใช้ความเสียหายหรือไม่ เท่าไหร่ก็ว่ากันไป

แต่บริษัทไม่มีสิทธิไปหักเงินเดือนงวดสุดท้ายสำหรับพนักงานที่ไม่ยื่นใบลาออกตามระเบียบ แล้วไปอ้างว่าทำให้บริษัทเกิดความเสียหายนะครับ เพราะทำแบบนี้คือบริษัททำผิดกฎหมายแรงงานมาตรา 76 ครับ

พูดง่าย ๆ ว่าเงินเดือนงวดสุดท้ายบริษัทต้องจ่ายไปก่อน เพราะเป็นเรื่องของค่าจ้างในการที่ลูกจ้างมาทำงานให้นายจ้างตามวันที่มาทำงานจริง ส่วนความเสียหายที่เกิดขึ้นบริษัทต้องไปฟ้องร้องเอาตามที่ผมบอกไปแล้วข้างต้นครับ

3.เมื่อสัญญาจ้างครบระยะเวลา : อันนี้จะเป็นกรณีที่บริษัททำสัญญาจ้างแบบมีระยะเวลา โดยลักษณะของงานตามสัญญาจ้างแบบมีระยะเวลานี้ จะต้องเป็นงานในโครงการเฉพาะที่มิใช่งานปกติของธุรกิจ หรือการค้าของนายจ้าง ต้องมีระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของงานที่แน่นอน หรือในงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวที่มีกำหนดการสิ้นสุด หรือความสำเร็จของงาน หรือในงานที่เป็นไปตามฤดูกาล และได้จ้างในช่วงเวลาของฤดูกาลนั้น ซึ่งงานนั้นจะต้องแล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกิน 2 ปี

เมื่อถึงวันสิ้นสุดในสัญญา ลูกจ้างไม่ต้องยื่นใบลาออก นายจ้างไม่ต้องแจ้งเลิกจ้าง (ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย เพราะไม่ใช่การเลิกจ้าง) ทั้งสองฝ่ายรับรู้เข้าใจตรงกันว่าเป็นอันจบสัญญานั้นครับ

ถึงตรงนี้เชื่อว่าคงเป็นประโยชน์กับคนที่สนใจ และมีความเข้าใจในเรื่องนี้ที่ตรงกันแล้วนะครับ