หนังสือตักเตือน

คอลัมน์ : SD TALK
ผู้เขียน : ธำรงศักดิ์ คงคาสวัสดิ์
https://tamrongsakk.blogspot.com

บริษัทแห่งหนึ่งจะออกหนังสือตักเตือนพนักงานเกี่ยวกับการขาดงานโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรหลายครั้ง โดยมีลักษณะความผิดดังนี้ครับ

ครั้งที่ 1 พนักงานขาดงานไป 1 วัน โดยไม่ได้แจ้งให้ผู้บังคับบัญชาทราบ เมื่อกลับมาทำงานวันรุ่งขึ้น ก็ตอบคำถามหัวหน้าแบบบ่ายเบี่ยงว่ามีธุระนิดหน่อย หัวหน้าก็เลยถือว่าเป็นการขาดงาน

ครั้งที่ 2 ถัดจากครั้งแรกมาไม่กี่วันก็โทร.มาขอลาป่วย 1 วัน แต่หัวหน้าไปตรวจสอบแล้วปรากฏว่าไม่ได้ป่วยจริง ไม่ได้อยู่ที่พัก

ครั้งที่ 3 หลังจากครั้งที่ 2 ก็มีพฤติกรรมเหมือนครั้งที่ 1 ซ้ำอีก

คำถามคือหัวหน้าของพนักงานคนนี้ต้องการจะออกหนังสือตักเตือนโดยรวม 3 เรื่องนี้เข้าด้วยกันได้หรือไม่ ? และควรทำยังไงดี ?

ตอบได้อย่างนี้ครับ

1.ความผิดคนละกรณีให้ทำหนังสือตักเตือนคนละใบ ไม่ควรเอาไปไว้รวมกัน จากตัวอย่างข้างต้นจะเห็นว่า ความผิดครั้งที่ 1 และ 3 เป็นเรื่องเดียวกัน โดยครั้งที่ 3 เป็นผลต่อเนื่องมาจากครั้งที่ 1 ส่วนความผิดครั้งที่ 2 แม้จะดูว่าเป็นเรื่องการขาดงาน โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร แต่เป็นการแจ้งลาป่วยเท็จ ซึ่งลักษณะความผิดแตกต่างจากครั้งที่ 1 และ 3

2.เมื่อแยกแยะประเภทความผิดได้อย่างนี้แล้ว จึงต้องแยกใบเตือนทั้ง 3 กรณี ดังนี้

2.1 เมื่อพนักงานทำความผิดครั้งที่ 1 หัวหน้าออกหนังสือตักเตือน โดยระบุเหตุผลว่าพนักงานละทิ้งหน้าที่ไป 1 วัน โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร และห้ามไม่ให้พนักงานทำความผิดอย่างนี้ซ้ำอีก ถ้าพนักงานทำความผิดอย่างนี้ซ้ำอีก บริษัทจะมีบทลงโทษยังไงก็ระบุลงไปในหนังสือตักเตือนฉบับนี้

2.2 สมมุติว่าพนักงานขาดงานโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรอย่างนี้ และบริษัทออกหนังสือตักเตือนตามข้อ 2.1 มาโดยมีการลงโทษไปตามที่แจ้งไว้แล้ว จนกระทั่งถึงครั้งนี้บริษัทระบุว่าเป็นหนังสือตักเตือนครั้งสุดท้ายที่ห้ามไม่ให้พนักงานละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุผลอันสมควรเช่นนี้อีก ถ้าพนักงานยังฝ่าฝืนทำผิดแบบนี้ซ้ำ บริษัทจะเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยใด ๆ ทั้งสิ้น

2.3 ถ้าหากพนักงานทำความผิดแบบเดียวกันนี้ซ้ำอีกในครั้งที่ 3 อย่างนี้บริษัทสามารถเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยครับ เพราะความผิดครั้งที่ 3 เป็นความผิดซ้ำคำเตือนจากครั้งที่ 1 ซึ่งบริษัทได้ออกหนังสือตักเตือนเป็นครั้งสุดท้ายเอาไว้แล้ว

2.4 ส่วนความผิดครั้งที่ 2 บริษัทต้องออกหนังสือตักเตือนอีกใบหนึ่งที่ไม่นำไปเตือนรวมกับครั้งที่ 1 เพราะความผิดครั้งที่ 2 มีสาเหตุมาจากการแจ้งลาป่วยเท็จ บริษัทจึงถือว่าเป็นการละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ซึ่งจะแตกต่างจากความผิดครั้งที่ 1 และ 3 ที่ไม่ได้มีการแจ้งลาป่วยเท็จ

2.5 หนังสือตักเตือนความผิดครั้งที่ 2 ต้องมีข้อความห้ามปรามตักเตือนไม่ให้พนักงานแจ้งลาป่วยเท็จอย่างนี้อีก ถ้าทำผิดซ้ำคำเตือนในเรื่องนี้ (คือการแจ้งลาป่วยเท็จ) บริษัทจะลงโทษยังไงก็ใส่ลงไปในหนังสือตักเตือน

2.6 ถ้าบริษัทออกหนังสือตักเตือนเป็นครั้งสุดท้ายแล้วว่าถ้าพนักงานยังฝ่าฝืนแจ้งลาป่วยเท็จซ้ำอีก บริษัทจะเลิกจ้างไม่จ่ายค่าชดเชยใด ๆ ทั้งสิ้น ก็ปฏิบัติได้ตามนั้น

2.7 ความผิดครั้งที่ 1, 2 และ 3 บริษัทออกหนังสือตักเตือนไปแล้ว ก็มีสิทธิ “ไม่จ่ายค่าจ้าง เนื่องจากพนักงานละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร” หรือ “No work no pay” ได้ กรณีนี้ไม่ใช่การหักค่าจ้าง (หรือหลายบริษัทชอบใช้คำว่าหักเงินเดือน) นะครับ เพราะเป็นไปตามหลักการจ้างงานว่า เมื่อลูกจ้างขาดงาน ไม่มาทำงานให้นายจ้าง โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร นายจ้างมีสิทธิไม่จ่ายค่าจ้างในวันที่ขาดงานนั้นได้ แต่ไม่ใช่การหักเงินเดือน (หรือหักค่าจ้าง) ครับ

จากที่เล่าข้างต้นพร้อมทั้งยกตัวอย่างประกอบมาทั้งหมดนี้ เชื่อว่าท่านจะเข้าใจเรื่องเกี่ยวกับการออกหนังสือตักเตือนได้ชัดเจนมากขึ้นแล้วนะครับ